"อย่าคิดว่าภาษาไทยเป็นเรื่องยาก" ครูทอม คำไทย
คุยกับ"ครูทอม คำไทย"ติวเตอร์วิชาภาษาไทยชื่อดัง ในวันที่ภาษาออนไลน์กำลังสร้างปัญหาในชีวิตจริง
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
สื่อสารผิดชีวิตเปลี่ยน...
อีกหนึ่งเรื่องราวที่ถูกเเชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ สำหรับภาพบทสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การสัมภาษณ์งาน โดยทดลองให้ผู้สมัครเขียนคำว่า "รบกวนนะคะ" แต่กลับเขียนผิดเป็น "รบกวนนะค่ะ" ส่งผลให้ผู้สมัครงานรายนั้นไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ด้วยเหตุผลว่า "มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร"
เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า พื้นฐานในการใช้ภาษานั้นสำคัญและส่งผลกระทบขนาดไหน
"จักรกฤต โยมพยอม" หรือ "ครูทอม คำไทย" ติวเตอร์วิชาภาษาไทยชื่อดัง เจ้าของแอคเคาท์ทวิตเตอร์ @TUTOR_TOM และเฟซบุ๊ค www.facebook.com/tom.jakkriz ที่มีผู้ติดตามนับแสน จะมาตอบคำถามที่ว่าภาษาออนไลน์กำลังเป็นปัญหาในชีวิตจริงหรือไม่
คิดว่าการมาถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่งผลต่อการใช้ภาษาไทยไหม
โดยส่วนตัวคิดว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โลกออนไลน์ แต่อยู่ที่"ผู้ใช้สื่อออนไลน์" ถ้าทุกคนตระหนักว่าภาษาคือเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญ ก็ควรจะต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ปัญหาก็จะไม่เกิด โลกออนไลน์มันอยู่ของมันเฉย ๆ ทำหน้าที่เป็นสื่อให้ทุกคนได้มาสนทนา ได้มาโพสต์ข้อความต่างๆ และข้อความต่างๆที่มีผู้โพสต์ลงในสื่อออนไลน์นั้นเองก็มีทั้งคนที่ใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมกับคนที่ใช้ภาษาได้ไม่ถูกต้อง ซึ่งโดยธรรมชาติของสื่อออนไลน์จะแพร่กระจายไปได้ง่ายกว่าสื่ออื่น ๆ พอมีคนเห็นเยอะ ๆ เขาก็จะคุ้นเคยกับสิ่งนั้น อย่างคำบางคำที่เมื่อก่อนเราไม่ใช้กัน เช่น บ่องตง จุงเบย พอมีคนเอามาใช้กันในโลกออนไลน์ ก็ปรากฏว่าแพร่ไปไวมาก คนแห่มาใช้กันเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคนใช้คำเหล่านี้น้อยลงพอสมควร เพราะคำประเภทนี้มันก็จะมีอายุการใช้งานของมัน หมายถึงว่ามันจะเป็นที่นิยมแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เดี๋ยวก็จะมีคำใหม่ๆเกิดขึ้นมาให้เราใช้กันอีก ถือเป็นธรรมชาติของทุกภาษาบนโลกอยู่แล้ว
แล้วประเด็นที่คนรุ่นใหม่ชอบประดิษฐ์คำใหม่ หรือดัดแปลง ตัดทอน เล่นกับคำมากไปจนทำให้ภาษาผิดเพี้ยน ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลรึเปล่า
การดัดแปลงคำ หรือการตัดคำให้สั้นลง ไม่ได้มีอยู่แค่ในโลกออนไลน์ แต่นี่คือกระบวนการการทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของภาษาอยู่แล้ว เหมือนกับที่มีปรากฏในแบบเรียนภาษาไทยมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเรื่องการกร่อนเสียง เช่น “มะม่วง” กร่อนเสียงมาจาก “หมากม่วง” “ยังไง” กลมกลืนเสียงมาจาก “อย่างไร” “ศิลป์” ตัดเสียงมาจาก “ศิลปะ” เป็นต้น
ส่วนการเล่นกับตัวอักษรให้สนุกเพื่อการสนทนา จริงๆแล้วถือว่ามันทำหน้าที่แตกต่างจากคำที่ถูกต้องตามแบบแผนนะครับ เช่นคำว่า “นะครัช” บางคนก็พูดทำนองสงสัยว่ามันแปลว่าอะไร ไอ้คำว่านะครัชเนี่ย คือผมอยากจะถามกลับเหลือเกินครับว่าไม่รู้จริงๆ เหรอครับว่า นะครัช แปลว่าอะไร พี่แปลไม่ออกจริง ๆเหรอครับ พี่ตีความไม่ได้เหรอครับ ผมว่าถ้าทุกคนรู้อยู่แล้วแหละครับว่ามันแปลว่า “นะครับ” แต่ถ้าเราลองคิดให้ดี คำว่า “นะครับ” กับ “นะครัช” มันต่างกันอยู่นะครับ ตรงที่ว่า “นะครับ” จะเป็นทางการ แต่ถ้าใช้ว่า “นะครัช” ปั๊บ ความเป็นทางการก็จะลดลง นี่แสดงให้เห็นเลยว่า “นะครัช” มันก็มีหน้าที่ของมัน และทำหน้าที่ของมันได้ดีเสียด้วย เพราะถ้าใครพูดว่า “นะครัช” เราก็จะรู้เลยว่าเขาจะหมายถึง “นะครับ” แบบไม่เป็นทางการ ดังนั้น ถ้าในโลกออนไลน์หรือสื่อใดๆก็ตามจะตัดคำให้สั้นลง ดัดแปลงคำ หรือสรรหาคำใหม่มาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย ตราบใดที่ผู้ที่สื่อสารด้วยกันในโลกออนไลน์นั้นเข้าใจความหมาย
นอกจากนั้นแล้วผู้ใช้ภาษายังต้องคำนึงเรื่องกาลเทศะด้วย ต้องแยกให้ออกว่าเมื่อไหร่ต้องใช้ภาษาให้เป็นทางการ เมื่อไหรใช้ภาษาแบบไม่เป็นทางการได้ เช่น ถ้าต้องติดต่อกิจธุระ หรือเขียนข้อสอบส่งอาจารย์ ก็ต้องใช้ภาษาที่ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ถ้าจะคุยในแชตก็เอาที่สบายใจได้เลยครับ (หัวเราะ)
อย่างกรณีล่าสุดที่มีผู้สมัครงานใช้คำว่า "คะ/ค่ะ" จนไม่ได้รับเลือกเข้าทำงาน ด้วยเหตุผลว่ามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
บทสนทนาดังกล่าวเป็นการสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนสนิทเองครับ (หัวเราะ) ผมว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ที่ทางบริษัทไม่รับเข้าทำงานเป็นเพราะบริษัทนี้คงเจอมาแล้วหลายครั้งว่า เวลาใช้ภาษาผิดๆมันส่งผลเสียอย่างไรบ้าง อย่างที่บอกว่าเราใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ถ้าใช้ภาษาได้ผิดๆถูกๆ ก็อาจจะส่งผลเสียต่อการสื่อได้ อย่างกรณีของคะ-ค่ะ บางครั้งถ้าใช้ผิดก็ความหมายเปลี่ยนได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้านายพิมพ์ข้อความมาสั่งให้ลูกน้องเอาเอกสารไปให้เซ็น ดังนี้
เจ้านาย: เดี๋ยวเอาเอกสารมาให้ผมเซ็นหน่อยนะ
ลูกน้อง: ค่ะ
แบบนี้ก็จะแปลว่าลูกน้องรับทราบ และเดี๋ยวจะเอาเอกสารไปให้เซ็นตามที่เจ้านายขอ
กับอีกสถานการณ์
เจ้านาย: เดี๋ยวเอาเอกสารมาให้ผมเซ็นหน่อยนะ
ลูกน้อง: คะ
แบบนี้แปลว่าลูกน้องถามซ้ำ เนื่องจากไม่เข้าใจคำสั่ง หรืออาจจะตีความได้ว่าลูกน้องไม่เข้าใจว่าเอกสารอะไร
คำว่าคะกับค่ะ นี่ออกเสียงต่างกันนะ บางคนก็จะหงุดหงิดมากเวลาต้องอ่านข้อความที่ใช้คำว่าคะ-ค่ะผิดๆถูกๆ อย่างผมเองก็เป็น เวลามีอีเมลติดต่องานที่ใช้คะ-ค่ะผิดๆมานี่ทำให้ความอยากรีบตอบอีเมลลดลงไปประมาณ 75% เลย (หัวเราะ) นอกจากนี้ กรณีนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่ามีคนไทยอีกจำนวนมากที่ผันวรรณยุกต์ไม่เป็น ก็สะท้อนไปเรื่องระบบการศึกษาวิชาภาษาไทยระดับประถมด้วยว่า ครูสอนภาษาไทยก็ควรจะเข้มงวดมากขึ้นเรื่องการผันวรรณยุกต์ เพราะมันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ภาษาไทย แต่ก็เคยมีครูภาษาไทยโรงเรียนหนึ่งส่งอีเมลมาติดต่องานกับผมแล้วใช้คะ-ค่ะผิด ๆ ถูก ๆ ผมนี่รู้สึกตะเตือนไตมากๆ เลยครับ (หัวเราะ)
เพราะอะไรเราถึงพบเห็นคนออกเสียงผิดหรือเขียนไม่ตรงกับที่ออกเสียงอยู่เป็นประจำ
เรื่องการออกเสียงเป็นเรื่องความคุ้นเคยครับ ทำไมเราถึงพูดภาษาไทยได้คล่อง ก็เพราะเราเรียนรู้ภาษาไทยมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำไมชาวญี่ปุ่นพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่อง ก็เพราะเขาเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำไมคนอังกฤษพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ก็เพราะเขาเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก นั่นแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราได้ยินได้ฟังการออกเสียงแบบไหนบ่อย ๆ เราก็จะคุ้นเคยและจะเกิดกระบวนการเลียนแบบคือออกเสียงตามที่เราได้ยิน ถ้าเราได้ยินได้เห็นแบบที่ผิดๆ เราก็จะออกเสียงหรือเขียนแบบผิดๆตามไปด้วย
การที่บางคนอ่านออกเสียงภาษาไทยไม่คล่อง เช่น อ่านออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ถูก ก็เป็นเพราะอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝึกฝนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง หรือบางคนอ่าน “สุ้ม” ซึ่งเป็นเสียงวรรณยุกต์โท ว่า “ซุ้ม” ซึ่งเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี ถ้าได้ฝึกฝนบ่อยๆเข้าก็สามารถพัฒนาได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคำในภาษาไทยนะครับ ที่ออกเสียงไม่ตรงกับรูปเขียนแล้วจะถือว่าผิด บางคำในภาษาไทยก็ออกเสียงสระไม่ตรงกับรูป เช่น คำว่า “เก่ง” รูปสระที่เราเห็น คือสระเอเป็นเสียงยาว แต่เวลาเราออกเสียง “เก่ง” เราจะออกเสียงเป็นสระเอะ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น
ทักษะพื้นฐานเรื่องการใช้ภาษาไทยสำคัญมีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของเรา
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของภาษาคือ เรื่องการสื่อสาร ถ้าเราใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสม การสื่อสารก็จะมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของเรา ขณะเดียวกันถ้าเราใช้ภาษาได้ไม่เหมาะสม การสื่อสารของเราก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน การใช้ภาษาที่ดีนั้น ต้องดีทั้ง “คำ” และ “ความ” หมายความว่า ต้องเลือกใช้คำให้ถูกต้อง เหมาะสมกับบริบท สะกดได้ถูกต้อง และใจความก็ต้องชัดเจน ไม่กำกวม เพียงเท่านี้การสื่อสารของเราก็จะมีประสิทธิภาพ
เคยได้ยินครูทอมบอกว่าสื่อมวลชนต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ภาษา
อย่างที่บอกไปครับว่า แต่ละคนจะใช้ภาษาเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความคุ้นเคย ถ้าคุ้ยเคยกับการใช้ภาษาแบบไหน เราก็จะใช้ภาษาเช่นนั้น สื่อมวลชนคือผู้ที่ต้องใช้ภาษาโดยตรงอยู่แล้ว ถ้าสื่อมวลชนใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมก็จะทำให้ผู้รับสารได้เห็น ได้ยินการใช้ภาษาที่ถูกต้องไปด้วย เมื่อได้รับสารเช่นนี้บ่อยๆเข้าก็จะคุ้นเคยและทำให้ใช้ภาษาได้ถูกต้องนั่นเองครับ เช่นเดียวกัน ถ้าใครเห็นหรือได้ยินการใช้ภาษาที่ผิดบ่อยๆ ก็จะคุ้นเคยและทำให้ใช้ผิดตามไปด้วย
ผมเคยเจอคนส่งข้อความมาถามในทวิตเตอร์ว่า “ปลื้มปริ่ม” กับ “ปลื้มปลิ่ม” แบบไหนถูกกันแน่ ผมก็ตอบไปว่าที่ถูกคือ “ปลื้มปริ่ม” เขาก็ตอบกลับมาว่า ปกติเขาก็ใช้ถูกอยู่แล้ว แต่เห็นผู้สื่อข่าวชื่อดังท่านหนึ่งสะกดว่า “ปลื้มปลิ่ม” เขาเลยไม่มั่นใจ ผมเลยคิดว่าสื่อมวลชนทั้งผู้สื่อข่าว ศิลปิน นักแสดง และทุกคนที่มีสื่ออยู่ในมือควรใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสม จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทุกคนครับ
ในวันที่โลกออนไลน์มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น มองว่าอนาคตข้างหน้าการใช้ภาษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ทุกภาษาบนโลกนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาอยู่แล้วครับ เพราะถ้าภาษาไหนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย แสดงว่าภาษานั้นตายแล้ว ภาษาที่ตายแล้วก็คือภาษาที่ไม่มีคนใช้แล้วนั่นเอง ดังนั้นการที่ภาษาไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ก็แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยยังจะไม่สูญหายไปง่ายๆ และตราบใดที่ยังมีคนใช้ภาษาไทยอยู่ ภาษาไทยก็ยังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง คนไทยทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของมัน
เหมือนกับที่เราใช้ภาษาไทยปัจจุบันกันอยู่ ถ้าเราไปศึกษาภาษาไทยในอดีตก็จะเห็นว่าหลายอย่างก็พูดไม่เหมือนกับปัจจุบัน เพียงแต่ว่าสื่อออนไลน์มีส่วนทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางภาษาง่ายกว่าเมื่อก่อน เพราะมันกระจายไปได้เร็ว ใครอยากจะโพสต์อะไรลงไปในสื่อออนไลน์ก็ทำได้ไม่ยาก ดังนั้นเราทุกคนต้องพร้อมยอมรับ ปรับตัว และทำความเข้าใจจุดประสงค์ของการใช้ภาษาแต่ละรูปแบบ บางคนอาจจะผิดเพราะไม่รู้ว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่บางคนอาจจะตั้งใจสะกดให้ต่างไปจากมาตรฐานเพื่อให้เป็นลูกเล่นทางภาษา
คิดยังไงกับคนที่ไม่สนว่าตัวเองใช้ภาษาผิดๆถูกๆ ตราบใดที่ยังสามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง
ต้องดูบริบทด้วยครับ ถ้าคุยเล่นกับเพื่อนฝูง พิมพ์ผิดๆถูกๆ บ้างก็ไม่ได้เสียหายเท่าไหร่ ถ้ายังสื่อสารกันรู้เรื่อง แต่ถ้าเมื่อไรที่ต้องติดต่อธุระแล้วยังใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ นี่ต้องพิจารณาตัวเองแล้วครับ เพราะมันแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ บางครั้งเราอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ต้องไปจริงจังมาก แต่ว่าเรื่องเล็กๆแบบนี้นี่แหละครับที่แสดงว่าเราใส่ใจมากน้อยแค่ไหน
บางคนอาจจะทำงานอื่นได้ดีมาก มีข้อเสียแค่เรื่องการใช้ภาษา ก็อยากจะให้ลองปรับดูหน่อย ถ้าใช้ภาษาได้ถูกต้องด้วย ก็จะยิ่งแสดงถึงคุณภาพของเราครับ เพราะการใช้ภาษาคือเครื่องมือที่สำคัญของการสื่อสาร
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ภาษาไทย อยากฝากอะไรเพิ่้มเติมเป็นพิเศษไหม
อยากให้ทุกคนมองว่าภาษาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราก็ต้องใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร ถ้าเราใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสมก็จะทำให้การสื่อสารของเราเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และอย่าคิดว่าภาษาไทยเป็นเรื่องยาก เราทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ครับ ถ้าใครสงสัยเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีไทยก็สามารถสอบถามมาได้ในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม @tutor_tom หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tom.jakkriz ได้ครับ
และไม่ใช่แค่ภาษาไทยเท่านั้นนะครับที่เราต้องให้ความสำคัญ ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าถ้าเราเชี่ยวชาญภาษาอื่นด้วยก็สามาถเพิ่มโอกาสให้เราได้อีกมากทีเดียว
ภาพจากเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tom.jakkriz