เทคโนโลยีนาโน พัฒนาคุณภาพน้ำสะอาด
สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ สำหรับประเทศไทยถือว่าสาหัสเอาการ และเป็นพิบัติภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 20 ปี
โดย...อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.
สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ สำหรับประเทศไทยถือว่าสาหัสเอาการ และเป็นพิบัติภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 20 ปี โดยปัจจัยหลักนอกจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลแล้ว การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งยังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่
แม้บางพื้นที่จะมีการกักเก็บน้ำไว้ผลิตน้ำดื่มน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งแล้วก็ตาม แต่ความรุนแรงของภัยแล้งยิ่งหนักขึ้น จนรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อเยียวยาความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญในการนำนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาน้ำดื่มน้ำใช้ช่วงหน้าแล้งให้มีคุณภาพ และตรงตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
พล.อ.ต.กัมปนาท วีรกุล
นั่นคือ การส่งมอบเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ให้กับโรงพยาบาลจันทรุเบกษา จ.นครปฐม เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนได้ทุกเมื่อ ในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา
พล.อ.ต.กัมปนาท วีรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจันทรุเบกษา ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ทำให้บางครั้ง น้ำมีตะกอน สี และกลิ่นปนเปื้อนมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้ติดต่อหน่วยงานวิจัยอย่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอความช่วยเหลือ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
หน่วยงานดังกล่าวมีนวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ด้วยนวัตกรรมนาโนที่ได้มาตรฐานน้ำดื่มของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และได้ร่วมกันพัฒนาน้ำใช้ในโรงพยาบาลจันทรุเบกษาในช่วงภัยแล้งเมื่อเดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งสามารถพัฒนาน้ำใช้ในโรงพยาบาลให้มีคุณภาพดีขึ้นใช้ได้ตามปกติ และเป็นไปตามแนวนโยบายของโรงพยาบาลที่มีหน้าที่ต้องรับประกันคุณภาพน้ำใช้ในโรงพยาบาลให้มีคุณภาพอยู่เสมอ
“ปัญหาภัยแล้งทำให้บางครั้งโรงพยาบาลก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำใช้ เช่น ตะกอน สีและกลิ่น ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนมากับน้ำ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ทำการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำใช้ในโรงพยาบาลให้ได้มาตรฐานโดยตลอด เช่น การใช้ resin และ UV
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ผลกระทบจากภัยแล้งหนักหน่วง และโรงพยาบาลก็ขอความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพน้ำใช้ของโรงพยาบาลจากนักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และได้รับความร่วมมืออย่างดีจนสามารถแก้ปัญหาได้
นับว่าเป็นผลดีที่เรามีหน่วยงานรัฐที่มีศักยภาพได้ช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพน้ำในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ของประชาชนให้มีน้ำใช้ที่มีคุณภาพอยู่ตลอด” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจันทรุเบกษา ระบุ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้มอบหมายให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัย เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาสำคัญของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะกรณีปัญหาภัยพิบัติต่างๆ
ยกตัวอย่างปัญหาภัยแล้งขณะนี้ ศูนย์นาโนเทคมีโครงการวิจัยมุ่งเป้าในด้านน้ำสะอาด หรือ Clean Water Flagship ที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านวิชาการและด้านสังคม
ทีมวิจัยได้พัฒนาเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ซึ่งในเครื่องกรองน้ำตัวนี้ ใช้ระบบกรองหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้น้ำสะอาดในภาวะภัยแล้ง และได้มีการนำไส้กรองน้ำนาโนจำนวนสองชนิดมาใช้ร่วมภายในเครื่องด้วย โดยมีทั้งไส้กรองคาร์บอนนาโน ซึ่งเป็นไส้กรองน้ำนาโนตัวใหม่ที่ทางทีมวิจัยพัฒนาขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการดูดซับสารปนเปื้อนประจุบวกและลบในน้ำได้ดีกว่าไส้กรองคาร์บอนทั่วไป และไส้กรองน้ำนาโนเซรามิกซิลเวอร์ที่สามารถช่วยลดการสะสมเชื้อโรคบนผิวไส้กรอง และยืดอายุการใช้งานของไส้กรองนานขึ้นกว่าไส้กรองน้ำเซรามิกทั่วไป
จามร เชวงกิจวณิช นักวิจัยห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนไฮบริดและนาโนคอมพอสิท ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย อธิบายสมรรถนะและการทำงานของเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ว่า เครื่องกรองน้ำดังกล่าวพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยแห่งชาติ คือ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ในการทำงาน นักวิจัยจากนาโนเทคดูแลรับผิดชอบในส่วนของเทคโนโลยีการกรองน้ำและไส้กรองน้ำนาโน (Nanofilter And Water Filtration System) ในขณะที่นักวิจัยจากเนคเทคจะดูแลรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีระบบควบคุมอัตโนมัติ (Embeded Controlled System) และระบบพลังงานของเครื่องกรองน้ำ เพื่อให้เกิดการเลือกใช้แหล่งพลังงานระหว่างไฟบ้านและพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนั้นแล้ว จุดเด่นสำคัญของเครื่องกรองน้ำดังกล่าว คือ สามารถกรองตะกอนหยาบ ตะกอนละเอียด สี กลิ่น โลหะหนัก และแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาคุณภาพน้ำที่ใช้ในโรงพยาบาลที่มีปัญหามากในช่วงหน้าแล้งลงได้ โดยตัวเครื่องมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 7 คิว/วัน เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนได้ดี
และนี่คือหนึ่งในนวัตกรรม ของนักวิจัยไทย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นได้ จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศใดในโลก