ตรังเปิดเทศกาลหมูย่าง-เค้กรวม2งาน
ตรัง-เปิดแล้วงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรัง และขนมเค้กเมืองตรังชื่อดังประจำปี58 นักท่องเที่ยวแห่ซื้อคึก
ตรัง-เปิดแล้วงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรัง และขนมเค้กเมืองตรังชื่อดังประจำปี58 นักท่องเที่ยวแห่ซื้อคึก
เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2558 ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ศาลากลางจ.ตรัง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายนิกร สุกใส รองผู้ว่าราชการจ.ตรัง นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ. ตรัง นายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจ.ตรัง หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกันเปิดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรังและขนมเค้กเมืองตรังชื่อดังของประเทศไทย ประจำปี 2558
สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่จัด 2 กิจกรรมไว้ในงานเดียวกัน โดยการปล่อยขบวนพาเหรดแฟนซีจากน้องๆนักเรียน นักศึกษา และสมาชิกหอการค้า จ.ตรัง กว่า1,500 คน ที่ถือป้ายรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชั่น และรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม และเชิญเที่ยวงานหมู่ย่างและขนมเค้กเมืองตรัง หลังจากนั้นมีการมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยให้กับผู้ประกอบการหมูย่าง จำนวน 4 รายใน จ.ตรัง และพิธีสับหมูย่าง ขนาดตัวละ 20 กิโลกรัม และตัดเค้กยักษ์ สูตรดั้งเดิมของ จ.ตรัง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดงานอย่างเป็นทางการ และให้แขกผู้มีเกียรติ ประชาชนทั่วไปได้ชิมฟรี รวมถึงการปรุงเมนูพิเศษ ต้มขาหมูย่างใบชะมวง แจกจ่ายให้กับคนทั่วไปที่มาเที่ยวงานอีกด้วย
วันนี้มีผู้ประกอบการหมูย่างและผู้ประกอบการขนมเค้กเมืองตรังนำสินค้ามาขายกว่า 40 ราย ในราคาพิเศษต่ำกว่าท้องตลาด หมูย่างปกติกิโลกรัมละ 420 ลดเหลือ 400 บาท กระดูกหัวและขา กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนขนมเค้กมาตรฐานจากกล่องละ 80 บาท จำหน่ายเพียง 60 บาท ขนมเค้กกล่องเล็กปกติ 50 บาท จำหน่ายเพียง 40 บาท ซึ่งประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวต่างเข้าคิวรอซื้อหมูย่าง และขนมเค้กเมืองตรัง ของขึ้นชื่อ จ.ตรัง อย่างคึกคัก ผู้ประกอบการบางรายจำหน่ายหมูย่างหมดตั้งแต่เปิดงานได้เพียง 2 ชม.แรกเท่านั้น
สำหรับกิจกรรมภายในงานยังมีการแสดง การโชว์ความบันเทิงบนเวที การจำหน่ายสินค้าโอทอปของดี จ.ตรัง และการโชว์ปรุงอาหารเมนูใหม่ๆโดยใช้หมูย่าง และขนมเค้กเมืองตรัง เป็นวัตถุดิบหลักซึ่งการจำหน่ายหมูย่าง ขนมเค้ก และกิจกรรมต่างจะจัดขึ้นตลอด 2 วัน ตั้งแต่ 5-6 ก.ย. นี้
นายทวีศักดิ์ ไทรงาม ผู้จัดการหมูย่างโกแก่ และประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง ว่า ภาพรวมการจำหน่ายหมูย่างในปี 2558 นี้ ถือว่าเงียบเหงาลงไปพอสมควร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมายอดขายตกลงไปกว่า 20% สาเหตุเนื่องมาจากกำลังซื้อจากประชาชนและนักท่องเที่ยวลดลง โดยมีปัจจัยมาจากราคายางพาราที่ตกต่ำ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทั้งนี้ ปกติเกษตรกรกรีดยางพารา พอกรีดเสร็จก็จะมาแวะซื้อหมูย่างไปรับประทานกัน แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีเลยเพราะตอนนี้กรีดยาง 7 ไร่จะซื้อหมูย่างได้เพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น
ขณะที่เมื่อช่วงที่ราคายางพาราดีสามารถซื้อหมูย่างได้ 3-4 กิโลกรัม ในช่วงนี้มีผู้ประกอบการหมูย่างทั้งหมดประมาณ 60 ราย มียอดขายเฉลี่ยรายละ2 ตัวต่อวัน รวมทั้งจังหวัดประมาณ 100 ตัวมีรายได้ตัวละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่หักต้นทุน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเครื่องปรุงและค่าหมูเป็นหน้าฟาร์ม เดือนก่อนกิโลกรัมละประมาณ66 บาท แต่มาเดือนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 73-75 บาท/กก.
ช่วงที่ผ่านมาจึงมีผู้ประกอบการรายย่อยประสบภาวะขาดทุน แบกรับภาระหนี้สิน ดอกเบี้ยไม่ไหว ก็พากันเลิกกิจการไปแล้วหลายราย ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่จะเป็นรายเก่าแก่ ทำกันมานานก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันต่อไป.