สตั๊ดดอย (คอยรัก)
วันนี้ขอพักเรื่องราวของเหล่าสิงสาราสัตว์ มารีวิวอุปกรณ์เที่ยวป่าสลับฉากมั่ง มันเป็นรองเท้าที่มีชื่อเรียกว่า “สตั๊ดดอย”
โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น
วันนี้ขอพักเรื่องราวของเหล่าสิงสาราสัตว์ มารีวิวอุปกรณ์เที่ยวป่าสลับฉากมั่ง
มันเป็นรองเท้าที่มีชื่อเรียกว่า “สตั๊ดดอย” คุณสมบัติที่แตกต่างจากรองเท้าทั่วไป คือการหล่อขึ้นจากยางทั้งดุ้น ตัวรองเท้าและพื้นล้วนแต่เป็นยางชิ้นเดียวกันไร้รอยต่อ ที่เห็นมีรอยตะเข็บเย็บจักรอะไรนั่น แค่ทำไว้หลอกๆ
จุดเด่นที่กลายมาเป็นชื่อสตั๊ดดอย คือปุ่มใต้พื้นรองเท้า เห็นปุ๊บก็จะพลันนึกถึงรองเท้าเตะบอลขึ้นมาทันที เพียงแต่สตั๊ดบอลแต่ละปุ่มจะแยกตัวกันเป็นเอกเทศ ปุ่มใครปุ่มมัน ไม่ยึดโยงกับประชาชน (ชะอุ๊ย เผลอปล่อยวาทะทางการเมือง)
ขณะที่ปุ่มสตั๊ดดอยต่างออกไป มีสันยางเชื่อมถึงแต่ละปุ่มจนเป็นเครือข่าย นับได้ 24 ปุ่มถ้าคุณนึกเฮี้ยนจะเอาไปใส่เตะบอล บอกเลยว่าไม่มีปัญหา
ผลของการดีไซน์อันเรียบง่ายแต่สุดยอดส่งผลให้สตั๊ดดอยมีคุณสมบัติโดดเด่นเหนือกว่ารองเท้าเดินป่าทั่วไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะความถึกทน หมดปัญหาพื้นรองเท้าหลุดล่อนจากการแช่น้ำ ไหนจะแห้งไวกว่ารองเท้าผ้าใบซักร้อยเท่า เวลาเดินไปตามพื้นดินลื่นๆ ก็เกาะพื้นดีมาก ตัวพื้นรองเท้าเองแม้ไม่มีผ้าใบอะไรรองรับ แต่มีความนุ่มนวล ไม่ต้องใส่ถุงเท้าก็เดินสบาย
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจึงนิยมสวมสตั๊ดดอยลาดตระเวนกันทั้งนั้น เห็นตะลุยกันฉลุยราวกับเดินบนกลีบกุหลาบ ไม่ว่าบนบกหรือในลำห้วย ไม่มีรองเท้าไหนเก่งกาจ “ครึ่งบกครึ่งน้ำ” ได้เหมือนสตั๊ดดอยอีกแล้ว
หากจะยกย่องอย่างหรูว่า สตั๊ดดอยช่วยงานอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าแบบผู้ปิดทองหลังพระมานานนัก ก็ไม่เกินเลยแต่อย่างใด
ราคาของมันยังโดนใจ ของผมซื้อจากตลาด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี คู่ละ 50 บาท ถูกพอๆ กับรองเท้าแตะ คนขายบอกว่า มันเป็นรองเท้าไทยที่ผลิตจากยางพารามาเลย์ ซึ่งดีกว่ายางไทย อันนี้ยังไงก็ไม่ทราบ แต่ยางรถออฟโรดที่ผมใช้อยู่ปัจจุบัน เป็นยี่ห้อของมาเลย์ เนื้อยางเขาก็ดีจริงๆ
เบื้องหลังภาพประกอบคอลัมน์วันนี้ คือสีหน้าเหยเกของผม เพราะพอถอดสตั๊ดดอยจากเท้าเอามาจัดวางกับหินลำธาร ผมต้องกระย่องกระแย่งตีนเปล่าไปบนความตะปุ่มตะป่ำเพื่อหามุมถ่ายภาพ รู้ซึ้งเลยว่าของโลโซที่วางตรงหน้า มีคุณค่าขนาดไหน ในฐานะเพื่อนร่วมเส้นทางอันวิบาก