"ครูสอนภาษาอังกฤษ"...วิกฤตการศึกษาไทย?
ชำแหละคุณภาพ "ครูสอนภาษาอังกฤษ" วันนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล
เมื่อเร็วๆนี้มีกระแสข่าวลือว่ากระทรวงศึกษาธิการมีแผนจะตัดลดงบประมาณการจ้างครูชาวต่างชาติ และให้ครูชาวไทยที่เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษมาสอนเด็กไทยด้วยกันเอง โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากพึ่งครูต่างชาติไปตลอด
แม้ท้ายที่สุดจะมีการปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง กระนั้น ไม่วายเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า
แล้วครูสอนภาษาอังกฤษทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่มีอยู่ดาษดื่นในขณะนี้ล่ะ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน?
ครูต่างชาติV.S.ครูไทย
คริสโตเฟอร์ ไรท์ ติวเตอร์ชื่อดังและพิธีกรรายการสอนภาษาอังกฤษ อิงลิช เดลิเวอรี่ มองว่า ปัจจุบันมีชาวต่างชาตินิยมเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก แต่น้อยคนที่จะเป็น"ครู"มืออาชีพ
"ปัญหาของครูฝรั่งในเมืองไทยคือ บางคนไม่ได้เป็นครูจริงๆ เป็นเพียงฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ เปรียบเทียบกับคนไทยเวลาไปเมืองนอกแล้วไม่รู้จะทำมาหากินอะไรแต่อยากจะอยู่ประเทศนั้นต่อ งานแรกที่เลือกคือ ทำงานในร้านอาหารไทย ซึ่งหลายคนไม่ได้เป็นพนักงานเสิร์ฟ หรือกุ๊กมืออาชีพ พูดง่ายๆคือผัดกระเพราพอได้ แต่รสชาติงั้นๆ โชคดีฝรั่งเขาไม่ได้รู้รสอาหารไทยมากเท่าไหร่ เลยกินได้ไม่มีปัญหา
เช่นเดียวกันคนไทยจำนวนมากก็ไม่รู้ว่าการสอนภาษาอังกฤษที่ดีเป็นยังไง ขอแค่มีฝรั่งผมทองตาสีฟ้ามายืนพูดยืนสอนเป็นภาษาอังกฤษก็โอเคแล้ว โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษหลายแห่งก็ชอบย้อมแมวขาย เช่น ชาวฮอลแลนด์ สเปน สวีเดน ซึ่งก็เป็นฝรั่งผมทองตาสีฟ้า แล้วบอกว่าเป็นครูเจ้าของภาษา คนไทยพอเห็นเป็นฝรั่งก็ไม่ทักท้วง เลยเจอทั้งครูไม่มีคุณภาพ ขาดความต่อเนื่อง แถมราคาแพงหูฉี่ สุดท้ายจึงไม่ได้ผล"
ขณะเดียวกัน ครูชาวไทยเองก็ยังประสบปัญหาขาดแคลน 2Q คือ คุณภาพ (Quality) และปริมาณ (Quantity)
"Quality ครูไทยยุค 2015 ไม่น่าจะมีข้ออ้างแล้วที่จะไม่เก่ง ยุคนี้มีสมาร์ทโฟน ครูไทยควรจะเป็น Smart English Teacher ได้แล้ว ยกตัวอย่างคำว่า 'orange juice' ถ้าไม่แน่ใจว่าอ่านออกเสียงยังไงก็เสิร์ชกูเกิ้ล โหลดแอพอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษมาดู มีเยอะแยะแถมโหลดฟรีด้วย หรือคำว่า Thunder ซึ่งแปลว่าฟ้าร้อง ครูไทยทั้งประเทศยังแปลว่าฟ้าผ่า ครูไทยต้องเช็คให้มากกว่านี้ ต้องเช็คตัวเองตลอดว่าสิ่งที่เราสอนนั้นถูกหรือเปล่า
Quantity ปัจจุบันครูสอนภาษาอังกฤษยังมีจำนวนน้อยเกินไป เทียบกับจำนวนนักเรียนที่มีห้องละ 40-50 คน มันเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะสอนให้เขาพูดได้ ที่สำคัญครูประถมยุคนี้ยังต้องสอนทุกวิชา แทนที่จะเน้นวิชาใดวิชาหนึ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ นั่นจึงทำให้ประสิทธิภาพการสอนภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ ซึ่งต้องโทษกระทรวงศึกษาด้วยว่าเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณจากรัฐบาลมากที่สุดกระทรวงหนึ่งในประเทศไทย แต่ทำไมจำนวนครูยังไม่เพียงพอ แถมยังมีหนี้สินเยอะที่สุดอีกต่างหาก"
คริสโตเฟอร์ ไรท์
หลักสูตรผิดเพี้ยน คนเรียนไม่พัฒนา
เมื่อถามว่า ทุกวันนี้หลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนควรปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง?
ครูคริสยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆว่า ถ้าเปรียบภาษาอังกฤษเป็นพีระมิด แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยส่วนล่างสุุดและใหญ่ที่สุดคือ General Social English หรือภาษาอังกฤษที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ส่วนที่สองคือ Academic English กึ่งวิชาการ เรียนเพื่อใช้สอบแข่งขัน ส่วนที่สามเป็นส่วนที่เล็กที่สุดและยากที่สุดคือ Professional English การเรียนที่เน้นศัพท์เฉพาะขั้นสูงเพื่อนำใช้ในอาชีพการงาน
"เหตุผลที่บ้านเรายังแย่เรื่องภาษา ก็เพราะไม่เริ่มสอนจากง่ายก่อน กลับข้ามไปจุดที่ยากเลย นั่นคือ สอนเพื่อสอบในระดับ Academic English ซึ่งยากและเยอะ เมื่อฐานพีระมิดไม่แข็งแรงพอ เด็กไทยซึ่งไม่มีพื้นฐานมั่นคงก็รับไม่ไหว ตกกันยกห้อง ผมตกใจมาก บางคนเรียนจบมหาวิทยาลัยยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เพราผ่านมาจากระบบเรียนเพื่อสอบ แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่เขาจะให้คนในสังคมเรียนรู้ภาษาอังกฤษในระดับ General Social English ก่อน ไม่มีใครหรอกที่สร้างหลังคาก่อนปูพื้นเหมือนอย่างบ้านเรา
รัฐบาลไทยต้องกล้าปรับเปลี่ยน หักดิบกันไปเลย การสอนภาษาอังกฤษทุกวันนี้ คุณต้องแบ่งเป็น 2 แขนง หนึ่ง Gramma สำหรับคนที่ต้องการจะเก่งภาษาอังกฤษจริงๆ สอง ภาษาอังกฤษทั่วไปที่ใช้สื่อสาร อย่าสอนอะไรที่ยากเกินความจำเป็น ควรเรียนพื้นฐานทั่วไปก่อน ถ้าเกิดสนใจมากกว่านั้นค่อยไปเรียนกันแบบเจาะลึก"
ครูคริส แนะนำเคล็ดลับการเรียนภาษาอังกฤษให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย K. Knowledge (ความรู้) S.Skill (ทักษะ) E.Experience (ประสบการณ์) ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับการลงมือปฏิบัติจริง มิใช่สักแต่เพียงท่องจำ
"แรกเริ่มควรเรียนเพื่อหาความรู้ใส่หัว เมื่อรู้แล้วก็หัดฟังเจ้าของภาษาเขาพูด เพื่อให้เกิดทักษะการพูดและการฟัง จากนั้นก็เอาทั้งสองอย่างออกไปใช้เพื่อหาประสบการณ์ สุดท้ายพีระมิดภาษาอังกฤษที่เรามีเคยอยู่นิดเดียวก็จะขยายใหญ่ขึ้น ผู้ปกครองเองก็มีส่วนสำคัญ พ่อแม่หลายคนไม่ได้ชอบภาษาอังกฤษ ไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่บังคับให้ลูกเรียนเพราะอยากจะยกปมด้อยตัวเองให้ลูก เมื่อลูกไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ชอบภาษาอังกฤษ ไม่ทำให้เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ง่าย เด็กก็รู้สึกไม่สนุก มองว่าน่าเบื่อ ถูกบังคับ จนขี้เกียจ และไม่เกิดการพัฒนาไปในที่สุด"
5สิ่งที่ทำให้ภาษาอังกฤษไม่ก้าวหน้า
ดร.วรากร สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิเคราะห์ว่า 5 ปัจจัยที่ทำให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษของคนไทยไม่ก้าวหน้า ประกอบด้วย 1.ครูสอนภาษาอังกฤษไม่มีคุณภาพ 2.ชั่วโมงการสอนน้อยเกินไป 3.ทัศนคติที่มองว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสูงส่งไกลตัว 4.คนไทยชอบจับผิดใช้ภาษาของคนอื่น 5.วิธีการสอนที่ไม่เหมาะสมกับคนไทย
"ครูสอนภาษาอังกฤษมีทั้งได้เรื่องและไม่ได้เรื่อง ครูต่างชาติในโรงเรียนสอนภาษาที่สามารถพูดและสอนได้อย่างถูกต้องก็มีเยอะ พวกฝรั่งแบ็คแพคเกอร์ก็มีไม่น้อย ส่วนครูไทย คุณภาพโดยรวมยังไม่น่าเป็นที่พอใจ จำนวนชั่วโมงที่สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนก็น้อยเกินไป บางโรงสอนแค่สัปดาห์ละวันเท่านั้น บางโรงเปิดโอกาสให้ครูกับเด็กได้พูดคุยกันบ่อยๆ ทำให้เด็กรู้สึกว่าภาษาอังกฤษอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา ส่วนเรื่องทัศนคติ หลายคนยังมองว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องไกลตัว เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญคนไทยชอบวิจารณ์ภาษาอังกฤษคนนั้นผิดคนนี้ถูก ทำให้คนใช้รู้สึกเกร็ง อาย ไม่กล้าพูด สุดท้ายผมมองว่าเรายังไม่มีวิธีการสอนภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยที่ได้ผลที่สุด เหมือนบันได เราเจอทั้งบันไดหัก หลุด สมัยก่อนก็เคยเอาบันไดของมาเลเซีย สิงคโปร์มาใช้ แต่ก็ปีนขึ้นไม่ได้สักที"
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังรายนี้ บอกว่า ความต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษรุดหน้าไปได้เร็ว
"ที่ผ่านมา จำนวนชั่วโมงมันอัดแน่นมากในทุกวิชา ทำให้ชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษเหลือแค่สัปดาห์ละวัน วันละไม่ถึงชั่วโมง ภาษามันต้องการความต่อเนื่อง โอกาสที่จะได้ฝึกพูด ฝึกออกเสียง เหมือนกับพ่อแม่สอนให้ลูกพูด คุณจะต้องอยู่กับลูก สอนทุกวัน ไม่ใช่สัปดาห์นึงสอนลูกแค่สองชั่วโมง ความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ ต้องพูดไปก่อนจะผิดจะถูกพ่อแม่ต้องแก้ไขให้ ก็เหมือนกับสอนเด็กที่จะต้องเรียนภาษา ครูต้องเอาใจใส่ในความต่อเนื่อง ทัศนคติของครูผู้สอนสำคัญมาก ต้องทำให้เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เวลาครูพูดภาษาอังกฤษด้วยไม่เหมือนกับสิ่งแปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดา นโยบายลดชั่วโมงการเรียนการสอน ผมมองว่าหลายโรงเรียนควรเอาเวลาที่เหลือมาสอนภาษาอังกฤษ ใส่ชั่วโมงการพูดภาษาอังกฤษลงไปเพิ่ม พูดมันให้ต่อเนื่องทุกวัน และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
AEC เปิด ไทยเสียเปรียบ?
จากการจัดทำดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ปี 2558 ของสถาบันภาษา เอดูเคชั่น เฟิร์ส (อีเอฟ) โดยประเมินจากประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 9.1 แสนคน ใน 70 ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ พบว่า ไทยได้ 45.35 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 62 ของโลก และอยู่อันดับ 5 จากทั้งหมด 6 ประเทศที่ได้รับการสำรวจในภูมิภาคอาเซียน
ดร.วรากรณ์ วิเคราห์ว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากความบกพร่องด้านภาษาอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"การใช้ภาษาอังกฤษมีหลายระดับ ทุกครั้งที่ไปเดินตลาดนัดจตุจักรผมสังเกตเห็นว่า เวลามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ่อค้าแม่ค้าแม้แต่ลูกจ้างคุยค้าขายกับเขารู้เรื่องหมด ฉะนั้นในระดับล่างเช่น การทำมาค้าขาย ผมเชื่อว่าคนไทยรับมือได้สบายๆ ไม่มีอะไรน่ากังวล เชื่อว่าฝ่ายเขาก็ใช้ภาษาได้ไม่ดีไปกว่าเรามากนัก แต่คุยกันรู้เรื่อง ถ้าในระดับที่สูงกว่านั้น เช่น ต้องเจรจาต่อรองทางธุรกิจ งานธนาคาร วิเคราะห์ลงทุน ติดต่อเรื่องสำคัญ ตรงนี้ประเทศไทยอาจเสียเปรียบ
ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ประชาชนก็จะสามารถพัฒนาปรับตัวได้ เช่น ออกมาตรการให้คนทั่วไปที่สนใจด้านภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน เข้าไปเรียนได้โดยไม่ต้องเสียเงินเยอะ โดยเฉพาะภาคบริการที่ทำงานกับนักท่องเที่ยว คนขับรถแท็กซี่ คนขับสามล้อ พ่อค้าแม่ค้า ประชาชนร้านตลาด บางคนอาจพูดได้ฟังรู้เรื่องอยู่แล้ว แต่ควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปกว่านี้"
ดร.วรากรณ์ แนะว่า อย่าติดกับดักคำว่า "ต้องพูดให้เป๊ะเหมือนเจ้าของภาษา" ตามที่ถูกพร่ำสอนกันมา
"อย่าไปแคร์เรื่องที่ว่าพูดแล้วสำเนียงจะเหมือนเจ้าของภาษาหรือเปล่า ผมไม่เชื่อว่าคนอังกฤษจะรู้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด คนออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ อเมริกันก็พูดสำเนียงแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างผมเคยมีครูสอนภาษาอังกฤษเป็นชาวฮังการี สอนภาษาอังกฤษดีมาก แต่พูดออกเสียงไม่เหมือนคนอังกฤษเลย แต่ฟังรู้เรื่องและถูกไวยยากรณ์เป๊ะ ดังนั้นผมไม่รังเกียจว่าจะเรียนกับครูฟิลิปปินส์ ครูอินเดีย ถ้าคุยกันรู้เรื่อง ถูกต้องตามมาตรฐานการใช้ภาษา อย่าเน้นเรื่องไวยากรณ์นัก เน้นคุยให้มันรู้เรื่อง ผิดๆถูกๆใช้ไปเถอะ แล้วค่อยๆแก้ไป ถ้ามัวแต่ต้องเพอร์เฟคร้อยเปอร์เซนต์มันเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญอย่าไปเอาอะไรหนักหนาเวลาคนพูดผิด การจับผิดเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสังคมไทยเป็นอย่างมาก บางคนห่วงว่าต้องเป๊ะ เมื่อโดนทักว่าไม่เป๊ะมันก็เลยหด พอหดก็เลยไม่กล้าใช้ ยิ่งไม่ได้ใช้ทีนี้ยิ่งเข้ารกเข้าพง"
อีกไม่ถึงเดือนประเทศไทยก็จะกระโจนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ถึงอย่างนั้นผู้สันทัดกรณียังมีความเชื่อมั่นว่า ยังไม่สายเกินไปที่คนไทยจะพัฒนาตัวเองในด้านทักษะภาษาอังกฤษ