posttoday

"วิษณุ" แจงนักการเมือง-องค์กรอิสระนั่งกก.ร่างฯไม่ได้

08 กันยายน 2558

"วิษณุ" แจงนักการเมือง-องค์กรอิสระ นั่งกรรมการร่างฯไม่ได้ รับหาคนยาก เหตุกลัวคว่ำซ้ำสอง ยกย่อง"บวรศักดิ์" ยิ้มได้เมื่อภัยมา

"วิษณุ" แจงนักการเมือง-องค์กรอิสระ นั่งกรรมการร่างฯไม่ได้ รับหาคนยาก เหตุกลัวคว่ำซ้ำสอง ยกย่อง"บวรศักดิ์" ยิ้มได้เมื่อภัยมา

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการสรรหากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 21 คน จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมหรือไม่ ว่า ในกติกาไม่มีการกำหนดไว้ จะเป็นฝ่ายใดก็ไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติจริงเห็นสมควรว่ามีหรือไม่ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับคสช. ถึงแม้ว่าจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาก็ต้องมีปัญหาอยู่ดี เพราะเราไม่สามารถเอามาทุกฝ่ายได้ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการยกร่างไว้แล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของกมธ.ชุดที่แล้ว และที่ระบุว่าจะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองย้อนหลัง 3 ปี จึงต้องพิจารณาในส่วนนี้ก่อน

เมื่อถามว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสปช. ที่ผ่านมา จะเป็นอุปสรรคในการชักชวนใครเข้ามาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่หรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการทุกคณะก็ระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย และจะยากกว่าการหากรรมาธิการ 36 คน เพราะตอนนั้นเป็นการเข้ามาทำงานใหม่ยังไม่เห็นถึงปัญหา แต่คราวนี้มีเดิมพัน เพราะได้เห็นว่ามีการคว่ำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาก็ต้องคิดว่าหากทำแล้วต้องทำให้ดีและต้องไม่ล้ม ถือเป็นความรู้สึกกดดันอยู่ จึงทำให้หาคนมาร่วมยาก แต่ขอให้เชื่อว่าสามารถหาได้ ซึ่งอาจมีบางคนที่ได้ปฏิเสธจากคราวที่แล้วอาจจะรับในคราวนี้ก็ได้ เพราะข้อขัดข้องที่เคยมีอาจหมดไปแล้ว อีกทั้งคนในองค์กรอิสระจะมาเป็นคณะกรรมการยกร่างฯ ในขณะเดียวกันไม่ได้ ยกเว้นลาออกแล้วมาเป็น

เมื่อถามว่าได้มีการปลอบใจนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ. ยกร่างฯ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "เมื่อวานก็ได้ประชุมร่วมกฤษฎีกาคณะเดียวกับนายบวรศักดิ์ ก็ไม่เห็นว่าท่านจะเฮิร์ทอะไร ผมยังขอพระท่าน ท่านยังบอกว่าแจกหมดแล้ว คนที่มีความสามารถยิ้มได้เมื่อภัยมา คือคนที่ควรยกย่อง เหมือนเพลงยิ้มได้เมื่อภัยมาในทุกสถานการณ์ ถึงจะยิ้มแหยๆ ช่างเถอะ ก็ขอให้ยิ้ม"

เมื่อถามว่า การที่สปช. หมดวาระไปแสดงว่าผลงานที่ทำมาไม่ได้เป็นที่ยอมรับใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเรียกว่าไม่ยอมรับ แต่อะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนกติกาไว้ และมีการลงมติหมายความว่าจะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่เมื่อผลออกมาไม่รับจะบอกว่าไม่เป็นที่ยอมรับก็ไม่ใช่ และผลงานจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นเรื่องของสังคม แต่เสียงโหวตเป็นเรื่องนิตินัย ซึ่งกมธ.ชุดเดิมและตนไม่ถือว่าผลงานดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะกรรมการชุดใหม่อาจจะหยิบยกจากชุดเดิมมาใช้ประโยชน์ได้