posttoday

รัฐธรรมนูญกับความจริงของสังคมไทย (3)

23 สิงหาคม 2558

อาจารย์จุฬาฯ ท่านหนึ่ง บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นแค่ “เสี้ยวประชาธิปไตย”

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

อาจารย์จุฬาฯ ท่านหนึ่ง บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นแค่ “เสี้ยวประชาธิปไตย”

ด้วยความเคารพในทางวิชาการ ผู้เขียนในฐานะผู้สอนรัฐศาสตร์อีกคนหนึ่งกลับเห็นว่า นั่นคือความคิดที่ปฏิเสธความจริงของสังคมไทย เหมือนกับครั้งที่มีคนบางคนได้ตั้งฉายาให้กับรัฐธรรมนูญปี 2521 ว่าเป็นฉบับหมาเมิน ฉบับฟันเน่าฟันผุ และฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นสามารถดำรงคงอยู่ในระบบการเมืองไทยยาวนานที่สุด คือมาถูกคณะ รสช.ยึดอำนาจและล้มเลิกไปในปี 2534 โดยมีอายุยาวนานถึง 13 ปี (บางตำราอาจจะบอกว่าน่าจะเป็นฉบับ 2475 ที่ใช้มาจนถึง 2489 รวมทั้งได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาใช้อีกในช่วง 2490-2495 ที่เรียกว่าฉบับปรับปรุง แต่ก็มีช่วงที่มีการพักใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่หลายปีในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2)

การมีอายุยืนยาวของรัฐธรรมนูญ 2521 ด้วยการ “วิจัย” ที่เป็นการ “หาความจริง” อย่างเป็นระบบ พบว่าเป็นเพราะปัจจัยเกื้อหนุน 2 ส่วนด้วยกัน คือ

หนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ “ผสานประโยชน์” ระหว่าง “กลุ่มอำนาจเก่า” คือทหารและระบบราชการ เข้าด้วยกันกับ “กลุ่มอำนาจใหม่” คือนักการเมืองจากการเลือกตั้ง กลุ่มทุนและกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยจัดพื้นที่ให้วุฒิสภาเป็นที่แสดงออกของกลุ่มอำนาจเก่า ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของกลุ่มอำนาจใหม่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2521 ได้ให้อำนาจแก่ทั้งสองสภานี้เท่าเทียมกัน ดังนั้นในทุกกระบวนการทั้งทางด้านการออกกฎหมาย การตั้งรัฐบาล และการตรวจสอบการบริหาร จึงเป็น “กระบวนการร่วม” ของทั้งสองสภา ที่ได้สร้าง “ความปรองดอง” ในการทำงานร่วมกันนั้นไปโดยตลอด

สอง การยกย่องให้เกียรติแก่กลุ่มอำนาจที่สำคัญที่สุดคือ “กองทัพ” ทั้งการเปิดกว้างของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นก็เพื่อให้ผู้ที่ทหารยอมรับมาอยู่ในตำแหน่งนี้นั่นเอง แต่ที่สำคัญและเป็นลักษณะเด่นของโครงสร้างอำนาจที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ การ “ต่อท่อ” หรือ “ต่อยอด” อำนาจให้กับ “นักไต่เต้าในระบบราชการ” (มาจากแนวคิดของ Anthony Downs ที่ใช้อธิบายการเติบโตของบุคลากรทางด้านการบริหารและการเมือง ซึ่งผู้เขียนเคยนำมาใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับการเติบโตและการล่มสลายของพรรคการเมืองไทย) แทนที่จะให้ทหารและข้าราชการระดับสูงไปแย่งชิงอำนาจกับพลเรือนและประชาชน ก็ให้คนพวกนี้ได้ตำแหน่งทางการเมืองโดยให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาไปเสียเลย ถือได้ว่าเป็นการ “ประนีประนอม” ที่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

“ความเป็นจริง” ของสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 พังทลายลงเพราะการท้าทายความจริงของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ร่วมกับ “การทรยศหักหลัง” ของนายทหารจากกองทัพด้วยกัน ทั้งที่เป็นนายทหารที่ชอกช้ำจาก “โคตรพงศ์วงศ์ตระกูล” ถูกทำลายด้วยทหารด้วยกันในสมัยกึ่งพุทธกาล (ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ในช่วงก่อนที่จะถูก รสช.ยึดอำนาจ) และนายทหารที่ชอกช้ำจาก “นายไม่รัก พรรคพวกตีจาก” (ที่ตนเองเคยยิ่งใหญ่สมัยที่ “ป๋า” เรืองอำนาจ) ลำพังรัฐบาลชุดนั้นจะโกงกินแบบ “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” เท่าใด กองทัพยุคคนเสื้อคับก็ไม่ว่าอะไร

กระทั่งได้ตั้งนายทหารที่เคยรุ่งผู้นั้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยเพื่อปลดแม่ทัพนายกองบางคนออกจากตำแหน่ง จึงได้มีการไป “ล็อกคอ” รมว.และ รมช.ทั้งสองคนลงจากเครื่องบิน และนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะ รสช.ในวันที่ 23 ก.พ. 2534

เหตุการณ์นี้พิสูจน์ความจริงที่อาจจะถึงขั้นเป็น “ทฤษฎีการเมืองไทย” ได้ว่า “ตราบใดที่พลเรือน (หมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของทหาร แม้จะมีความบกพร่องชั่วร้ายในการบริหาร (ของพลเรือน) นั้นจะมากมายเพียงใด กองทัพก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซง และยิ่งถ้าจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับทหารบ้าง (หรือเท่าที่สมควร) ก็จะยิ่งทำให้พลเรือนนั้นมีความมั่นคงแข็งแรง แต่เมื่อใดก็ตามที่พลเรือนคิดจะไปแทรกแซงหรือทำลายผลประโยชน์ของทหาร พลเรือนย่อมตกอยู่ในอันตรายและอาจล่มสลาย (ทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือฉับพลัน) ได้ในที่สุด ด้วยน้ำมือของกองทัพที่มีอำนาจเหนือพลเรือนมาโดยตลอด”

อย่างไรก็ตาม ทหารในแบบเก่า (คือยึดอำนาจแล้วก็หาทางสืบทอดอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่ง รสช.ใช้วิธีให้พรรคการเมืองไปรวบรวม สส.มาหนุนผู้นำทหาร โดยโหวตเลือกนายทหารที่ไม่ต้องลงเลือกตั้งให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีกันในสภาให้ดูสง่างาม) ก็ครองอำนาจอยู่ไม่นาน เพราะได้มีกลุ่มที่เคยเรียกตัวเองว่าเป็น “ทหารหนุ่ม” ในครั้งที่ “ป๋า” ยังยิ่งใหญ่นั้น ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบ “กินรวบ” ของทหารรุ่นพี่กลุ่มนี้ โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองหลายพรรคปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้าน กระทั่งเกิดจลาจลในระหว่างวันที่ 17-22 พ.ค. 2535 เมื่อเหตุการณ์ยุติโดยพระบรมเดชานุภาพที่ทรงปรามผู้นำทหารทั้งสองฝ่ายให้ปรองดองกันแล้ว ก็นำมาสู่แนวคิดในการ “ปฏิรูปการเมือง” ที่มีความพยายามจะสร้าง “ความจริงใหม่” ให้กับการเมืองไทย อันปรากฏเป็นรูปธรรมของ “ความจริงจอมปลอม” ทั้งหลายนั่นในรัฐธรรมนูญ 2540

ที่ผู้เขียนกล้าใช้คำว่า “ความจริงจอมปลอม” ก็ด้วยผลที่เกิดจากความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ “คิดพลาด-คาดผิด” ใน 2-3 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง ความกลัวว่าจะได้นักการเมือง “ชั่วๆ” เข้ามาในสภา จึงพยายามวางกลไกในการ “คัดกรอง” นักการเมืองเหล่านี้อย่างเข้มงวด ทั้งที่ผ่านกลไกพรรคและผ่านกลไกการเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็ด้วยการควบคุมและลงโทษพรรคถึงขั้นยุบพรรค หากสมาชิกของพรรคทุจริตในทางการเมือง ร่วมกับระบบการให้ใบแดงใบเหลืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สามารถกระทำได้โดยง่าย

สอง ความฝันที่ว่าจะให้ประชาชนเข้ามาช่วยในการควบคุม ตรวจสอบ และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง ตั้งแต่การบังคับประชาชนให้ไปเลือกตั้ง การให้มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมือง การออกกฎหมาย การบริหารงานในท้องถิ่นด้วยตนเอง และการควบคุมตรวจสอบรัฐบาล พร้อมกับลดอำนาจของภาครัฐและระบบราชการลง

สาม ความคาดหวังถึงการ “ยืมมือ” กลุ่มอำนาจเก่าและชนชั้นสูงให้มาร่วมสร้าง “การเมืองใหม่” เป็นต้นว่า ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้พิพากษา และคนที่มีชื่อเสียง (ทางด้านการสร้างภาพ) ให้เข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและลงโทษนักการเมืองเป็นหลักให้กับประชาชน พร้อมกับการ “ไหว้วาน” ให้ภาคประชาสังคมมาร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น

แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูก “โคตรปราชญ์” ค้นพบ “ความจริง” ในที่สุด