posttoday

เทคโนโลยีนาโนเพื่อ ‘อากาศสะอาด’ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

22 พฤศจิกายน 2558

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับการผลักดันให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล

โดย...อาทิตย์ ลมูลปลั่ง  ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับการผลักดันให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระบบบริหารงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตในประเทศไทย โดยนักวิจัยไทยลดการจัดซื้อจัดจ้างเทคโนโลยีต่างชาติ และเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาซื้อเทคโนโลยีของหน่วยงานรัฐมากขึ้น 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มีผลงานวิจัยมุ่งเป้าเพื่อพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคม เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างนาโนเทคโนโลยีประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านการพัฒนาน้ำสะอาด พลังงานและสิ่งแวดล้อมสีเขียว และเทคโนโลยีเพื่ออากาศสะอาด

เทคโนโลยีนาโนเพื่อ ‘อากาศสะอาด’ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเทคโนโลยีดูดซับอากาศ

 

ล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่านักวิจัยนาโนเทค สวทช.และหน่วยงานพันธมิตร ได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการตรวจวัดและบำบัดอากาศโดยใช้นาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ ภายใต้โครงการขยายผลเทคโนโลยีเพื่ออากาศสะอาดสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมปั่นจักรยาน ในกิจกรรม “CLEANAIR for GREENTOWN” โครงการจักรยานเพื่ออากาศสะอาดสู่เมืองสีเขียว และโครงการขยายผลเทคโนโลยีเพื่ออากาศสะอาดสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้และชุมชนโดยรอบตำบลหัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทางรวม 28 กิโลเมตร

ถือเป็นการนำเทคโนโลยีการตรวจวัดและบำบัดอากาศด้วยนาโนเทคโนโลยี ถ่ายทอดงานวิจัยสู่ภาคเอกชนและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและโรงงานต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้

เทคโนโลยีนาโนเพื่อ ‘อากาศสะอาด’ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จอแสดงผลเครื่องตรวจวัดอากาศ

 

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไลผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค อธิบายว่า เทคโนโลยีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศสะอาดด้วยเทคโนโลยีนาโนนั้น เป็นการต่อยอดการวิจัยของคณะวิจัยของนาโนเทคและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยพัฒนาให้สามารถตรวจวัดสารระเหยหลายชนิดพร้อมกันและประมวลผลเปรียบเทียบฐานข้อมูลกลิ่นแบบเรียลไทม์ ซึ่งนาโนเทคได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย นำไปติดตั้งและใช้งานในสายการผลิตของโรงงานให้เป็นตามมาตรฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“สำหรับเครื่องตรวจวัดสารระเหยและกลิ่นของสารอินทรีย์ระเหยง่าย ภายในเครื่องประกอบด้วยหัวเซนเซอร์วัดก๊าซหลายชนิด ที่สามารถตรวจวัดสารระเหยหลายชนิดได้พร้อมๆ กัน

กลไกของเครื่องจะแปลงสัญญาณการตรวจวัดเป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อนำมาประมวลผลเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของกลิ่นที่มีการพัฒนาเชื่อมโยงสัญญาณเครือข่ายระหว่างเครื่อง โดยเครื่องจะส่งสัญญาณแบบ Real Time เพื่อนำผลการตรวจวัดมาใช้เป็นแนวทางในการเฝ้าระวังและควบคุมกระบวนการผลิตต่างๆ ในโรงงาน

เทคโนโลยีนาโนเพื่อ ‘อากาศสะอาด’ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หัววัดเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ

 

กลายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่นักวิจัยไทยผลิตได้จะเป็นส่วนเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกได้ไม่ยากนัก ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน”

นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากหลักการที่โตโยต้ายึดถือมาตลอด คือความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการขยายผลเทคโนโลยีเพื่ออากาศสะอาดสู่ภาคอุตสาหกรรมนี้ โตโยต้าได้ร่วมกับศูนย์นาโนเทคนำเครื่องตรวจวัดสารระเหยและกลิ่นฯ ไปใช้แล้ว 3 โรงงาน รวมจำนวน 28 เครื่อง

นอกจากนี้ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคสามารถผลิตเครื่องตรวจวัดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาเพียง 8 หมื่น-1 แสนบาท/เครื่อง ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาสูงถึงเครื่องละ 3 แสนบาท

เทคโนโลยีนาโนเพื่อ ‘อากาศสะอาด’ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

 

ดังนั้น สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะในส่วนของโรงงานผลิตและพ่นเคลือบสีรถยนต์ของโตโยต้าถือว่าได้ประโยชน์มากจากงานวิจัยคนไทยทำ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้เข้ามาช่วยอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ให้เกิดการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาโตโยต้าออกโครงการต่างๆ และให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการถนนสีขาว โครงการเมืองสีเขียว เป็นต้น

นับว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่นักวิจัยไทยผลิตได้และจะเป็นส่วนเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกได้ไม่ยากนัก ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนด้วย