posttoday

ฏีกาแก้โทษคุก2ปี1เดือน"หมูแฮม"ขับรถชนคนตาย

18 กันยายน 2558

ศาลฎีกา พิพากษาแก้ จำคุก "หมูแฮม" 2 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ขับรถชนคนตาย เมื่อปี 50

ศาลฎีกา พิพากษาแก้ จำคุก "หมูแฮม" 2 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา ขับรถชนคนตาย  เมื่อปี 50

วันที่ 18 ก.ย. ศาลพระโขนง นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีอัยการฝ่ายคดีศาลจังหวัดพระโขนง นายมาโนจน์ หรือธนชรพล โตจวง, นางสาวสังวาล สีหะวงษ์ , นางสาวสุชีรา อินทร์สุวรรณ์ นางทองดำ หลวงแสง เป็นโจทก์ร่วมที่ 1-4 ร่วมกันฟ้องนายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือหมูแฮม อายุ 25 ปี ขณะนั้น บุตรชายนายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ กับนางสาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทยปี 2527 เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น และทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้อันตรายแก่กาย หลังก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ขับรถชนคนบนทางเท้า และชนนางสายชล หลวงแสง พนักงานการเงิน ขสมก.เสียชีวิต เมื่อ 4 ก.ค. ปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งนายหมูแฮมได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายไปจนเป็นที่พอใจแล้ว

แต่นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายโจทก์ร่วมที่ 3 บุตรของนางสายชล ยื่นฎีกาไว้โดยศาลเห็นว่า จากผลการตรวจสอบจากทีมแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เชื่อได้ว่า โจทย์มีอาการป่วยด้วยโรค สภาพจิตแปรปรวน มีปัญหาด้านการตัดสินใจจริง แต่การที่ให้รอลงอาญาศาลพิเคราะห์ จากสภาพแวดล้อมเห็นว่าก่อนเกิดเหตุโจทย์ยังมีการเสพยาตามรายงานประวัติของแพทย์โจทย์เสพยาเสพติดหลายชนิดตั้งแต่อายุ 17 ปี ประกอบกับบิดายังให้โจทย์ขับรถ จึงถือเป็นพฤติกรรมร้ายแรง พิพากษาแก้ไม่เห็นด้วยที่ศาลอุทรณ์ให้รอลงอาญาจำคุก 2 ปี ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแต่มีจิตบกพร่อง จึงแก้เป็นไม่รอลงอาญา ส่วนทำร้ายร่างกายไม่มีการยื่นฎีกา รับโทษตามเดิม คือ 1 เดือน พร้อมยกเลิกการคุมประพฤติของโจทก์ รวมจำคุก 2 ปี 1 เดือน

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นในขณะไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง เห็นควรให้จำคุกจำเลย 3 ปี และเมื่อจำเลยได้บรรเทาผลร้าย โดยชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บ 3 ราย จนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่ง และคดีอาญากับจำเลยต่อไป จึงเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อรวมโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น อีก 1 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลย รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี พร้อมให้จำเลยไปรักษาความบกพร่องทางจิตเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติทุกครั้งตลอดระยะเวลาของการรอลงอาญา

นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายโจทก์ร่วมที่ 3 กล่าวว่า คดีนี้เกิดเมื่อ 2550 วันนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทรณ์ จำคุก2ปี 1เดือนโดยให้เหตุผลว่า มีพฤติกรรมไม่ควรรอลงอาญา ซึ่งคดีนี้ถือว่าถึงที่สุดแล้ว หลังจากนี้ก็ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล และขอให้ทั้ง2ฝ่าย อโหสิกรรมให้กัน และในฐานะทนายความ พอใจกับคำพิพากษาของศาลวันนี้

ด้านนาสาวสุชีรา อินทร์สุวรรณ์ กล่าวด้วยความรู้สึกภูมิใจที่ต่อสู้กับเรื่องนี้มานาน และทำได้เท่าที่ในฐานะที่ลูกคนนี้จะทำให้คนเป็นแม่ได้