ศาลาเสวิกุล และศาลาปั้นหยา
วัดกัลยาณมิตร เป็นวัดโบราณ สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นวัดที่อยู่ในบัญชี 1 ใน 9 วัดที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดย...ส.สต
วัดกัลยาณมิตร เป็นวัดโบราณ สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นวัดที่อยู่ในบัญชี 1 ใน 9 วัดที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำบุญกุศลและท่องเที่ยวว่าต้องไปกราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลเมื่อถึงเทศกาลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าวันปีใหม่ หรือตรุษจีน เพราะชื่อวัดเป็นมงคล ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด เช่น หลวงพ่อโต หรือซำปอกง ให้กราบไหว้ขอพร และเสี่ยงเซียมซีอีกด้วย
วัดกัลยาณมิตร ตั้งอยู่เขตธนบุรี ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางหลวง มีวิหารหลวงที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตเป็นแลนด์มาร์ค เห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะอยู่บนบก หรือล่องแม่เจ้าพระยา
ปัจจุบันวัดนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ที่กรมศิลปากรจ้างบริษัทเอกชนให้ไปทุบศาลาราย 2 หลังที่สร้างใหม่ออก กลายเป็นวัดแรก และเป็นครั้งแรกที่กรมศิลปากรใช้มาตรการรุนแรงนับแต่มี พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
โทษรุนแรงถึงกับทุบ เพราะทางวัดทุบศาลาที่เป็นโบราณสถานทิ้ง แล้วสร้างใหม่ในที่เดิม จึงโดน 2 ข้อหา 1.ทุบทำลายโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และ 2.สร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร
ศาลาที่เป็นโบราณสถาน 2 หลัง ได้แก่ ศาลาเสวิกุลและศาลาทรงปั้นหยา ทั้งสองมีประวัติดังนี้
ศาลเสวิกุล
ศาลาเสวิกุล
สร้างขึ้นเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2450 โดยพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงภัทรายุวดีและพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงเจริญศรีชนมายุ ทรงสร้างศาลาติดกับกำแพงแก้วหนึ่งหลัง ด้านหลังพระวิหารหลวง ทางตะวันตก เสาก่ออิฐถือปูน หลังคามุงสังกะสี ภายในศาลามีเจดีย์ครึ่งซีกประดิษฐานอยู่หนึ่งองค์ บรรจุอัฐินางเน้ย เสวิกุล นางอ่อม เสวิกุล นางเปลี่ยน เสวิกุล
ภายในศาลามีจารึกระบุ “พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงภัทรายุวดี และพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงเจริญศรีชนมายุ ทรงสร้างเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2450 เพื่อประทานให้บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษและผู้ที่อยู่ในตระกูล เสวิกุล ต่อไป”
ศาลาเสวิกุล นี้กรมศิลปากรตรวจสอบพบว่าวัดได้รื้อถอนทำลายไป และก่อสร้างศาลารายหลังใหม่ขึ้นทดแทน จึงได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว คดีอาญาที่ 337/2552 ซึ่งในท้ายที่สุดอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
ศาลาทรงปั้นหยา
สร้างขึ้นเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2450 โดยพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงภัทรายุวดี และพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงเจริญศรีชนมายุ ทรงสร้างศาลาบอกพระปริยัติธรรมหนึ่งหลัง บริเวณหลังพระวิหารหลวง เสาก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง กันสาดมุงสังกะสี สร้างเจดีย์อนุสาวรีย์หนึ่งองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาและมีรั้วไม้ 3 ด้าน ทรงอุทิศในนามพระยาชัยวิชิต (ช่วง) และท่านผู้หญิง (ปุก) ผู้เป็นอัยยกาและอัยยิกา