posttoday

"บางกระเจ้า"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน

12 ตุลาคม 2558

อะไรคือทางออกของเกาะบางกระเจ้าที่จะทำให้ชาวบ้านแฮปปี้่ นักขี่จักรยานก็มีความสุข

เรื่อง...ศศิธร จำปาเทศ

หลายปีมานี้หลายคนคงคุ้นหูกับ "บางกระเจ้า" พื้นที่สีเขียวกว่า 1.2 หมื่นไร่อันโอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในฐานะแหล่งโอโซนติดอันดับต้นๆของเอเชีย และสถานพักผ่อนหย่อนใจใกล้กรุง ด้วยถ้อยคำร่ำลือเกี่ยวกับอากาศบริสุทธิ์และบรรยากาศนี้เอง ทำให้บางกระเจ้ากลายเป็นจุดหมายปลายทางของคนนอก ทั้งนักท่องเที่ยวและเศรษฐีที่มากว้านซื้อที่ดินไปทำรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศ

วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา หลังบ้านของพวกเขากลายสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

หรือวิถีชีวิตดั้งเดิมได้เลือนหายไปแล้ว? 

วิถีบางกระเจ้า

ชายสูงวัยผมสีขาวแซมดำวัย 63 ปี ที่ชาวบางกระเจ้าเรียกว่า น้าหมาน-สมาน เสถียรบุตร รองประธานกลุ่มรักษ์คุ้งบางกระเจ้า เขาเกิดและเติบโตบนพื้นที่ 4 ไร่ มรดกตกทอดตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ครอบครัวทำสวนผลไม้ เช่นเดียวกับชาวบ้านใกล้เรือนเคียง

“เมื่อก่อนชาวบ้านทำสวนผลไม้กันหมด มีกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะพร้าวน้ำหอม พอประสบกับปัญหาแร่ธาตุในดินหายไปจากการสร้างเขื่อนชัยนาทและเขื่อนภูมิพล น้ำขึ้นน้ำลงไม่ปกติ ทำให้ต้นไม้ตาย ส่วนส้มเขียวหวานก็ย้ายไปปลูกแถวบางมด ส้มโอก็ไปปลูกนครชัยศรี ผมเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของบางกระเจ้าและเพื่อนบ้านที่ทยอยขายที่ดินของตัวเอง เขาคงมีความจำเป็น และเราก็ห้ามไม่ได้ ภาพวิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำสวนผลไม้อีกแล้ว"

เรื่องราวข้างต้นทำให้เด็กหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง อุ้ม-จักรพันธ์ ตรวจมรคา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์คุ้งบางกระเจ้า รู้สึกตกใจไม่น้อย อุ้มเป็นคนบางกระเจ้าแท้ๆ แต่วันนี้่เขาเริ่มสงสัยว่า ต้นไม้สูงใหญ่ที่เคยยืนเรียงรายให้ความเขียวขจียามปั่นจักรยานผ่านมันหายไปไหน บ้านหลังใหม่ๆสวยๆค่อยๆผุดขึ้นแทนที่ ยังไม่นับป้ายประกาศขายที่ดินเยอะแยะเต็มไปหมด

"ที่ดินริมน้ำขายแปลงละ 25 ล้าน ธุรกิจกระจายตัวเร็วมาก เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เราคิดว่ามันน่าจะมีกระบวนการที่ทำให้คนดังเดิมมีชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายด้วย ถ้าไม่อนุรักษ์และพัฒนาอย่างเหมาะสมมันจะอยู่ไม่ได้ สุดท้ายไม่ต่างจากกรุงเทพ"

นักอนุรักษ์หนุ่มคนนี้บอกว่า บางกระเจ้ามีแนวโน้มไม่ต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยมแห่งอื่นๆ มาเร็วไปเร็ว สุดท้ายพื้นที่สีเขียวกลายเป็นซากร้านค้าที่ไม่มีใครอยากมาเที่ยว

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน บรรยากาศบ้านสวนชุมชนบางกระเจ้า

 

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน ป้ายประกาศขายที่ดินที่มีให้เห็นตามท้องถนน

ปอดคนกรุงและเมืองจักรยาน

20 ปีก่อน พื้นที่บนเกาะบางกระเจ้าถูกทิ้งร้างหลังประกาศเวนคืนตามนโยบายให้เป็น "ปอดของคนกุรงเทพ" ก่อให้เกิดคำถามต่อชาวบ้านในพื้นที่ว่า ทำไมบ้านเขาต้องเป็นปอดให้กับคนกรุงเทพด้วย?

เปรมปรีย์ ไตรรัตน์ ประธานป่าชุมชนสวนป่าเกดน้อมเกล้า จึงมีแนวคิดว่าอยากจะพัฒนาพื้นที่ป่ารกร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างจริงจัง จึงขออนุญาตพื้นที่ราชพัสดุให้ชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาป่าได้ ในที่สุดก็ได้พื้นที่มาทั้งหมด 75 ไร่ สามารถแก้ปัญหาให้ชุมชนเป็นหมู่บ้านที่สะอาดน่าอยู่ และบางกระเจ้าก็ได้กลายมาเป็นปอดและพื้นที่ปั่นจักรยานสำหรับคนกรุงเทพ

"แต่เราจะทำอย่างไรให้จักรยานเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับบางกระเจ้าจริงๆ และทุกคนมีความเข้าใจเข้าใจที่สมดุลร่วมกันในทุกๆ ด้าน ทั้งคนภานนอกและคนในพื้นที่ ถ้ามีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่อยากให้เกิดขึ้นโดยใช้จักรยานเป็นสื่อ ป่าที่เราตั้งใจทำจะไม่หยุดนิ่งเพราะอย่างน้อยก็มีคนผลัดเปลี่ยนมาชมธรรมชาติ และจักรยานก็เป็นพาหนะที่เหมาะกับสภาพของบางกระเจ้าอยู่แล้ว"

จักรพันธ์  ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์คุ้งบางกระเจ้า เล่าต่อว่า กระแสจักรยานกำลังมาแรง พื้นที่ของบางกระเจ้าคือสวรรค์ของคนปั่นจักรยาน เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพ เดินทางสะดวก พื้นที่ส่วนใหญ่ง่ายต่อการปั่น เส้นทางจักรยานเล็กๆขนาบไปด้วยต้นไม้ปกคลุมสลับกับบ้านเรือน เวลาปั่นเหมือนมีธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่สองข้างทาง ซึ่งหาได้ยากมาก

"ปัญหาในปัจจุบันคือ ทางเล็กๆที่เป็นจุดขายเหล่านี้เป็นความต้องการของคนข้างนอกที่โหยหาความสงบ โหยหาธรรมชาติ แม้จะสร้างรายได้เพิ่มให้กับหลายครอบครัวในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่มีตลาดนัดบางน้ำผึ้ง แต่ก็ตามมาด้วยปัญหารถติดในชุมชนและพื้นที่บางส่วนถูกถางโล่งให้กลายเป็นพื้นที่จอดรถ จนคนในพื้นที่เกิดความรู้สึกว่า ทำไมต้องสละความสะดวกของตัวเองให้เป็นปอดให้กับคนกรุงเทพด้วย แผนที่ต่างๆ ยังไม่มีการเชื่อมโยงกัน ธุรกิจให้เช่าจักรยานก็ต่างคนต่างทำ ไกด์นำจักรยานนำทางส่วนใหญ่เป็นคนนอก พอมาปั่นแล้วคนในพื้นที่ได้อะไร รายได้ก็ออกไปข้างนอกไม่ได้หมุนเวียนในชุมชน คนในพื้นที่เต็มใจให้คุณมาปั่นหรือเปล่า เพราะบางครั้งก็มาปั่นกันดึกๆ ทำให้เขารู้สึกว่าความปลอดภัยในบ้านตัวเองน้อยลง ขณะเดียวกันคนที่ปั่นจักรยานก็รู้สึกว่าฉันจะโดนปล้นไหม"

สมานมองว่า การปั่นจักรยานเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ได้พบปะผู้คนและออกกำลังกาย แต่ด้านสิ่งแวดล้อมเราก็ต้องตั้งกลุ่มมาอนุรักษ์กัน เพราะทุกวันนี้มีคนภายนอกเข้ามาซื้อที่ดิน ตัดต้นไม้ถมที่ มันทำให้ระบบนิเวศเสียหาย

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน ทางจักรยานอันคุ้นเคยของนักปั่น

 

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน ตลาดบางน้ำผึ้งเลื่องชื่อ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในวันหยุด

 

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน การจราจรติดขัดบนถนนสายเล็กๆ

ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

กลุ่มรักษ์คุ้งบางกระเจ้าก่อตั้งขึ้นจากสมาชิกทั้ง 6 ตำบล ประกอบด้วยบางกระเจ้า บางน้ำผึ้ง บางกอบัว บางกระสอบ บางยอ และทรงคนอง ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการร่วมกันหาทางออกว่า ทางจักรยานควรจะมีบริการหรือความปลอดภัยอย่างไร เจ้าของพื้นที่ควรจะมีการพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง จะทำอย่างไรให้คนมาปั่นจักรยานรู้คุณค่าของบางกระเจ้า ไม่ใช่มาปั่นเฉยๆ

วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้ประสานงานแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนเพื่อป่า หรือรีคอฟ เสนอว่า ควรระดมผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ชาวบ้านเป็นผู้ออกแบบ เพื่อศึกษาศักยภาพและความพร้อม ทำให้สังคมตระหนักถึงบทบาทของชุมชนที่มีส่วนสำคัญในการดูแลปกป้องป่าไม้ พร้อมหาแนวทางสร้างสรรค์ เพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน

อุ้ม จักรพันธ์ สรุปว่า บางกระเจ้าไม่ใช่เป็นแค่ของคนบางกระเจ้าเท่านั้น แต่เป็นของคนไทยทั้งประเทศ พื้นที่สีเขียวแห่งนี้มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ถ้ายอมรับให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในจัดการพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้า ชาวบ้านก็จะนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศด้วย 

"หัวใจของบางกะเจ้าคือการที่ชาวบ้านเข้มแข็งลุกขึ้นมาต่อสู้ ดูแลป่าชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองให้เข้าใจว่ามีทั้งปัญหาและอุปสรรคที่ต้องการความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้ชาวบ้าน สามารถดูแลตัวเองได้ และหวังว่ารูปแบบการจัดการพื้นที่สีเขียวร่วมกันของทุกฝ่ายดังเช่นที่สวนป่าเกดน้อมเกล้าจะได้นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในพื้นที่อื่น ๆ ของบางกะเจ้าด้วย การบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้า คนข้างในควรต้องอิ่มด้วย เค้าจะได้มีอนาคตร่วมกับไปกับการอนุรักษ์ ทุกวันนี้หน่วยงานรัฐ อาจจะยังไม่กล้าเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนช่วยดูแล แต่หากทุกฝ่ายยื่นมือเข้ามา เรื่องพื้นที่สวนและป่าก็จะสามารถจัดการและตกลงกันได้ พื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้าก็จะเป็นพื้นที่ที่จับต้องได้ และอยู่ได้จริง"

ขณะที่ นิวัฒน์ อนันตริยะเวช แอดมินเพจเฟซบุ๊กสะดุดตาดอทคอม สังคมออนไลน์ที่มีสมาชิกนักท่องเที่ยว และช่างภาพที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การท่องเที่ยว ลงความเห็นว่า บางกระเจ้ามีศักยภาพในเชิงภูมิศาสตร์สูงมาก เหมาะสมในการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวนิยมปั่นจักรยานชมธรรมชาติ

แต่สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด คือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต้องรักษาไว้ พร้อมกับจัดระเบียบให้สมดุลกับการพัฒนาในอนาคต วิถีชีวิต และวัฒนธรรมป็นจุดแข็งที่ทำให้ชุมชนท่องเที่ยวท้องถิ่นหลายแห่งอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน

 

\"บางกระเจ้า\"...ในวันที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน จักรพันธ์ ตรวจมครา