บุกรุกสุสาน "ชาวเล" แผ่นดินผืนงามแห่งสุดท้าย

21 กันยายน 2558

ความเป็นมิตรต่อโลกกลายมาเป็นความเปราะบาง เปิดช่องให้ “นายทุน” รุกไล่อย่างอำมหิต

โดย... ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ความเจ็บช้ำเกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในฐานะผู้ถูกกระทำโดยมิอาจแข็งขืน ทุกวันนี้เหลือพื้นที่ให้ “ชาวเล” หยัดอยู่น้อยเต็มที

ชะตากรรมกลางสายธารอันเชี่ยวกราก ฉายภาพผ่านการรุกคืบของ “ทุน” ส่งผลให้ “ชาวเล” สิ้นสูญวิถีชีวิต

เพียงแค่ที่ดินสร้าง “สุสาน” ฝังกลบร่างบรรพบุรุษ ยังไม่อาจรักษาไว้ได้

สำหรับ “ชาวเล” แล้ว พื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่าง “สุสาน” มีความหมายทางจิตวิญญาณเป็นอย่างมาก พวกเขานับถือผี นับถือบรรพบุรุษ และเชื่อว่าเมื่อมีผู้เสียชีวิตลงแล้ว ต้องฝังร่างในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกปิดกั้นด้วยกำแพงหรือรั้ว มิเช่นนั้นวิญญาณจะไม่เป็นอิสระ

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อฝังแล้วห้ามรบกวนหรือเคลื่อนย้ายโดยเด็ดขาด

ทว่า กลับยังมีความพยายามของผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการส่วนกลาง รวมถึงกลุ่มทุนในพื้นที่ ที่ต้องการเข้ามาจัดการพื้นที่สุสานใหม่ โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อ-ความศรัทธาดั่งเดิม ล่าสุดที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ถึงขั้นขุดกระดูก-ย้ายสุสานล้างป่าช้า โดยไม่มีการบอกกล่าวญาติแต่อย่างใด

“เขาอยากจะขุดก็ขุดเลย ไม่เคยบอกล่วงหน้า เราก็ได้แต่เจ็บช้ำ ไม่น่าเกิดมาเป็นชาวเลเลย”

ปัจจุบันสามารถแบ่ง “ชาวเล” ออกเป็น 3 กลุ่มชาติพันธุ์ 1.มอแกน 2.มอแกลน 3.อูรักลาโว้ย ทั้งสามกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ในวิถีความเป็นอยู่หลักๆ คล้ายคลึงกัน

“มอแกน” มีถิ่นที่อยู่ริมชายฝั่งบนเกาะทั้งหมด อาทิ หมู่เกาะพระทอง-หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เกาะสินไห เกาะเหลา จ.ระนอง ส่วน “มอแกลน” จะอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน ในหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะเหลา จ.ระนอง และ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขณะที่ “อูรักลาโว้ย” จะอยู่ติดทะเล ทั้งเกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง จ.สตูล เกาะลันตา เกาะพีพี จ.กระบี่ และ 3 ชุมชน ใน จ.ภูเก็ต ได้แก่ ราไวย์ แหลมตุ๊กแก และสะปำ

ธรรมชาติของ “ชาวเล” กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ชีวิตผูกติดกับน้ำ ดำรงอยู่ด้วยภาวะพึ่งพิงสิ่งแวดล้อม-พึ่งพาตัวเอง ไม่สะสมทรัพย์ ไม่นิยมครอบครองหรือเป็นเจ้าของวัตถุ

ความเป็นมิตรต่อโลกกลายมาเป็นความเปราะบาง เปิดช่องให้ “นายทุน” รุกไล่อย่างอำมหิต

“สุสานชาวเลคือผืนดินผืนสุดท้ายที่เป็นพื้นที่ป่าสวยงามและว่างอยู่ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณชายหาด ริมทะเล มีราคาแพง ขณะที่ตัวของชาวเลเองเข้าไม่ถึงสิทธิ มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่มีโอกาสหรือกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินที่ตัวเองตั้งรกรากอยู่กันมาอย่างยาวนาน นั่นทำให้ง่ายต่อการบุกรุก” วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานสภาชาติพันธุ์ชาวเล และเครือข่ายชาวเลอันดามัน ระบุ

วิทวัส อธิบายอีกว่า แม้ว่ากลุ่มชาวเลจะถูกบุกรุกแต่เขาเหล่านั้นเลือกที่จะเงียบ นั่นเพราะประสบการณ์ในอดีตสั่งสมมาว่า การเรียกร้องความยุติธรรมต้องเดิมพันสูงด้วยชีวิต มีหลายกรณีที่ชาวเลถูกยิงตายโดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้

ความต้องการที่แท้จริงของชาวเล ประการแรกคืออยากให้พื้นที่สุสานมีสภาพเป็นป่าเหมือนเดิม ไม่ใช่ถูกนำไปดัดแปลงเพื่อวัตถุประสงค์อื่นเหมือนที่มีความพยายามอยู่ เช่น การท่องเที่ยว นอกจากนี้ไม่ต้องการให้มีการล้อมรั้วหรือสร้างกำแพงกั้นอาณาเขตสุสาน เพราะขัดต่อความเชื่อ และสุดท้ายคืออยากมีคณะกรรมการชาวเลระดับจังหวัดทำหน้าที่ดูแลสุสาน

บุกรุกสุสาน \"ชาวเล\" แผ่นดินผืนงามแห่งสุดท้าย พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมการบุกรุกที่ดินชาวเลทั่วทั้งประเทศรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี นำโดย พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานฯ ลงพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.พังงา ติดตามปัญหาการบุกรุกเขตพื้นที่สุสานชาวเล ตามข้อร้องเรียนกว่า 15 เรื่อง

“ปัญหาคือสุสานชาวเลมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน และการพัฒนาก็รุกคืบทุกวันจนทำให้ที่ดินมีราคาแพง จึงเกิดการบุกรุกทุกๆ แห่ง ไม่เว้นแม้แต่ที่สุสาน ในขณะที่พวกเขาก็ถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามมาโดยตลอด” พล.อ.สุรินทร์ ระบุ

สิ่งที่คณะกรรมการฯ ตรวจพบก็คือเจตนาการบุกรุกสุสานชาวเลอย่างชัดเจน “พล.อ.สุรินทร์” จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูล สารบบ รกราก ประวัติศาสตร์ ขอบเขตพื้นที่ และจัดทำประวัติชุมชนให้แล้วเสร็จ และให้เรียกเอกสาร-โฉนด ของผู้ที่ถือครองที่ดินมาตรวจสอบ โดยให้ส่งเรื่องกลับมายังคณะกรรมการฯ ภายใน 15 วัน

Thailand Web Stat