posttoday

นักวิชาการค้านแก้กฎหมาย "สสส."

01 พฤศจิกายน 2558

นักวิชาการต้านแก้ กฎหมาย สสส. ชงแค่ปรับกฎหมายลูก หลักการทำงาน โปร่งใสยึดหลักธรรมาภิบาล หนุนภาคีที่เป็นกลาง วิชาการ–ธุรกิจเชิงสังคมร่วมตรวจสอบ

นักวิชาการต้านแก้ กฎหมาย สสส. ชงแค่ปรับกฎหมายลูก หลักการทำงาน โปร่งใสยึดหลักธรรมาภิบาล หนุนภาคีที่เป็นกลาง วิชาการ–ธุรกิจเชิงสังคมร่วมตรวจสอบ

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงกรณีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลเตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เนื่องจากถูก​ตรวจสอบ ไม่พบทุจริต แต่​มีการตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณของ สสส.ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ​ว่า สสส.ถือเป็นองค์กรอิสระ งบประมาณเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารเพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มงวด ซึ่งหมายถึงความอิสระ ต้องคู่กับความรับผิดชอบ และเรื่องธรรมาภิบาลก็เป็นเรื่องใหญ่ หากอิสระแต่ขาดธรรมาภิบาลก็น่ากลัว  ระบบการให้ทุนต้องตรวจสอบ ให้โปร่งใสเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะตลอด ที่ผ่านมาการทำงานของ สสส.สร้างประโยชน์มากมายและเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม                      

“หากมีการปรับแก้เปลี่ยนสถานะเงินทุนเข้าสู่ระบบงบประมาณ​ปกติ​ จะทำลายลดทอนลักษณะเด่นของงานสสส.จึงไม่มีความจำเป็นถึงขั้นไปรื้อกฎหมาย สสส.แค่เพียงปรับปรุงระบบการจัดการ เปิดเผยข้อมูล และสสส.ควรรีบให้ข้อมูลต่อสาธารณะในเรื่องการทำงานเฉพาะด้านว่ามีภาคีใดบ้าง ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้องค์การยูเนสโก ยกย่อง สสส.ว่าเป็นนวัตกรรมการระดมทุนขับเคลื่อนสังคม รวมทั้งเป็นนวัตกรรมทางด้านการเงินที่ดี ให้ประเทศอื่นเป็นแบบอย่างหลายประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆก็อยากเก็บภาษีเรื่องอย่างนี้อยู่แล้วทั้งเหล้าและบุหรี่ ถือเป็นการนำเงิน​จากธุรกิจที่ทำร้ายสังคมกลับมาเยียวยาสังคม เรียกว่าหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง โดยหลักการต้องคงไว้ซึ่งความอิสระ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ไม่ควรลามไปถึงการแก้ไขกฎหมาย”นายอมรวิชช์ กล่าว

ด้าน รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำว่าสุขภาพ ซึ่งโยงกับ​ชีวิตที่เป็นองค์รวม​มีความหมายที่กว้าง ​ไม่ใช่แค่เรื่องหมอ หรือยา ควรใช้โอกาสนี้เชื่อมให้เห็นตรงกัน ไม่ใช่การมุ่งตรงไปที่การแก้ไขกฎหมาย ที่สำคัญต้องเข้าใจร่วมกันว่าการสร้างเสริมสุขภาพ ช่วยสร้างสังคม เป็นการทำงานแบบป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ซึ่งทำงานตั้งแต่ต้นตอต้นทาง ไม่ใช่เกิดแล้วจึงมานั่งรักษา การทำงานแบบป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นพัฒนาการที่ส่งเสริมงอกขึ้น เป็นข้อดีของประเทศชาติ ทั้งเรื่องสุขภาพเรื่องสาธารณสุข แน่นอนว่าหน่วยงานราชการทำได้ แต่อย่าลืมว่า การทำงานของเอ็นจีโอ หรือภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเองก็เป็นส่วนสำคัญ ในการเปิดพื้นที่แก้ปัญหา ซึ่งการทำงานของ สสส.เน้นการทำงานแบบภาคีเครือข่าย รัฐต้องยอมรับว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาลำพังได้ แต่ต้องมีชุมชน มีอบต.มีประชาสังคม เข้ามาช่วยกันทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา สสส.ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมทำงานดึงภาคีเหล่านี้เข้ามา

"งาน สสส.ต้องมีการตรวจสอบหากพบช่องโหว่ก็ช่วยกันปรับแก้ไข ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่มองแค่ว่า ขาวกับดำ การส่งเสริมสุขภาพมันเชื่อมโยงกันไปหมดผลประโยชน์ทับซ้อนก็ดูแลกันไป  สลับกับการตรวจสอบของภาคีที่เป็นกลาง ไม่ว่าจะเป็นภาคีทางวิชาการ ภาคีทางธุรกิจเพื่อสังคม หากยึดตามระเบียบราชการ มันไม่ทันยุคทันสมัยการตรวจสอบจะแตกต่างกันออกไปต่างจากหน่วยงานราชการ เมื่อเห็นปัญหาก็ช่วยกันปรับปรุง ทุกอย่างสามารถเปิดเผยโปร่งใสได้หมด การบริหารเงินแผ่นดินทำได้หลายระบบ​ไม่ใช่ยึดตามแนวราชการเพราะมันไม่สอดคล้อง​กับ​ปัญหาที่ซับซ้อและ เปลี่ยนเร็ว ต้องเป็นไปตามเป้าหมายของการ​สร้างเสริมสุขภาพ หากไม่เช่นนั้น ทุกอย่างก็กลับไปสู่ที่เก่า ไฟไหม้ก่อนแล้วมาดับ แต่งานส่งเสริมสุขภาพ คืองานที่มาช่วยกันดูเชื้อเพลิงกันล่วงหน้าป้องกันไม่ให้เกิด​ไฟ​ เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ​ อันที่จริงควรปรับปรุง ภาค​ราชการเอง​ด้วยซ้ำ​แต่ต้องยอมรับว่างาน สสส.ก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด"รศ.สุริชัย กล่าว