posttoday

"บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด" ... ทำไมไม่ฉลาดสมชื่อ?

15 ธันวาคม 2558

ไขข้อข้องใจ "บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด" ถ้าชาญฉลาดจริงทำไมยังต้องถ่ายเอกสาร?

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ชั่วโมงนี้ ประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์หนีไม่พ้นเรื่อง "การระบุอาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชน" อันเป็นไอเดียของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงมหาดไทยจะออกมาชี้แจงแล้วว่าจะไม่นำข้อมูลไปเปิดเผยบนบัตร แต่เป็นการเก็บฐานข้อมูลฝังไว้ในไมโครชิฟ

แต่คำถามดังๆจากประชาชนเกิดขึ้นตามมาคือ แล้วบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด ที่กำลังใช้กันในปัจจุบัน อันเกิดจากแนวคิดที่จะให้ประชาชนมีบัตรเพียงใบเดียวใช้แทนบัตรทุกประเภทที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ

ทำไมยังต้องซีร็อกซ์ ถ่ายสำเนาทุกครั้งเมื่อต้องติดต่อกับทางราชการ?

งบไม่มี ระบบราชการล่าช้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเบื่อหน่ายเป็นอย่างยิ่งเวลาติดต่อกับทางราชการ และต้องเสียเวลาไปกับการ เข้าคิวถ่ายสำเนาเอกสาร ทั้งที่บัตรประชาชนเป็นแบบสมาร์ทการ์ด

วิเชียร ชิดชนกนารถ ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปี 2558 คนไทยกว่า 99 % ล้วนถือบัตรสมาร์ทการ์ดด้วยกันทุกคน ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานกำลังพยายามอย่างเต็มที่ให้สำเนากระดาษกลายเป็นสิ่งของไม่จำเป็นสำหรับการติดต่อกับทางราชการ

อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถใช้บัตรสมาร์ทการ์ดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อันแรกคือ หลายปีที่ผ่านมาคนไทยยังไม่ได้ถือบัตรสมาร์ทการ์ดทั้งหมด ระบบรองรับจึงยังไม่สามารถพัฒนาไปได้เต็มที่ แต่นับตั้งแต่ปี 2558 นี้ ทุกคนถือบัตรสมาร์ทการ์ดแล้ว ทำให้ระบบการให้บริการกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี อุปสรรคต่อมาคือ ระเบียบปฎิบัติของราชการที่ต้องเเก้กฎเกณฑ์โดยด่วน ด้วยการสั่งให้ยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสารต่างๆ กำหนดให้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตร เมื่อบัตรเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องรองรับก็จำเป็นต้องเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ไม่ใช่ใช้ปากกาเขียน

วิเชียร บอกต่อว่า ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ภายใต้จุดประสงค์สำคัญคือ ให้หน่วยงานแต่ละส่วนราชการ ไปปรับปรุงระบบฐานข้อมูลของตัวเองให้มีความถูกต้อง ครบถ้วนและทันสมัย เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของประชาชนที่ไม่มีใครอยากถ่ายสำเนาเพื่อติดต่อกับทางราชการอีกแล้ว

“มีนโยบายให้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทุกหน่วยงานราชการ มีคำร้องขอรับการสนับสนุนเครื่องอ่านบัตรจำนวน 1.8 เเสนตัวเเล้ว  ราคากลางตามที่กระทรวงไอซีทีกำหนดไว้อยู่ที่ประมาณ  900 บาทต่อเครื่อง เมื่อมีการปรับปรุง จากนี้จะไม่เรียกสำเนาอีก จะอ่านด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์  โดยกระทรวงมหาดไทยเองได้นำร่องไปหลายส่วนเเล้ว เช่น สำนักทะเบียนอำเภอเเละท้องถิ่นทั่วประเทศ  รัฐวิสาหกิจใหญ่ๆอย่างเช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการประปา ก็เริ่มมีการติดตั้งเครื่องอ่าน เพื่อบริการประชาชนแล้ว หรืออย่างพวกโรงพยาบาล กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งธนาคาร พวกนี้เขาใช้บัตรใบเดียวหมดแล้ว”

ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน ยอมรับว่า ความล่าช้าของการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรนั้นมีสาเหตุมาจากงบประมาณและปัญหาทางเทคนิคที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน !!!

“ระบบราชการเคลื่อนตัวได้ช้ากว่าเอกชนที่ปัจจุบันติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลผ่านบัตรมาหลายปีเเล้ว เช่น กลุ่มธนาคารต่างๆ ไม่ต้องขอสำเนาแต่อย่างใดในการเปิดบัญชีหรือฝากถอน รวมทั้งบริษัทธุรกิจเอกชนอื่นๆด้วยเช่นกัน เนื่องจากเขาไม่ติดเรื่องงบประมาณ  ผิดกับภาครัฐ จะขอซื้อเครื่องอ่านบัตร ต้องตั้งงบล่วงหน้า กว่าจะได้ก็ปีหน้า การขับเคลื่อนจึงเป็นไปอย่างล่าช้า เเต่ขอยืนยันว่าตอนนี้มีทิศทางที่ชัดเจนและดีขึ้น อนาคตประชาชนสามารถใช้บัตรใบเดียวเเละสามารถเรียกดูข้อมูลที่หน่วยงานราชการจัดเก็บได้แน่นอน

\"บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด\" ... ทำไมไม่ฉลาดสมชื่อ?

สร้างฐานข้อมูล เพิ่มศักยภาพบริการประชาชน

น้อยคนจะรู้ว่า ไมโครชิฟที่ฝังลงบนบัตรประชาชนของเรานั้นเก็บข้อมูลอะไรไว้ในนั้นบ้าง?

ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลในไมโครชิฟที่ฝังอยู่บนบัตรสมาร์ทการ์ดแบ่งเป็นข้อมูลสาธารณะและข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสาธารณะ คือ ข้อมูลทะเบียนราษฎรทั่วไป เช่น วันเดือนปีเกิด สถานที่อยู่ ขณะที่ ข้อมูลส่วนตัว จะเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากเจ้าของบัตร ได้แก่ ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า การเปลี่ยนชื่อนามสกุล การเกณฑ์ทหาร ประวัติการศึกษา โรงพยาบาลที่เจ้าของบัตรมีสิทธิประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้หลายคนยังมีข้อมูลไม่ครบ กระทรวงมหาดไทยกำลังเร่งสำรวจและเพิ่มเติมอยู่

"รัฐบาลได้ขับเคลื่อน 2 เรื่องหลักๆเพื่อให้บัตรสมาร์ทการ์ดนั้นใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพจริงๆคือ 1.สร้างฐานข้อมูลประชาชนเเละเชื่อมโยงระบบทะเบียนราษฎร์ กำหนดให้ส่วนราชการจัดทำฐานข้อมูลให้ครบถ้วน เช่น วุฒิการศึกษา กระทรวงศึกษาต้องมีฐานข้อมูลว่าคนนี้มีเรียนจบที่ไหน วุฒิการศึกษาแค่ไหน การเกณฑ์ทหาร กำลังพลสำรอง ประวัติอาชญากรรมกระทรวงกลาโหมและตำรวจก็ต้องมีฐานข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดเก็บสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละบุคคล กระทรวงเเรงงานต้องบอกพื้นฐานประกันสังคม กระทรวงการคลัง ต้องบอกได้ว่า คนนี้มีรายได้เท่าไหร่ เสียภาษีหรือไม่  กระทรวงการต่างประเทศ เก็บข้อมูลพาสปอร์ต  กระทรวงคมนาคม บอกประวัติการครอบครองรถยนต์และใบขับขี่ ข้อมูลทุกอย่างต้องเอาไปผูกรวมกันหมด กับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก

2.ปรับปรุงการบริการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนใช้บัตรใบเดียวติดต่อราชการได้จริง ในอดีตรัฐไม่มีศักยภาพในเรื่องข้อมูล วิธีการคือ ออกสำเนาให้ประชาชนถือเก็บไว้ เวลาจะติดต่อก็เอาสำเนามาให้เจ้าหน้าที่รัฐดู เเต่หลักการใหม่หน่วยงานรัฐต้องมีฐานข้อมูล โดยไม่ต้องดูสำเนาจากประชาชน เเนวทางนี้กำลังเดินหน้า ซึ่งสำรวจเเล้วพบว่าหน่วยงานราชการที่มีความพร้อมนั้นมีประมาณราว 10 กว่าหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน โดยจะมีสำนักทะเบียนกลางในฐานะที่มีข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดจากหน่วยงานต่างๆ เเละให้บริการข้อมูลกับหน่วยราชการเองด้วย"

สำหรับประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ที่ว่าจะระบุรายได้และอาชีพลงไปบนบัตรประชาชนนั้น  วิเชียร ยอมรับว่า คงเป็นไปได้ยาก หากจะแสดงข้อมูลทั้งสองอย่างนั้นลงในหน้าบัตรอย่างเปิดเผย เนื่องจากหลายคนทำอาชีพที่ไม่มีความแน่นอนในเรื่องรายได้

รายได้และอาชีพเปลี่ยนได้ทุกปี พิมพ์ไว้ถาวรไม่ได้ แนวคิดนี้จะเป็นลักษณะของการเก็บไว้ในชิฟ มีลักษณะเป็นข้อมูลส่วนตัว ที่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าตัวจึงสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เหตุผลที่รัฐต้องการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวก็เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ชัดเจนและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ปัจจุบันประชากร 60 กว่าล้านคน  มีจำนวนผู้ที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกรมสรรพากร ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90, 91 เพียงประมาณ 11 ล้านคน แต่ในบรรดาคนพวกนี้ มีผู้ที่เสียภาษีจริงๆ แค่ 2 ล้านคน อีกประมาณ 9 ล้านคน เข้ามายื่นภาษีอยู่ในระบบแล้ว เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ เหลือเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี จึงหลุดออกไปอยู่นอกฐานภาษี นั่นเท่ากับว่าเสียภาษีเเค่ 2 ล้านปลายๆ เอง เเนวคิดดังกล่าวนี้จึงมีขึ้นเพื่อบอกว่า ทุกคนต้องยื่นแสดงรายได้ หากยังไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี รัฐแค่อยากรับรู้เพื่อจัดทำนโยบาย  เหมือนกับเวลาที่สภาพัฒน์ฯ เเถลงว่ามีผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจนอยู่ 7.2 ล้านคน เเต่พอถามว่า 7.2 ล้านนั้น เป็นใครบ้าง เราตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าพวกนี้ทำอาชีพอะไรบ้าง”

วิเชียร ทิ้งท้ายว่า การอัพเดทข้อมูลทางด้านรายได้และอาชีพนั้น ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบฐานข้อมูล เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ประชาชนอาจต้องเเจ้งกระทรวงปีละครั้งเหมือนการเหมือนการยื่นเเบบ  ภ.ง.ด.90 / 91

\"บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด\" ... ทำไมไม่ฉลาดสมชื่อ?

สมาร์ทการ์ดสะท้อนความไม่โปร่งใส?

หนังสือชื่อ "เมนูคอร์รัปชั่นและการแสวงหาผลประโยชน์” หัวข้อ "บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด บัตรไม่ฉลาด ได้ช้า ราคาแพง" ตีพิมพ์โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เมื่อปี 2557 ได้ตั้งข้อสังเกตต่อความผิดพลาดของบัตรสมาร์ทการ์ดไว้อย่างน่าสนใจ ว่า หลังจากครม.มีมติเห็นชอบแผนการผลิตบัตรดังกล่าวตั้งแต่เมื่อปี 2547 ด้วยงบประมาณ 7,910 ล้านบาท แต่ปัจจุบันบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดแทบไม่ต่างจากบัตรประชาชนแถบแม่เหล็กแบบเดิม เนื่องจากไม่มีข้อมูลใดๆมากไปกว่าข้อมูลทะเบียนราษฎร์ นอกจากนั้นยังมีมูลค่าความเสียหายจากความไม่โปร่งใสในการจ้างผลิตอีกจำนวนมหาศาล

รัฐบาลดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบข้อมูล จากเดิมที่มุ่งหวังจะใช้บัตร ประชาชนสมาร์ทการ์ดเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลระบบประกันสุขภาพ ข้อมูลระบบประกันสังคม ฯลฯ แต่จากความไม่พร้อมดังกล่าว ทำให้ข้อมูลอื่นๆที่นอกเหนือจากข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร์ไม่ได้ถูกบรรจุลงในบัตร ส่งผลให้บัตร ประชาชนสมาร์ทการ์ดไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น ซึ่งแทบไม่ต่างจากบัตรประชาชนแถบแม่เหล็กแบบเดิมที่มีราคาเพียงใบละประมาณ 15 บาท

การกำหนดเงื่อนไขการประมูลไว้สูง โดยมิใช่เงื่อนไขด้านเทคนิค ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีน้อยราย ขาดการแข่งขันอย่างทั่วถึง เป็นเหตุให้ราคาประมูลสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในการประมูลราคาจ้างเหมาผลิตบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด รุ่นที่ 1 ที่ตั้งราคาประมูลเริ่มต้นไว้สูงถึง 120 บาท ในขณะที่เคยมีรายงานว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถจัดทำ บัตรดังกล่าวได้ในราคาใบละประมาณ 40 บาทเท่านั้น

ความไม่โปร่งใสในการประมูล ทำให้การดำเนินการจัดจ้างผลิตบัตรประชาชนล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ราว 2 ปีครึ่ง ในขณะที่มี ความต้องการใช้บัตรประชาชนถึงปีละกว่า 10 ล้านใบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก

ปัญหาความล่าช้าในการจ้างผลิตบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดซื้อบัตรแถบแม่เหล็กเพื่อใช้แทนบัตรสมาร์ทการ์ด โดยในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดทั้ง 3 รุ่น (มีนาคม 2547 ถึงพฤษภาคม 2552) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องจัดซื้อบัตรแถบแม่เหล็กเพื่อใช้ทำ บัตรประชาชนอย่างน้อย 21 ล้านใบ คิดเป็นงบประมาณกว่า 320 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้คือ ปูมหลังของบัตรประชาชนแบบเอนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ดที่ได้แต่หวังว่ากระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยราชการได้ดียิ่งขึ้น จนสามารถใช้งานบัตรสมาร์ทการ์ดได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ต้องหอบเอาสำเนาหรือเสียค่าถ่ายเอกสารอีกต่อไป