ชีวิตที่ถูกโขกสับของ "ลูกจ้างทำงานบ้าน"
ส่องอาชีพ"ลูกจ้างทำงานบ้าน" ในวันที่ความเป็นธรรมยังมาไม่ถึง
เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล
จะเรียก "แจ๋ว" "แม่บ้าน" "คนใช้" หรือ "คนรับใช้" ก็มิอาจหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า"ลูกจ้างทำงานบ้าน"เป็นหนึ่งในอาชีพที่ทำงานหนักที่สุดไปได้
ปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาด จ่ายตลาด เตรียมกับข้าว ชงกาแฟ รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำให้หมา ล้างจาน เลี้ยงเด็ก ดูแลคนแก่ บีบนวดแก้กษัย ยันปีนกวาดหยักไย่บนหลังคา ตั้งแต่เช้าตรู่จรดมืดค่ำ สองมือตรากตรำทำทุกอย่างโดยไม่ปริปากบ่น
ผลตอบแทนที่ได้คือ เงินเดือนอันน้อยนิด ชั่วโมงทำงานที่ไม่แน่นอน ไม่มีโอที ไม่มีวันหยุด ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แม้แต่จะถูกนับให้เป็นแรงงานในระบบตามกฎหมาย หนำซ้ำยังโดนดูถูกเหยียดหยาม ถูกใช้งานหนักไม่ต่างจากทาส
ทั้งหมดนี้คือความไม่เป็นธรรมที่เหล่าลูกจ้างทำงานบ้านต้องเผชิญไม่จบสิ้น
"คนรับใช้"...ศักดิ์ศรีที่ถูกดูแคลน
"อาชีพอย่างพวกเราเขาเรียก'ตื่นก่อน นอนทีหลัง' คนทำงานบ้านไม่เคยมีวันหยุดหรอก"
ถ้อยคำพร่ำบ่นของ สมร พาสมบูรณ์ วัย 56 แม่บ้านชาวจ.สุรินทร์ เธอมาพร้อมใบหน้าอิดโรย หมดเรี่ยวแรง หลังเสร็จสิ้นจากการทำงานบ้านภายในอพาร์ตเมนหรูมานานเกือบ 10 ชั่วโมง
สมรยึดอาชีพนี้มานานกว่า 40 ปีแล้ว ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ทั้งเป็นแม่บ้านประจำ อยู่กินกับนายจ้าง ทั้งแบบรายวัน ไปเช้าเย็นกลับ
สิ่งเดียวที่เธอยืนยันเหมือนกันคือ ได้นายดีก็เหมือนถูกหวย ได้นายแย่ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น
"นายจ้างไทยชอบแบ่งชั้นวรรณะ มองว่าเราต่ำ เขาสูง โดยเฉพาะพวกตระกูลผู้ดีเก่า ยศสูงๆ พวกนี้จะเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบดูถูกเหยียดหยาม เคยไปอยู่บ้านหมอคนหนึ่ง เขาใช้ให้ล้างมีด เกิดพลาดมีดเฉือนเข้านิ้วเลือดไหล เมียหมอเข้ามาด่าเลย อีโง่ ไม่มีตาหรือไง ไม่มีสมองเหรอ แตกต่างจากนายจ้างชาวต่างชาติที่ให้เงินเดือนสูง มีวันหยุด วันลา ถ้าโชคดีก็ทำประกันอุบัติเหตุให้ด้วย ที่สำคัญเขาให้เกียรติเรามาก อย่างครอบครัวชาวเยอรมัน ปฏิบัติกับเราเหมือนคนในครอบครัว ทำงานได้ครบปีก็พาเรากับคนขับรถไปเลี้ยงข้าว บอกว่าขอบคุณที่ทำงานอย่างเต็มที่ อะไรที่ไม่ถูกอกถูกใจก็ขอโทษ นี่คือเรื่องประทับใจไม่มีวันลืม"
บรรจง วิไลศรี แม่บ้านชาวจ.ร้อยเอ็ด 51 ปี เป็นลูกจ้างแม่บ้านเพราะไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากการศึกษาน้อย
"เคยอยู่กับนายจ้างคนนึงเขาให้เรานอนบนแคร่เล็กๆนอกบ้าน ยุงกัด หิวน้ำก็ต้องไปกรองเอาจากแทงค์ หรือเวลากินข้าว สำรับกับข้าวบนโต๊ะ เขากินอิ่ม ที่เหลือก็มาให้เรากินต่อ บางทีไม่มีเนื้อสักชิ้น มีแต่น้ำแกง เราก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ที่แย่สุดคือ โดนสุนัขบ้านนายกัด นายก็มาด่าเราหาว่าไปทำอะไรหมาเขา เพราะปกติหมาเขาไม่เคยกัดใคร สุดท้ายเขาพาหมาไปหาหมอเพราะคิดว่าป่วย แต่ไม่ดูดำดูดีเราแม้แต่นิดเดียว ตอนนั้นจิตใจตกต่ำมาก เขาเห็นหมามีค่ากว่าคน เลยตัดสินใจลาออก เพราะเราก็มีศักดิ์ศรี"
สมพร พึ่งสูงเนิน แม่บ้านชาวจ.นครราชสีมา วัย 48 บอกว่า ทุกวันนี้ลูกจ้างทำงานบ้านเลือกที่จะหางานแบบไปเช้าเย็นกลับ เนื่องจากอิสระกว่า
"อยู่กินบ้านนายจ้าง สภาพไม่ต่างจากทาส หนีไปไหนไม่ได้ ชั่วโมงทำงานไม่มีวันจบสิ้น ตื่นตีสี่ตีห้าไปจ่ายตลาด กลับมาทำงานบ้าน พักเที่ยง บ่ายก็ลุยต่อ เย็นก็เตรียมกับข้าว กว่าจะเสร็จงานก็ปาเข้าไปห้าทุ่ม บางคืนนายกลับดึกเจอเคาะประตูปลุกให้มาชงกาแฟให้กินอีกก็มี บางครั้งยกครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดก็หนีบเราไปด้วย ปากบอกจะชวนไปเที่ยว แต่ความจริงตั้งใจเอาเราไปใช้งาน"
ความเป็นธรรมที่ไม่เท่าเทียม
คำว่า "ลูกจ้างทำงานบ้าน" ตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หมายถึง หญิงหรือชายที่ทำงานในบ้านหรือรอบๆบ้านตามที่ได้รับมอบหมาย โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2555 มีจำนวนลูกจ้างทำงานบ้านทั่วประเทศกว่า 230,000 คน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ปี 2556 มีแรงงานข้ามชาติชาวพม่า กัมพูชา และลาว จดทะเบียนทำงานอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านถึง 48,000 คน ประมาณการณ์ว่ามีเม็ดเงินสะพัดจากอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านสูงถึง 27,000 ล้านบาทต่อปี
จันทนา เอกเอื้อมณี ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เผยว่า แรงงานทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เนื่องจากงานในบ้านมักถูกมองว่าเป็นงานของผู้หญิง เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน ดูแลเด็กและคนชรา ขณะผู้ชายมักเป็นคนขับรถ ยามรักษาความปลอดภัย คนสวน ช่างซ่อมต่างๆ
"คำว่า 'ลูกจ้างทำงานบ้าน' เพิ่งถูกเปลี่ยนมาใช้เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง เมื่อก่อนเรียก 'คนรับใช้' สาเหตุที่เปลี่ยนเพราะต้องการเปลี่ยนทัศนคติให้เห็นว่าเขาก็คือแรงงานเหมือนอาชีพอื่นๆ เนื่องจากสังคมไทยมองลูกจ้างทำงานบ้านเป็นเรื่องของบุญคุณ ข้าวแดงแกงร้อนราดหัวมาตั้งแต่ยุคที่ยังมีทาส เมื่อนายจ้างพยายามบอกว่าดูแลเหมือนในครอบครัว ลูกจ้างเลยไม่กล้าเรียกร้องอะไร
ในแง่คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมไทยก็ไม่มองคนเหล่านี้ว่าเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเท่ากับคนที่ออกไปทำงานนอกบ้าน กลับมองว่าเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยด้อยค่า ไร้ฝีมือ เป็นงานของคนที่ไร้การศึกษา แต่รู้ไหมว่าลูกจ้างทำงานบ้านเหล่านี้นี่แหละ ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากสามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้"
ปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจที่สุดของเหล่าแม่บ้านที่ได้รับการร้องเรียนบ่อยสุด หนีไม่พ้นเรื่องความไม่เป็นธรรมเรื่องค่าจ้าง วันหยุด และสวัสดิการต่างๆ
"ที่ผ่านมา ลูกจ้างทำงานบ้านไม่ถูกยอมรับว่าเป็นแรงงาน จึงมีข้อยกเว้นในการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายหลายประการ ทำให้แม่บ้านทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติต้องมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ทั้งไม่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ ทำงานไม่มีชั่วโมงทำงานที่แน่นอน ไม่มีโอที ไม่มีวันหยุด ลาป่วยก็ไม่ได้ค่าชดเชย ที่สำคัญไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้
นอกจากนี้ยังมีบางคนโดนกักขัง ลวนลามทางเพศ กดขี่ต่างๆนานาๆ จนถึงทุบตีทำร้ายร่างกาย หลายเรื่องที่เคยได้ยินมาน่าสะเทือนใจมาก เช่น ลูกจ้างสาวคนหนึ่งถูกนายจ้างข่มขืนจนท้อง ถูกไล่ไปทำแท้งพร้อมไล่ออกจากงาน สุดท้ายป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ครอบครัวพยายามจะฟ้องร้อง แต่นายจ้างคนดังกล่าวใช้อิทธิพลเส้นสายล้มคดี หรือลูกจ้างชาวเมียนมาอีกคนถูกไล่ออกจากบ้านชั่วคราว เนื่องจากนายจ้างพักร้อนไปเที่ยวต่างประเทศนาน 15 วัน ไม่ยอมให้เธอเฝ้าบ้านเพราะไม่ไว้วางใจ ลูกจ้างพวกนี้เขาไม่กล้าเรียกร้อง กลัวถูกไล่ออก สุดท้ายต้องทนทำงานต่อไป"
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เผยว่า ที่ผ่านมามีลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามาร้องเรียนกับสภาทนายความว่าถูกใช้งานเยี่ยงทาส ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกายหลายคดี
"ส่วนใหญ่มักเกิดกับแรงงานข้ามชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว มีทั้งกักขังไม่ให้ออกจากบ้าน ให้อดอาหาร นอนกับหมา เอาน้ำร้อนราด ทุบตีเหมือนไม่ใช่คน เข้าข่ายผิดกฎหมายพรบ.การค้ามนุษย์ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 312 เรื่องการเอาคนลงเป็นทาส ซึ่งกฎหมายนี้ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 เพื่อให้เห็นว่าประเทศเราไม่มีทาสอีกต่อไปแล้ว และยังบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เคยถูกนำมาใช้อย่างเด็ดขาด ทั้งที่เกิดขึ้นหลายคดีแล้ว ทำให้สังคมไทยไม่รู้ด้วยมีความผิดนี้อยู่ นายจ้างไม่เกิดความหวาดกลัว เลยอยากรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง"
กฎหมายคุ้มครองแม่บ้าน...วันนี้ยังมีช่องโหว่
ถึงวันนี้ แม้ลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น ตามกฎหมายกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2555 ซึ่งสอดคล้องกับอนุญัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน สาระสำคัญได้แก่
* มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน
* มีวันหยุดตามประเพณี ปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน
* มีสิทธิลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงาน แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วันทำงาน
* การทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะต้องได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน
* กรณีที่นายจ้างให้ทำวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต้องได้รับค่าทำงานในวันหยุด
* เมื่อทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่เกิน 6 วันทำงาน
* ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กรณีลูกจ้างอายุต่ำกกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่เด็กโดยตรง และห้ามนายจ้างเรียกหรือรับเงินค้ำประกันจากลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก
จันทนา เผยว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวยังมีช่องโหว่ ประเด็นสำคัญหลายเรื่องยังถูกจำกัดสิทธิ์ เช่น ควรได้รับค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับแรงงานทั่วไป ควรให้มีการจดทะเบียนลูกจ้างทำงานบ้าน ควรกำหนดชั่วโมงทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และมีสิทธิได้รับประกันสังคม ห้ามไม่ให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์ และอนุญาตให้ลาคลอดบุตรได้ รวมทั้งคุ้มครองด้านสุขภาพความเจ็บไข้ได้ป่วย ความปลอดภัยระหว่างการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่
"อุปสรรคสำคัญอีกอย่างก็คือ ยังมีนายจ้างและลูกจ้างอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่รู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าบกพร่องมากในเรื่องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชน กระทรวงแรงงานไม่ค่อยทำงานเชิงรุก ประกาศกฎหมายก็แค่ในเว็บไซต์ นั่งรอรับเรื่องอย่างเดียว ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพพยายามอย่างมากในการเชิญนายจ้างให้เข้าทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎกระทรวงฉบับนี้ พร้อมกับเชิญลูกจ้างทำงานบ้านทั้งหลายเข้ามารับฟัง เพื่อให้เขารู้สิทธิ์ของตัวเอง และกล้าเรียกร้องต่อรองสิทธิ์ที่ควรจะได้ ไม่ใช่ให้มาทะเลาะฟ้องร้องกัน แต่อยากให้วินวินสองฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและเป็นธรรม"
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 ได้กำหนดนิยามคำว่า "ลูกจ้าง" หมายความว่าผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนทำงานบ้านที่เป็นแรงงานทำงานโดยได้รับค่าจ้างและมีนายจ้างชัดเจน แต่พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้จะไม่ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 33 แต่จะให้เข้ามาตรา40 แทน ซึ่งลูกจ้างทำงานบ้านไม่ต้องการ
เหตุผลที่ต้องการเข้าประกันสังคมมาตรา 33 เพราะมีนายจ้างชัดเจน และลูกจ้างส่วนมากเป็นผู้หญิง เวลาตั้งครรภ์ไปหาหมอ บางคนถูกนายจ้างหักเงินเดือนหรือถึงขั้นไล่ออก และไม่สะดวกในการใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดต้องไปตรวจขั้นต้นที่ภูมิลำเนา หากได้เข้ามาตรา 33 ใช้สิทธิรักษาพยาบาลสะดวกกว่าและได้รับสิทธิคลอดบุตรได้ หากตั้งครรภ์ถูกนายจ้างไล่ออกก็ยังมีเงินพอประทังชีพก่อนได้งานใหม่ แต่ถ้าเข้ามาตรา 40 ไปหาหมอนอนพักรักษาตัวได้เงินชดเชยขาดรายได้เพียง 600 บาท ซึ่งหลักประกันในชีวิตแตกต่างกันมาก"
สุรพงษ์ เสนอแนะว่า กรมสวัสดิภาพและคุ้มครองแรงงานต้องรณรงค์ให้สังคมได้รับทราบอย่างทั่วถึง ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ โซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามท้องถนน เพื่อให้แรงงานลูกจ้างทำงานบ้านได้รับทราบ และเข้าถึงสิทธิ์ เช่นเดียวกับนายจ้าง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทถึงจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรมองลูกจ้างทำงานบ้านว่าเป็นอาชีพที่มีคุณค่า มีฝีมือ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สมควรที่จะได้รับค่าแรงและการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างเป็นธรรม