เสียงจากกลุ่มหลากเพศ "เมื่อสื่อเป็นผู้ตีตรา-สร้างอคติ"
"ที่รุนแรงที่สุดคือคำว่า สายเหลือง ซึ่งไม่บอกก็รู้ว่าเป็นสีของอุจจาระ แต่กลุ่มชายรักชายกลับถูกมาตีตราด้วยฉายานี้"
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
ความรุนแรงจากปลายปากกาของสื่อมวลชนหลายแขนง กลายเป็นการสร้างรอยร้าวให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศทันทีอย่างบ่อยครั้งและทันที ด้วยว่าหลายครั้งที่สื่อขาดวามรู้ ความเข้าใจ ส่งผลให้มุมมองที่มองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศผิดเพี้ยน กระทั่งส่งผลต่อการนำเสนอข่าวออกสู่สาธารณะ มองกลุ่มคนดังกล่าวในแง่ลบ
คำส่อเสียดต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไปในทิศทางที่เกี่ยวกับเพศ การเป็นผู้ถูกกระทำที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศอ้างว่าไม่ควรจะเกี่ยวกับเพศสภาพเพราะอีกมุมพวกเขาเหล่านี้ก็มีลมหายใจ และเลือดเนื้อ รวมถึงความรู้สึกจากกลุ่มคนที่มีเพศปกติ อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว ในบางครั้งเนื้อหาสาระสำคัญในข่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการแสดงออกทางเพศตามที่ถูกนำเสนอ นั่นกลายเป็นผลกระทบที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศถูกกระทำ
ปัญหาดังกล่าวถูกนำมาถกอยู่บ่อยครั้งตามที่มีโอกาส และแต่ละครั้งก็กลับมาที่คำถามเดิมว่าการทำงานของสื่อที่เกี่ยวข้องกับคนหลากหลายทางเพศ ทั้ง ชายรักชาย หญิงรักหญิง หรืออีกหลากหลายนั้น มีความเหมาะสมเพียงพอหรือยังในสังคมไทย เพราะยังเป็นปัญหาอยู่บ่อยครั้งในการนำเสนอข่าวที่ส่อเสียด ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์คณะภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมทีมงานทำวิจัยนำร่องเรื่อง การศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ ผลวิจัยพบว่าตลอดระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างข่าวที่เกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศในรอบ 1 ปีเต็ม มีทั้งหมด 870 ข่าว จากการสุ่มเลือกตัวอย่างสื่อทั้งหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์ และจำนวนที่ว่ามีถึง 65% ที่เป็นรูปแบบการนำเสนอข่าวในลักษณะที่กระตุ้นอารมณ์ โดยเฉพาะข่าวบันเทิง ซึ่งมาจากแหล่งข่าวภายในประเทศทั้งหมด และไม่เกิดความสำคัญใดๆ ต่อสังคม ขณะที่อีกเพียงแค่ 35% นั่นพบว่าเป็นข่าวจากต่างประเทศ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษา
“สื่อมักจะเสนอข่าวเบา หรือ Soft News ที่ไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อสังคมมากนัก เน้นเนื้อหาที่เบาสมอง และให้ความรู้สึกทางอารมณ์ต่อผู้เสพ ขณะที่เมื่อทีมวิจัยลงลึกในเนื้อหาของข่าวและการพาดหัวข่าวเพื่อชวนชวนผู้เสพสื่อ พบว่าสื่อบางส่วนได้ตีตรา และสร้างภาพตัวแทนเกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ”กังวาฬ อธิบาย
การตีตราที่ว่า จากผลวิจัยของกังวาฬพบว่าเป็นคำที่รุนแรง สำหรับกังวาฬแล้วมองว่าสิ่งเหล่านี้คือการคุกคาม และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเช่น กลุ่มหญิงรักหญิง (lesbian) มีการพาดหัวส่อเสียดไปในทางเพศ เช่น ดนตรีไทย ลดตัวคบทอม หลงดัชนี กลิ่นเลสเบี้ยนโชย รวมถึงมีการนำเสนอภาพที่สื่อนัยยะทางเพศ
ขณะที่ภาพตัวแทนของกลุ่มชายรักชาย (Gay) ก็ไม่ต่างกัน และมักจะถูกสื่อจัดประเภทให้ คือเป็นกลุ่มคนที่หมกมุ่นเรื่องเพศ โรคเอดส์ และอาชญากรรม และบางกรณี กังวาฬมองว่ากลุ่มเกย์ ถูกสื่อใช้ความเป็นตัวตนลดทอนความน่าเชื่อถือของคนที่เป็นข่าวด้วย ฉายานามที่มักถูกตีตรา เช่น อมนกเขา แก๊งค์เกย์ แก๊งไม้ป่าเดียวกัน ส้วมเต็ม ระเบิดส้วม
“ที่รุนแรงที่สุดคือคำว่า สายเหลือง ซึ่งไม่บอกก็รู้ว่าเป็นสีของอุจจาระ แต่กลุ่มชายรักชายกลับถูกมาตีตราด้วยฉายานี้” กังวาฬ ย้ำ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มที่หลากหลายทางเพศถูกสื่อคุกคามเช่นกัน หากเป็นบุคคลข้ามเพศ ก็จะถูกตราหน้าอย่างรุนแรง ทั้ง ตุ๊ดลวงโลก หอยปลอม เกิดมาเพื่อฆ่าชะนี สาวแตก เป็นต้น
กังวาฬ บอกว่า ข้อค้นพบทำให้เห็นว่า สื่อยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ สร้างกระแสลบให้กับบุคคลทั่วไปให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ส่งผลให้เห็นภาพว่า สื่อบางส่วนไม่ได้ตระหนักถึงพลังของอำนาจการใช้ภาษาในข่าวว่าสามารถสร้างอคติ การตีตรา และภาพเหมารวมในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม หากเป็นข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับคนหลากหลายทางเพศ สื่อบางส่วนกลับเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มคนเหล่านี้ในจำนวนที่น้อย
“ถ้าชายรักชายไปฆ่าคนตาย ก็จะพาดหัวทันทีว่าตุ๊ดโหด เกย์โหดลงมือ เป็นต้น แต่ถ้าชายรักหญิงที่สังคมว่าปกติ เมื่อเกิดเหตุ เราก็ไม่เคยเห็นการพาดหัวว่า ชายรักหญิงโหด นี่คือตัวอย่างง่ายๆ เราแค่อยากเป็นคนปกติในสังคมเช่นกัน ไม่ได้ต้องการการยัดเยียดจากสื่อบางส่วน”กังวาฬ ยกตัวอย่าง
อโนพร เครือแต่ง หนึ่งในทีมวิจัยชุดเดียวกับกังวาฬ เสริมว่า ข้อเสนอแนะที่ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของเชิงนโยบาย ทั้งรัฐบาล องค์กรสื่อมวลชน องค์กรที่กำกับดูแลสื่อมวลชน องค์กรการศึกษา และที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจและลดการตีตราคนหลากหลายทางเพศในสื่อไทย เริ่มจาก องค์กรรัฐบาล ควรให้สิทธิ์สนับสนุนทั้งทางกฎหมายและสวัสดิการสังคมแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เท่าเทียมกับกลุ่มคนรักต่างเพศ ซึ่งเป็นเป้าสำคัญในการปรับทัศนคติของคนในสังคม เพื่อสร้างสิทธิ์แห่งการเท่าเทียมกัน
“องค์กรสื่อมวลชน ควรสร้างความตระหนักให้กลุ่มเจ้าของสื่อ ผู้บริหาร บรรณาธิการ รวมทั้งสื่อมวลชนเอง ให้เห็นความสำคัญในมิติเพศภาวะ และสิทธิมนุษยชนของคนหลากหลายทางเพศ รวมถึงสนับสนุนบุคลากรสื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ประเด็นเพศภาวะกับหน่วยงานที่ขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เพื่อสามารถทำความเข้าใจและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง”อโนพร ย้ำ
อโนพร บอกอีกว่า ประชาชนในฐานะผู้เสพข่าวสารเอง ก็ควรตระหนักในความเป็นผู้รับสารที่ตื่นตัว โดยพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เล็งเห็นว่าการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนในเชิงล้อเลียน หรือมีอคติต่อเพศสภาพ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งด้วย