เทคโนเวิลด์
ภายหลังจากการทดลองอย่างยาวนาน องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ประกาศยืนยัน
เซิร์นคอนเฟิร์ม ‘เพนตาควาร์ก’ มีอยู่จริง
ภายหลังจากการทดลองอย่างยาวนาน องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ประกาศยืนยันการมีอยู่จริงของอนุภาค “เพนตาควาร์ก” ซึ่งเป็นอนุภาคที่คาดว่ามีอยู่จริงมาตั้งแต่ปี 1964 โดยอนุภาคดังกล่าวเป็นอนุภาคที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยพลังนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อนุภาคดังกล่าวไม่ถือเป็นชนิดอนุภาคใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของอนุภาคและการค้นพบอนุภาคดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการค้นพบอนุภาคควาร์ก 6 ส่วนในอนาคตก็เป็นได้ ทั้งนี้ เซิร์นได้สนับสนุนเครื่องปะทะอนุภาคขนาดใหญ่ (แอลเอชซี) เครื่องเร่งอนุภาคที่มีโครงสร้างเป็นอุโมงค์วงแหวนเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8.5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ใต้ดินลึก 50-175 เมตร บริเวณพรมแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์
นศ.เอ็มไอทีออกกล้องสำรวจทรงกลม-ขว้างได้
ฟรานซิสโก อกีลาร์ และเดฟ ยัง ศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ประดิษฐ์กล้องสำรวจทรงกลมที่ภายนอกสร้างจากยางแข็งและประกอบด้วยกล้องที่มี 6 เลนส์อยู่ภายใน โดยกล้องสำรวจดังกล่าวจะมีขนาดเท่ากับลูกซอฟต์บอลและสามารถขว้างได้ เพื่อใช้ในการสำรวจในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ หลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง 7.0 ตามมาตรวัดริกเตอร์ เมื่อปี 2010 ซึ่งกล้องสำรวจไฟเบอร์ออปติกที่ทีมค้นหามีราคาแพง และไม่เหมาะกับพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ส่งผลให้นักศึกษาทั้งสองพัฒนากล้องที่มีราคาถูก 1,495 เหรียญสหรัฐ (ราว 4.7 หมื่นบาท) และยังสามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอีกด้วย
‘สโตร์ดอท’ ชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าภายใน 5 นาที
สโตร์ดอท บริษัทเกิดใหม่ในอิสราเอล ประกาศว่ากำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถชาร์จพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้าได้เต็มภายใน 5 นาที โดยในปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังต้องใช้เวลาชาร์จไฟนานหลายชั่วโมง และเป็นสาเหตุหลักที่ผู้บริโภคกังวลต่อการเลือกใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในขณะเดียวกันสโตร์ดอทจะพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจากเทคโนโลยีการชาร์จสมาร์ทโฟนภายใน 30 วินาที ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่ใช้วัตถุดิบออร์แกนิก ซึ่งเพิ่มรอบการใช้งานของแบตเตอรี่ให้อยู่ที่ 1,500-2,000 รอบ เพื่อลดอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับการชาร์จพลังงานอย่างรวดเร็วนั่นคือ อายุใช้งานของแบตเตอรี่ที่ลิเทียมภายในแบตเตอรี่มักอุณหภูมิสูงและทำลายขั้วไฟฟ้าทุกครั้งที่ชาร์จ และการชาร์จไฟอย่างรวดเร็วจะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลดลงครึ่งหนึ่ง จากปกติที่อยู่ที่ 500-600 รอบการใช้งาน จะเหลือเพียง 250-300 รอบการใช้งานเท่านั้น
ม.แคลิฟอร์เนียเปิดตัวผ้าคลุมล่องหน
มนุษย์พยายามที่จะประดิษฐ์ผ้าคลุมล่องหนมาอย่างยาวนาน โดยใช้วิธีการให้ผ้าคลุมเหล่านั้นหักเหแสงออกไป ดังนั้น วัสดุที่ใช้จึงต้องเป็นรูปทรง 3 มิติ และจำเป็นต้องกักเก็บแสงได้ อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ เปิดเผยตัวผ้าคลุมล่องหนที่สามารถหักเหทันที และมีลักษณะราบเรียบ โดยใช้สารไม่นำไฟฟ้าอย่างเทฟลอน ซึ่งมีดัชนีหักเหแสงต่ำและเซรามิก ซึ่งมีดัชนีหักเหแสงสูง โดยเมื่อนำมารวมกันแล้วจะได้วัสดุที่มีคุณสมบัติตามต้องการที่สามารถเปลี่ยนทางของแสงได้จากปกติ อย่างไรก็ตาม การสร้างผ้าคลุมด้วยวัสดุทั้งสองอย่าง ยังเป็นเพียงแค่แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เท่านั้น และกำลังพัฒนาเพื่อใช้สร้างจริงต่อไป