"วรศักดิ์ มหัทธโนบล" ชำแหละไทยลู่ตามลม จุดหักเหสัมพันธ์มหาอำนาจ
"เมื่อมีชาติใดชาติหนึ่งที่เป็นมิตรกับจีนเกิดไปเพลี่ยงพล้ำ หรือเกิดปัญหาใดขึ้นมา ทางจีนจะรีบเข้ามาหาทันที"
โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์ ปริญญา ชูเลขา
บทบาทไทยในบริบทการเมืองระหว่างประเทศสองขั้วมหาอำนาจโลกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ... การเลือกห่างเหิน “สหรัฐ” ไปพึงพา “จีน” ท่ามกลางการแข่งขันช่วงชิงอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงโลก ทิศทางไหนถึงจะเป็นความสมดุลและประเทศได้ประโยชน์สูงสุด
โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์ “วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลไทย โดยอาจารย์เริ่มเล่าย้อนประวัติศาสตร์ก่อนปี 2475 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นไทยมักถูกมิตรประเทศมองว่ามีนโยบายการต่างประเทศแบบ “ลู่ตามลม”
กล่าวคือ อยู่ข้างฝ่ายชนะเสมอ เช่น สมัยรัชกาลที่ 6 สงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยเป็นมิตรกับเยอรมนีดีมาก แต่พอแนวโน้มว่าเยอรมนีจะแพ้สงคราม ฝ่ายไทยก็รีบประกาศยืนข้างกลุ่มประเทศผู้ชนะ หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยไปร่วมกับญี่ปุ่น แต่ในภายหลังก็มีการยกเลิกเป็นโมฆะ ซึ่งนโยบายนี้เหมือนกับว่าไทยกะล่อนหรือไม่ แต่นานาชาติเข้าใจดีว่าไทยเป็นประเทศเล็กไม่มีอำนาจต่อรอง จึงยึดหลักสำคัญคือคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ
จุดหักเหสำคัญในการดำเนินนโยบายนี้และกลายเป็นปัญหา นั่นคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อไทยไปผูกติดกับนโยบายอเมริกาอย่างเหนียวแน่น จึงถูกมองได้ว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง ทำตามที่สหรัฐกำหนด กลายเป็นทำตัวไม่สมศักดิ์ศรี
“แต่หากพิจารณา 2 เรื่องสำคัญ คือ สาระและผลที่ออกมาในบั้นปลาย กล่าวคือ เนื้อหาสาระที่ไทยดำเนินนโยบายแนบแน่นกับสหรัฐ คือ การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐไทยในตอนนั้นมีนโยบายสอดคล้องกับสหรัฐอยู่แล้ว ไทยจะปล่อยให้ประเทศตัวเองเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ได้ การมีอุดมการณ์ที่สอดคล้องไม่อาจสรุปได้ว่าไทยเป็นลูกไล่สหรัฐ แม้ทางสหรัฐจะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วยก็ตาม
“ผมอยากให้ลองคิดดูว่า พวกฝ่ายซ้ายไทยหลัง 14 ตุลาฯ 16 ตอนนั้นเฟื่องฟูมาก ยิ่งหลังเหตุการณ์ 16 ตุลาฯ 19 ยิ่งเฟื่องฟูเข้าไปใหญ่ มีคนเข้าป่าเยอะ ตอนนั้นฝ่ายซ้ายมั่นใจว่าประชาชนอยู่ข้างเรา มวลชนคือผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คำพูดอย่างนี้เกิดจากการจินตนาการ และคิดว่าอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายทำเพื่อประชาชนจริงๆ
“แต่ผลหลัง 6 ตุลาฯ ผ่านไปไม่กี่ปี กลับพบว่าขบวนการฝ่ายซ้ายไม่ใช่คำตอบของนักศึกษาปัญญาชน จนเกิดความแตกแยกในสังคมนิยมทั่วโลก แม้แต่ในจีนก็เกิดการเปลี่ยนแปลง จีนในยุคเติ้งเสี่ยวผิง ยังเปลี่ยนแปลงระบอบเศรษฐกิจประเทศตัวเอง แม้จะบอกว่าตัวเองเป็นสังคมนิยม แต่ระบบเศรษฐกิจกลับเป็นทุนนิยม
“ลองคิดดูหากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ชนะ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลการปกครองนั้นจะออกมาอย่างไร ผมเชื่อว่าแย่มากๆ ไม่มีใครอยู่ได้ เพราะการที่ผูกติดกับสหรัฐไม่สมศักดิ์ศรี แต่หากคิดถึงผลประโยชน์แห่งชาติ หลักนโยบายนี้ในยุคนั้นตอนนั้นผมอาจจะต่อต้าน
“แต่เมื่อผ่านมาจนถึงทุกวันนี้มานั่งคิดใหม่ดู คิดว่าโชคดีที่ พคท.ไม่ชนะ ถ้าวันนั้น พคท. ชนะ อย่าว่าแต่คนรุ่นผมเลยที่อยู่ไม่ได้ คนรุ่นลูกรุ่นหลานพวกเราก็อยู่ไม่ได้ ยิ่งเจ็บปวดกว่านี้อีก ดังนั้นนโยบายแบบนี้จะเห็นได้เลยว่า ในที่สุดในยุคที่เราเป็นนิสิตนักศึกษา จะชอบหรือไม่ชอบ แต่ผลที่สุดในบั้นปลายต้องรู้ว่าเป็นอย่างไร ผมยอมรับว่าในยุคนั้นเป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด ซึ่งผู้นำในยุคนั้นเป็นเผด็จการด้วย”
อาจารย์ของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายต่อถึงจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ ว่า ...เมื่อลัทธิสังคมนิยมล่มสลาย เกิดคำถามว่าไทยยังเป็นลูกไล่ทางนโยบายกับสหรัฐอยู่อีกหรือไม่ "ผมตอบได้เลยว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลไทยได้รักษาผลประโยชน์ของไทยไว้ได้ในตอนนั้น
"สิ่งที่ถูกปลูกฝังในสามัญสำนึกของคนไทย มีอยู่เรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกับนโยบายสหรัฐคือ 'ประชาธิปไตย' แต่ตอนนี้ผลประโยชน์ของชาติเปลี่ยนไปแล้ว ทุกวันนี้นโยบายของไทยไม่ได้สอดคล้องกับนโยบายสหรัฐเสมอไปแล้ว บังเอิญไปด้วยกันได้ เพราะไทยเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด
"แต่มาถึง ณ วันนี้ ถ้าถามว่าสหรัฐเชิดชูประชาธิปไตยอย่างจริงใจหรือไม่ ผมอยากบอกว่าสหรัฐสองมาตรฐาน สหรัฐต่อต้านเผด็จการทหาร แต่ทุกวันนี้สหรัฐกับซาอุฯ มีความสัมพันธ์ดีกันมาก ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีกฎหมายที่แข็งกร้าว มีบทลงโทษที่หนักรุนแรง เรื่องใดที่สหรัฐเชิดชูสิทธิมนุษยชน แต่ในซาอุฯ ด้อยกว่าไทยเยอะ แต่ซาอุฯ กลับได้รับความอนุเคราะห์ เชิดชูความเป็นเพื่อนเป็นมิตรจากสหรัฐ
“จึงเกิดคำถามถึงความสม่ำเสมอของนโยบายประชาธิปไตยสหรัฐว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือ สหรัฐเองอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารด้วยซ้ำ ในอียิปต์ หรือในหลายๆ ประเทศเป็นเรื่องฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศที่มีสหประชาชาติเป็นคนกลาง เช่น การบุกโจมตีอีรักในปี 2003 ฉะนั้นการที่สหรัฐวิจารณ์ประเทศไทยเรื่องประชาธิปไตย สหรัฐควรกลับไปชะโงกดูเงาตัวเองด้วย”
วรศักดิ์ ระบุว่า จุดเปลี่ยนมาถึงยุคที่ไทยเริ่มมีนโยบายเป็นของตัวเองเรื่อยมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายการต่างประเทศ ด้วยการยกเลิกการสนับสนุนขบวนการฝ่ายซ้ายทั่วโลก เพราะจีนไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในประเทศใด
"แม้ว่าจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนก็สนับสนุนให้กลุ่มฝ่ายซ้ายในไทยจัดตั้งสถานีวิทยุที่คุนหมิง ซึ่งในเชิงนโยบายการต่างประเทศและการเมืองเป็นอะไรที่ลักลั่นมาก แต่พอมาถึงยุคเติ้งเสี่ยวผิง ได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว
"ในขณะที่จีนเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม ย่อมต้องการเพื่อนและมิตร ถ้าไม่ยุตินโยบายอย่างนี้ ชาติไหนจะมาเชื่อใจจีน และสิ่งที่จีนต้องการเปิดประเทศด้วยการเชิญชวนมาทำการค้าการลงทุนก็จะไม่มีใครมา ผลประโยชน์ของจีนก็จะเสียไป
"นโยบายนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการทำให้จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อไทยเห็นจีนเลิกสนับสนุน พคท. จึงเกิดความไว้วางใจระหว่างกันมากขึ้น จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์คู่ขนานระหว่างไทย-สหรัฐ และไทย-จีน กล่าวคือ จีนกับไทยก็ดีด้วย เพราะมีภูมิศาสตร์การค้าการลงทุนที่ใกล้ชิดกัน ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม หากมาชั่งน้ำหนักระหว่างการเลือกข้างจีนกับสหรัฐ อาจารย์วรศักดิ์ มองเห็นทั้งจุดดีและจุดอ่อนต่อผลประโยชน์ของไทย กล่าวคือไทยมีระบอบการเมืองการปกครองใกล้เคียงกับสหรัฐ แต่วันหนึ่งไทยเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเผด็จการ เช่นในเวลานี้ (ยุค คสช.) สหรัฐมีท่าทีไม่สนับสนุนชัดเจน แตกต่างจากจีน
"จีนมีนโยบายต่างประเทศอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งเรียกว่า 'ห่าวฮั่น' แปลได้ว่า 'จีนที่แสนดี' หมายความว่าเวลาจีนคิดว่าตัวเองเป็นชาติมหาอำนาจ มีเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาติเล็กชาติน้อย แต่เมื่อมีชาติใดชาติหนึ่งที่เป็นมิตรกับจีนเกิดไปเพลี่ยงพล้ำ หรือเกิดปัญหาใดขึ้นมา ทางจีนจะรีบเข้ามาหาทันที หรือเข้ามาช่วยเหลือทันที
"แต่แน่นอนว่าจีนอาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 จนถึงรัฐประหารปี 2557 พอจัดตั้งรัฐบาลทหารเสร็จ ทางการจีนประกาศว่าไม่แทรกแซงกิจการภายในไทย ยิ่งจีนรู้ว่ารัฐบาลไทยถูกทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปกดดันและคว่ำบาตร ทางการจีนจึงรีบเข้ามาหา ถือเป็นนิสัยที่จีนดำเนินนโยบายดังกล่าวกับทุกประเทศ
“ผมอยากยกตัวอย่างว่า ถ้ามิตรประเทศหนึ่งของไทยไม่มีไมตรี แต่มิตรประเทศอีกคนหนึ่งเพิ่มไมตรี ในฐานะที่เป็นเจ้าของบ้าน จะทำอย่างไรกับคนที่ยื่นไมตรีให้เรา จะปฏิเสธก็ไม่ได้ เพราะเราต้องการความเป็นมิตรอยู่ กับอีกคนหนึ่งที่ไม่มีไมตรีให้และยังลดความสัมพันธ์ลงด้วย เราจะโกรธเขาก็ไม่ได้ ฉะนั้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ อย่าว่าแต่ธรรมชาติการเมืองระหว่างประเทศเลยเป็นใครก็ต้องทำเช่นนั้น”
อาจารย์รัฐศาสตร์ อธิบายต่อว่า คำถามสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ไทยจะถ่วงดุลระหว่างสองมหาอำนาจอย่างไร ขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกดำเนินนโยบายไปตามความเหมาะสม หรือเรียกว่าทำตามวิสัยที่จะทำได้ กล่าวคือไม่ได้ดีไปกว่านี้ หรือแย่ไปกว่านี้ เพราะไทยไม่ได้เป็นฝ่ายกำหนดเอง เนื่องจากประเทศมหาอำนาจต่างหากที่เป็นผู้กำหนด
"จะไปบอกให้สหรัฐต้องดีกับไทยตลอดกาลคงไม่ได้ ขณะนี้ถือว่าไทยก็ยังดำเนินนโยบายลู่ตามลม ตามสภาวะที่เป็นอยู่และข้อจำกัดที่ทำได้ ถือว่าไม่ได้ดี หรือแย่ไปกว่านี้ที่จะทำให้สหรัฐพึงพอใจได้ เช่น ถ้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลาออก และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ถามว่าสหรัฐและอียูจะกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีดั่งเดิมกับไทยหรือไม่ ถ้าการเมืองไทยจะกลับไปสู่วงจรเดิมที่มีความขัดแย้งจนเข่นฆ่ากันอีกจะทำอย่างไร
“วันนี้ผมเชื่อว่าสหรัฐเข้าใจการเมืองภายในไทยดี แต่แกล้งไม่เข้าใจ เพราะผลประโยชน์จากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมีน้อยกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลประโยชน์นั้นคือการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ หมายความว่าอิสระเต็มที่ ไม่ต้องมาพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง"
อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ เชื่อว่าทั้งสหรัฐและอียู จะยังคงไล่บดบี้รัฐบาลไทยไปเรื่อยๆ เหมือนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังถูกลงโทษด้วยเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาค้ามนุษย์ ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้เกิดมาตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับเมียนมาในยุคที่ทหารครองอำนาจเบ็ดเสร็จ สหรัฐและยุโรปคว่ำบาตรเด็ดขาดมากกว่านี้ ในปี 2538 ถึงขนาดชาติตะวันตกถอนการลงทุนหนักกว่ามาก ส่วนไทยไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐรายไหนถอนตัว ถือว่าไทยถูกแซงก์ชั่นเบามาก
เอียงเข้าหาจีน...เดินมาถูกทาง
ภายหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศกับจีนอย่างออกนอกหน้า...เกิดคำถามว่า การที่ไทยตีตัวออกห่างสหรัฐไปคบจีนเป็นการตัดสินใจที่ถูกทางหรือไม่
อาจารย์วรศักดิ์ ตอบทันทีว่า “เดินมาถูกทาง” และโดยภาพรวมถือเป็นนโยบายที่ยัง “รู้เท่าทัน” แม้ทางการทูตจีนมักจะใช้วิธีการโอ้โลมปฏิโลมจนทำให้เคลิบเคลิ้ม หรืออาจทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่ฝ่ายไทยยังรู้เท่าทันอยู่ ตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถเลือกให้ญี่ปุ่นหรือจีน ดำเนินโครงการก็ได้ แต่รัฐบาลไทยเลือกจีน
แม้รัฐบาลไทยจะเลือกให้ญี่ปุ่นดำเนินการ แต่จีนหวังผลในระยะยาวมากกว่า คือ การเปิดเส้นทางสายไหมในการขนถ่ายสินค้าจากจีนมายังไทยและประเทศอื่นๆ
คำถามที่ตามมาก็คือการเอนเอียงไปพึ่งจีนจะได้ประโยชน์ในระยะยาวจริงหรือไม่ ในประเด็นนี้ อาจารย์วรศักดิ์ อธิบายว่า จีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาล ในแง่ของสินค้าโดยขนาดก็ย่อมมีความหลากหลายและปริมาณมากกว่า ยิ่งภายหลังการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถึงเวลานั้นหากสินค้าจีนเข้ามามากไทยอาจเกิดปัญหาเสียดุลการค้า
"ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเป็นสินค้าที่ไทยต้องการ เพราะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเราเอง และสินค้าของไทยทางจีนก็มีความต้องการมาก แต่ฝ่ายไทยก็มีข้อจำกัดด้านขนาดของพื้นที่เช่นกัน ต่อให้จีนมีกำลังซื้อมากมายเพียงใด ฝ่ายไทยก็ไม่สามารถผลิตพอจำหน่ายได้ แต่ตลาดการค้ากว้างใหญ่กว่าจีนเพียงชาติเดียว ยังมีตลาดเออีซี
"แต่ยอมรับว่าขณะนี้จีนมุ่งการค้าในเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ โดยเฉพาะเส้นทางสายไหม การรุกของจีนมี 2 ด้าน คือ อำนาจอ่อน และอำนาจแข็ง เพื่อให้มิตรประเทศในอาเซียน หรือยุโรป เห็นว่าจีนต้องการทำการค้าต้องการเห็นสันติภาพ ไม่ต้องการท้ารบกับประเทศใด
"อีกด้านก็เกิดข้อเท็จจริงที่ว่าจีนกำลังรุกรานชาติอื่น โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ หรือข้อพิพาททะเลจีนตะวันออก จึงเกิดคำถามว่าเส้นทางสายไหมเสนอขึ้นมาเพื่ออะไร มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คือ ทำเพื่อผลประโยชน์ของจีนอย่างเดียว หรือเสนอขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าจีนรักสันติภาพ แต่ในความเป็นจริงสันติภาพที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้จริง
"ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมในอาเซียนของจีนขัดแย้งในตัวเอง โดยเฉพาะการที่จีนไปสร้างเกาะในพื้นที่ที่มีข้อพิพาททะเลจีนใต้ ประเทศเล็กประเทศน้อยที่มีข้อพิพาทกับจีนก็ไม่สบายใจ"
มองในมุมความได้เปรียบเสียเปรียบจากความสัมพันธ์ที่รัฐบาลไทยเลือก โดยเฉพาะในแง่การขยายการลงทุน อาจารย์วรศักดิ์ ยอมรับว่า ท้ายที่สุดกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ของคนในประเทศ
“วันนี้ไม่ว่าประเทศใดในโลกบอกตัวเองว่ามีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ด้วยการกล่าวอ้างตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี เป็นตัวชี้วัด และทุกประเทศมุ่งไปสู่สังคมอุตสาหกรรม การเปิดการค้าเสรี เส้นทางสายไหม เออีซี หรือแม้แต่การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่กำลังทำอยู่ ล้วนมุ่งไปสู่สังคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น
“ประเด็นอยู่ที่ว่าจะกู่ให้สังคมอุตสาหกรรมกลับมาหรือหยุดนิ่งได้หรือไม่ เพราะเป็นกันทั้งโลก จีนก็เช่นเดียวกัน ถามว่าผมเห็นด้วยกับกลุ่มเอ็นจีโอที่ประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ยอมรับว่าผมไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นสังคมอุตสาหกรรมแบบเต็มรูป มีอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องมีระยะห่าง แต่ผมคนเดียวกู่ได้ไหม ต้องมี 1-2 ครั้งที่ผมต้องไปเดินห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อของ
“ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีหรือไม่มี เขตเศรษฐกิจพิเศษย่อมต้องเกิดขึ้น เพราะคนเหล่านี้ (กลุ่มทุน) ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อม หรือมลพิษ สิ่งเดียวที่ต้องการคำคำ เดียวคือ 'กำไร' นั่นคือเศรษฐกิจกระแสหลัก”
ถ้าอุยกูร์บึ้มราชประสงค์ เราจะเป็นประเทศแรก
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและการตัดสินใจดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศ อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า “มือระเบิด” บริเวณศาลท้าวมหาพรหมแยกราชประสงค์ มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ...แต่นั่นหมายถึงว่าผลการสอบสวนในคดีนี้มีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว
วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการไทยที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องจีน ให้ความเห็นว่า หากการขยายผลการจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาวางระเบิดแยกราชประสงค์ จนมีความเชื่อมโยงกับชาวอุยกูร์ และเป็นผลพวงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเติร์กกับรัฐบาลจีน ย่อมทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการตกเป็นเมืองก่อการร้าย
อาจารย์วรศักดิ์ วิเคราะห์ว่า นโยบายการส่งตัวกลุ่มอุยกูร์ไปจีน และตุรกี จริงๆ แล้วพูดได้ประโยคเดียว คือ รัฐบาลไทยทำดีที่สุดได้เพียงแค่นี้จริงๆ เพราะการส่งตัวชาวเติร์กหรืออุยกูร์ไปทั้งตุรกีและจีน เป็นเรื่องที่มีความลักลั่นมาก เหมือนกับรัฐบาลไทยเหยียบเรือสองแคม และไม่ว่าตัดสินใจอย่างไรก็สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับตัวเองทั้งสิ้น
“เพราะส่งกลุ่มอุยกูร์ไปตุรกีทางฝ่ายจีนก็ไม่พอใจรัฐบาลไทย และส่งกลุ่มอุยกูร์ไปจีนทางฝ่ายสหรัฐ สหประชาชาติ สหภาพยุโรป และตุรกีก็ไม่พอใจ ฉะนั้นคนที่คิดวิธีแบบนี้ได้ต้องยกย่อง เพราะฝ่ายไทยโดนตำหนิทั้งสองขั้วอำนาจ จึงเกิดคำถามว่ามีประเทศไหนบ้างในโลกที่อยากถูกประเทศมหาอำนาจสองขั้วอำนาจตำหนิทั้งสองข้าง
“ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่เจอเหตุการณ์แบบนี้เหมือนไทย มักจะเลือกโดนตำหนิเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อรัฐบาลไทยโดนตำหนิจากสองฝ่าย จึงเกิดคำตอบที่ชัดเจนขึ้นมาอีกว่า แล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไรกับกลุ่มชาวเติร์กที่ยังอยู่ในประเทศไทยอีก 59 คน นี่ต่างหากที่ต้องมานั่งขบคิด หลังจากตัดสินใจส่งไปจีน 109 คน และส่งไปตุรกี 173 คน เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
“ที่สำคัญหากสรุปได้ว่า เหตุการณ์วางระเบิดที่บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 เชื่อมโยงกับชาวเติร์ก 59 คนกลุ่มนี้ ก็แสดงว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ กลุ่มคนเหล่านี้ 59 คน จะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นตัวประกันของรัฐบาลไทยทันที เพราะว่ากลุ่มอุยกูร์เติร์กลงมือทำ ดังนั้นทางรัฐบาลไม่ต้องคิดมากที่จะส่งกลุ่มคนเหล่านี้ทั้ง 59 คน ไปจีนทันทีก็ได้
“เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่รัฐบาลไทยส่งชาวเติร์ก 109 คน กลับไปจีน ทำให้ชาวเติร์กเกิดความโกรธแค้น แล้วเข้ามาวางระเบิดในไทย เป็นเหตุให้ไทยถูกผลักให้เป็นแนวร่วมกับจีนไปโดยปริยายทันที” อาจารย์วรศักดิ์ วิเคราะห์บนฐานข้อมูลที่ยังไม่มีการจับกุมผู้ต้องหารายแรกได้
อย่างไรก็ตาม ถามว่าศักยภาพทั้งกลุ่มเติร์กหรืออุยกูร์ มีมากน้อยแค่ไหนค่อนข้างมีรายละเอียดซับซ้อน เพราะคำว่า “เติร์ก” สามารถบอกได้ว่าจะอยู่ที่ตุรกีก็ได้ อยู่ในคาซัคสถานก็ได้ อุซเบกิสถานก็ได้ หรืออยู่ในจีนก็ได้ แต่ล้วนเป็นชนชาติเติร์ก
“แต่ถ้าเป็นอนุชนชาติเติร์กในซินเจียง ในที่นี้จีนหมายถึงกลุ่มอุยกูร์ ซึ่งแท้จริงแล้วควรใช้คำว่า เติร์ก เพราะถือเป็นคำเรียกที่เป็นกลางแก่ชนชาตินี้มากที่สุด แต่คนทั่วโลกในแง่มานุษยวิทยา เรียกกันว่า เติร์ก ฉะนั้นถ้าเติร์กที่ไหนก็แล้วแต่ที่ก่อเหตุที่ราชประสงค์ ผมถามกลับว่าเกิดผลดีในระยะยาวหรือไม่
“ไม่ว่าจะลงมือทำด้วยเจตนาเชิงอุดมการณ์ หรือต้องการอิสรเสรี หรืออยากทำเพื่อความสะใจ ก็ล้วนแล้วแต่ผลักให้รัฐบาลไทยเป็นศัตรูต่อผู้ก่อการร้ายทั้งนั้น ไม่ว่าทั้งเติร์กหรืออุยกูร์ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่จะยอมต่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายทำลายประเทศตัวเอง โดยที่ประเทศตัวเองไม่ได้ไปร่วมสนับสนุนสู้รบกับกลุ่มคนเหล่านี้เลย
“สรุปง่ายๆ ถ้าเติร์กกระทำการครั้งนี้จริง จนวันหนึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกมาประกาศว่า กลุ่มเติร์กหรืออุยกูร์ก่อเหตุที่ราชประสงค์ คราวนี้คนไทยทั้งประเทศพอได้ยินคำว่าเติร์กหรืออุยกูร์ จะพูดเหมือนกัน คือ ไม่เอาแล้ว และรัฐบาลไทยสามารถประกาศได้เลยว่า ถ้ามีชนชาติเหล่านี้เข้ามาจะไม่รับเข้าประเทศ เพราะคนเหล่านี้มาวางระเบิดในประเทศไทย
อาจารย์จุฬาฯ อธิบายว่า แนวรบหรือแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มเติร์กในซินเจียง ประเทศจีน ลักษณะการก่อเหตุของกลุ่มคนเหล่านี้น่ากลัวมาก ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ สามารถรวบรวมมวลชนได้จำนวนมาก โดยแต่ละคนมีจิตใจกล้าหาญมาก กล้าบุกโจมตีโรงพักของตำรวจจีน
“เป็นการต่อสู้แบบเผชิญหน้ายิงใส่กันเลย คือหมายความว่า กล้าไปตายไม่เสียดายชีวิต จะพบว่าพฤติกรรมก่อการแบบนี้ไม่ค่อยพบในประเทศมุสลิมอื่นๆ คือ สู้กันแบบซึ่งๆ หน้าไม่เสียดายชีวิต ซึ่งจะเห็นว่าพฤติกรรมแบบนี้ในประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่มีการก่อการร้ายก็ไม่กล้ากระทำแบบนี้ แม้แต่ในยุโรปหรือสหรัฐ ที่เป็นกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเข้าไปก็ไม่กล้าบุกไปทำลายหรือโจมตีสถานที่ราชการ
“อีกเรื่องคือ กลุ่มคนเหล่านี้เวลาคนจีนเผลอจะใช้อาวุธที่เป็นมีดดาบเท่าที่จะหาได้โจมตีจะไปฆ่าฟันคนจีนในที่สาธารณะ เช่น เหตุการณ์ที่สถานีรถไฟคุนหมิง มีคนตายนับสิบๆ ศพ ฆ่ากันแบบเห็นๆ แต่เมื่อถูกฆ่าหรือวิสามัญฆาตกรรมแล้วจึงรู้ว่าเป็นกลุ่มเติร์กอุยกูร์ การเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ
“แต่หากเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือว่าไทยเป็นประเทศแรกที่มีการเคลื่อนไหวนอกประเทศของอุยกูร์ แต่มีข้อยกเว้นหากจะมีกลุ่มเติร์กอุยกูร์หัวรุนแรงทำจริง ก็จะเป็นกลุ่มอุยกูร์ที่อยู่กับกลุ่มไอเอส เพราะทราบดีว่ากลุ่มไอเอสใช้ความรุนแรงแบบไหนอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ยอมรับว่ามีกลุ่มอุยกูร์บางส่วนไปอยู่กับกลุ่มไอเอสแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศตัวเป็นทางการเท่านั้นเอง”
ย้ำว่า เป็นการวิเคราะห์บนฐานข้อมูลที่ยังคลุมเครือหลังเกิดเหตุ แต่เมื่อการสืบสวนสอบสวนคดีระเบิดท้าวมหาพรหมคืบหน้าไปมากหลังจากวันที่เราสัมภาษณ์ จึงได้มีการอัพเดทสถานการณ์เพิ่มเติมกับวรศักดิ์ โดยอาจารย์ บอกว่า ในแง่ชาติพันธุ์ถือว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกออกหมายจับจำนวนหนึ่งมีเชื้อชาติเติร์ก ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นคนสัญชาติใด
จากพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ได้มา มีความชัดเจนมากขึ้นว่า กลุ่มผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การลงมือก่อเหตุเพราะต้องการล้างแค้นหรือทำไปเพื่อความสะใจ เนื่องจากถูกขัดขวางผลประโยชน์จากการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ และก็อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มนี้ไม่ใช่การก่อการร้ายข้ามชาติ แต่เป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่ถูกสกัดกั้น ซึ่งอาจมีการทำกันมานานก่อนหน้านี้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่จับไม่ได้
ทั้งหมดทั้งมวลต้องติดตามผลการสอบสวนต่อไปว่า ท้ายที่สุดเติร์กกลุ่มนี้ลงมือก่อเหตุเพราะอะไร และคนไทยที่ร่วมขบวนการด้วยเกี่ยวข้องด้วยเหตุผลใด