posttoday

‘อาข่า อ่ามา’ ธุรกิจสังคมเพื่อคนต้นทางสู่กาแฟรสเลิศ

16 สิงหาคม 2558

“ลี อายุ จือปา” เจ้าของแบรนด์และร้านกาแฟ อาข่า อ่ามา ต้นทางนำเมล็ดกาแฟอินทรีย์ของไทยโกอินเตอร์

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

“ลี อายุ จือปา” เจ้าของแบรนด์และร้านกาแฟ อาข่า อ่ามา ต้นทางนำเมล็ดกาแฟอินทรีย์ของไทยโกอินเตอร์ ได้รับรางวัลเป็นกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรปจากเวทีแข่งขัน World Cup Tasters Championship 3 ปีติดต่อกัน คือ 2553-2555 และองค์การการค้าอย่างยุติธรรมประเทศอังกฤษ ก็มอบเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่ให้ราคายุติธรรมต่อชุมชน

หลังจากใช้เวลา 5 ปี “ลี” ก็สามารถพิสูจน์แล้วว่ากาแฟไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และยังเป็นกาแฟเกษตรอินทรีย์ที่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคพึงพอใจทั้งด้านราคาที่ได้รับเป็นรายได้ที่น่าพอใจ ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้ดื่มด่ำกับรสสัมผัสของกาแฟ

“อาข่า อ่ามา” เกิดขึ้นจากที่เขามาดูแลไร่กาแฟต่อจากแม่ สิ่งที่เขารับรู้มาตลอดคือ แม่และชุมชนอาข่า บ้านจันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ไม่เคยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเลยจากการปลูกกาแฟ เขาจึงตั้งใจหาโอกาสจากการร่ำเรียนมาประยุกต์และพัฒนาชุมชน

ลี หาค้นข้อมูลพบว่า ชุมชนในต่างประเทศสามารถดำเนินโครงการต่างๆ สำเร็จจากการเขียนเสนอขอผู้ร่วมทุน ซึ่งมารู้ภายหลังเรียกว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ SE และได้รับการสนับสนุนจากชาวสวิตเซอร์แลนด์ 3 แสนบาท รองรับการทำโครงการ 3 ปี ถ้าทำแล้วมีกำไรก็ทยอยคืนเงิน แต่ถ้าไม่มีกำไรไม่ต้องคืนเงินเขา แต่มีเงื่อนไขอย่าหยุดทำโครงการหรือช่วยเหลือคนอื่นต่อ โดยทุก 3 เดือนต้องเขียนรายงานให้ทราบว่าทำอะไรบ้าง แต่ “ลี” คิดว่าเมื่อมีคนสนับสนุนจริงจังก็ต้องทำให้ดีที่สุดและไม่ให้ขาดทุน

เขาผ่านการทดสอบและเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนมองไปถึงว่าชุมชนที่เขาอยู่จะต้องอยู่ได้ด้วย จึงเริ่มนำการปลูกกาแฟแบบเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ เพราะการไม่ใช้สารเคมีคือสิ่งที่มีคุณภาพ เมื่อของมีคุณภาพก็ได้ราคาที่ดีตามมาด้วย

‘อาข่า อ่ามา’ ธุรกิจสังคมเพื่อคนต้นทางสู่กาแฟรสเลิศ

 

แรกเริ่มเขาอาจเจออุปสรรคของการร่วมมือไม่ได้มากเท่ากับปัจจุบัน แต่ทุกอย่างก็เริ่มจากไร่กาแฟตัวเองก่อน และสิ่งที่ต้องทำด้วยคือ ดูภาพรวมระบบนิเวศรอบไร่กาแฟของผู้ร่วมโครงการด้วย ว่าระหว่างที่รอผลผลิตกาแฟ อะไรบ้างที่สามารถปลูกหรือไม่ควรทำระหว่างรอผลผลิตเมล็ดกาแฟ ทั้งหมดคือต้องให้ทั้งเขาและเราสามารถอยู่เลี้ยงชีพได้ทั้งหมด

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้ผู้ปลูกเป็นคนกำหนดราคายุติธรรมกันเองว่าเขาพึงพอใจในระดับไหน เพราะแต่ละบ้านที่เข้าร่วมปลูกนำเมล็ดกาแฟมาขายให้เราจะทราบต้นทุนและความยากง่ายของการปลูกกาแฟเอง

ทั้งหมดนี้เพื่อให้เขาสามารถมีกำไรด้วยตัวเอง โดยไม่ถูกกดราคาผ่านคนกลางเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งการทำ SE ตอนนั้นถือเป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทย จึงพยายามสื่อสารออกไปทุกรูปแบบ ตั้งแต่บอกเล่าตั้งแต่ร้านกาแฟอาข่าอ่ามา ของเขาเอง จนมีเครือข่ายและพันธมิตรต่างๆ จากปากต่อปาก จนสู่ขยายไประดับวงกว้างระดับมวลชน ว่าคุณภาพกาแฟเป็นอย่างไร ออกไปให้ผู้บริโภคได้รับรสสัมผัสกันเต็มที่

ปัจจุบันอาข่า อ่ามา เป็น SE ระดับอนุบาลที่กำลังเริ่มเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา เพราะจะเติบโตเป็นระดับมากกว่านี้ต้องสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนผู้ผลิตที่เป็นต้นทางให้มีฐานการผลิตที่มากกว่านี้ ขณะนี้กำลังจะขยายไปอีก 2 ชุมชม คือ บ้านห้วยทราย  อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และบ้านดอยงาม อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

หลังจากนี้วงล้อการขับเคลื่อนจะมีรอบที่หมุนเร็วขึ้น เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักคนทั่วไปมากขึ้น และล่าสุดอาข่า อ่ามา มีโรงสีหรือที่กะเทาะเปลือกกาแฟเป็นของตัวเอง กับเครื่องคัดขนาดเมล็ดกาแฟที่สร้างบนโรงรถของพันธมิตรจากร้าน 186 คาเฟ่ จ.เชียงใหม่ ที่เห็นว่าร้านกาแฟนี้ไม่มีเงินมากพอสร้างโรงสีหลังใหม่ แต่อยากให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอคนอื่น ถ้าจะทำก็ต้องลงมือทำจากสิ่งที่มี เป็นความภูมิใจที่สามารถสีกาแฟของชาวบ้านที่ทำงานด้วยได้ทั้งหมด ซึ่งโรงสีที่เกิดขึ้นก็มาจากการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ต่างคนต่างช่วยเหลือกัน ไม่มีใครคิดได้เพียงฝ่ายเดียว