เปิดเหมืองทองกระทบ "ชาวกรุง"
เอ็นจีโอ-นักวิชาการรุมค้านปล่อยผีอาชญาบัตร
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดเสวนาหัวข้อ “จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ” เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายขยายพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษของ จ.เลย และ จ.พิจิตร เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
“อำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลก กำลังจะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากการขยายเขตเหมืองแร่มาจากอำเภอเขาเจ็ดยอด จ.พิจิตร แม้ในวันนี้จะยังไม่มีการขยายเขตเหมืองแร่เพิ่มเติม แต่แนวเขตเหมืองเดิมก็อยู่ประชิดแหล่งน้ำอยู่แล้ว ทุกวันนี้มีชาวบ้านเจ็บป่วยไม่ต่ำกว่า 2,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าชาวเนินมะปรางจะสามารถคัดค้านหรือต่อสู้ได้ถึงไหน แต่ขอยืนยันที่จะสู้อย่างแน่นอน”
นี่คือความเห็นของหนึ่งในตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่สะท้อนข้อเท็จจริงด้วยน้ำเสียงคับแค้น
เวทีเสวนาดังกล่าวถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งก่อนจัดงานเพียง 1 วันมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงประสานมาเพื่อให้ผู้จัดขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน ขณะที่วันงานก็ยังมีเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้ามาสังเกตการณ์ด้วย ทว่าชาวบ้านอุดรธานี ซึ่งมีประสบการณ์ต่อสู้ร่วมหัวจมท้ายกับชาวบ้าน จ.เลย ก็ยืนยันที่จะลุกขึ้นพูดในฐานะราษฏรเต็มขั้น โดยไม่เกรงกลัว
คำถามที่ถูกตั้งขึ้นต่อเวทีเสวนาคือ รัฐบาลเข้ามาเพื่อคืนความสุขหรือคืนความตายให้กับประชาชนกันแน
สมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ฉายภาพผลกระทบเหมืองแร่ทองคำต่อคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายหลังมีความพยายามขออนุมัติอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ใน จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.สระแก้ว รวมพื้นที่ร่วมๆ 2.5 แสนไร่ ให้ฟังว่า
“จันทบุรีเป็นพื้นที่ต้นน้ำแห่งสุดท้ายของภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง และเป็นแหล่งเกษตรชั้นเลิศ ในอนาคตหากมีการทำเหมืองแล้วเกิดโลหะหนักรั่วไหล แน่นอนว่าพื้นที่เกษตรเหล่านั้นย่อมมีโอกาสปนเปื้อน ยกตัวอย่างแค่เห็ดฟางเพียงอย่างเดียว ผลผลิตจากจันทบุรีถูกส่งให้ทั้งโลตัส เอ็มเค การบินไทย เอสแอนด์พี หรือแม้แต่ตลาดไท นั่นหมายความว่าคนกรุงจะเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน ยังไม่นับปลาจากแม่น้ำบางปะกงที่กระจายไปในหลายพื้นที่ หรือมะม่วงที่เราส่งออกทั้งญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ฉะนั้นเรื่องเหมืองทองคำเป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่แค่หมู่บ้านหรือตำบลเดียว”
ที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อนตะวันออกยังตั้งคำถามว่า จ.จันทบุรี เพียงจังหวัดเดียวมีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรถึงปีละ 8 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่าอีก 100 ปี พื้นที่แห่งนี้จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 80 ล้านล้านบาท และเงินเหล่านั้นก็จะกระจายไปยังเกษตรกรทั่วทั้งจ.จันทบุรี แต่ทั้งหมดนี้กำลังจะถูกทำลายไปกับการทำเหมืองเพียงครั้งเดียว รวมถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับทรัพยากร เพราะต้องระเบิดหินถึง 1 ตัน เพื่อให้ได้ทองคำเพียง 0.5-0.8 กรัม ถามว่าคุ้มค่าจริงหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ก็มีความพยายามขออาชญาบัตรสำรวจแร่กว่า 1 แสนไร่
สอดคล้องกับ หาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสิ่งแวดล้อม บอกว่า ข้อบกพร่องของการออกอาชญาบัตรพิเศษคือยกพื้นที่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทแรกที่เข้าไปสำรวจ นั่นจึงทำให้มีความพยายามเร่งรีบในการขอจับจองพื้นที่กัน
“ในขณะที่ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากภาษีและค่าภาคหลวงน้อยมาก แต่รัฐบาลกลับให้บีโอไอ (ส่งเสริมการลงทุน) กับต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนทำเหมืองทอง นั่นเหมือนกับว่าเรากำลังยกทองคำและทรัพยากรของชาติให้กับชาวต่างชาติ หากรัฐบาลยกเลิกนโยบายบีโอไอ ประเทศไทยจะได้เงินเพิ่มไม่ต่ำกว่า 3,700 ล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าถ้าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี หรือยังมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับต่างชาติ ก็ควรหยุดโครงการเหมืองทองคำเอาไว้ก่อน เพราะทองคำที่อยู่ใต้ดินสามารถเก็บไว้ได้ ไม่เน่าไม่บูด” นักเคลื่อนไหวรายนี้ พูดชัด
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่า พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา อนุญาตให้สามารถขอสำรวจแร่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้ทั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ และแม้ในทางทฤษฏีการเปิดให้สำรวจแร่จะไม่สร้างความเสียหายมากนัก แต่กฎหมายฉบับใหม่กลับเปิดช่องให้ รมว.อุตสาหกรรม มีอำนาจประสานขอใช้พื้นที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขออาชญาบัตรให้กับบริษัทเอกชน
“ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลและถือเป็นการรุกกลับของฝ่ายเหมืองแร่”
ศศิน กล่าวอีกว่า ไม่ต่ำกว่า 70-80% ของทองคำอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และหากตีความกฎหมายป่าสงวนจะพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์และถูกสงวนไว้เพื่อรอการขออนุญาติใช้ประโยชน์ เพราะหากต้องการอนุรักษ์จริงจะต้องประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแทน
“ปัญหาทุกวันนี้คือความเดือดร้อนจากเหมืองแร่จะเกิดขึ้นกับชุมชนหรือหมู่บ้าน ในขณะที่กฎหมายกลับกำหนดให้ทำประชาคมในระดับตำบลหรือ อบต. ข้อเท็จจริงหรือเหมืองมักจะเสนอประโยชน์ให้กับ อบต.จนไม่อาจปฏิเสธได้ และชุมชนหรือหมู่บ้านก็จะแพ้โหวตในขั้นตอนของ อบต.โดยตลอด”
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้มองว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกให้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตบอร์ดบริษัทอัครา รีซอร์สเซส มาเป็น รมว.อุตสาหกรรม สะท้อนทัศนะของรัฐบาลชัดเจนว่าจะเดินหน้าเหมืองทองคำ และไม่แน่ใจว่าก่อนนายเหมืองจะออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ได้เซ็นประทานบัตรไปแล้วกี่แปลง
“หากรัฐบาลยังไม่มีศักยภาพพอหรือยังไม่มีความพร้อมที่จะควบคุมกิจการให้ดำเนินไปตามมาตรการอีไอเอ (รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ก็ไม่ควรเปิดเหมืองแร่เพิ่ม และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรมีความชัดเจนว่าจะไม่ไปยุ่งกับพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่”ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าว
สำหรับ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาขอความเห็นประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา และส่งกลับมายัง ครม.อีกครั้ง เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา.