posttoday

การเมืองไทยในยุค 4จี

03 มกราคม 2559

โลกกำลังเข้าสู่ “อนาธิปไตยในยุคดิจิทัล” “อนาธิปไตย” เป็นแนวคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง หมายถึง

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

โลกกำลังเข้าสู่ “อนาธิปไตยในยุคดิจิทัล”

“อนาธิปไตย” เป็นแนวคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง หมายถึง การปกครองที่ไม่ต้องพึ่งพารัฐ (อ่านว่า รัด-ถะ หมายถึง ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจ) หรือรัฐบาล บางทีก็เรียกว่า “อรัฐนิยม” คือไม่ชอบให้ใครมาปกครอง หากมองในแง่ร้าย ก็เหมือนว่าต่างคนต่างอยู่ ไร้กฎระเบียบ แต่ถ้ามองในแง่ดี การให้ความสำคัญกับมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ที่ทุกคนมีเสรีภาพและดูแลตัวเองได้

“อนาธิปไตย” นี้เป็น “ลัทธิในฝัน” ของมนุษย์มาแต่โบราณ โดยที่ในบางศาสนาก็มีแนวคิดแบบ “โลกในสวรรค์” อย่างเช่น ในพวกชาวพุทธก็มีเรื่องของ “ชีวิตอิ่มทิพย์” หรือ “โลกพระศรีอาริย์” และในแนวคิดชาวคริสต์ก็มีเรื่อง “ยูโทเปีย” หรือที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “รัฐในอุดมคติ”

“อนาธิปไตย” นี้เกิดมาพร้อมๆ กันกับ “ประชาธิปไตย” ด้วยแนวคิดตอนเริ่มแรกคล้ายๆ กัน คือเรื่องของ “เสรีภาพ” แต่เสรีภาพของอนาธิปไตยนั้นไม่อาจมีใครมา “จำกัด” ได้ ขึ้นอยู่กับตัวคนแต่ละคนที่จะควบคุมเองเอง ส่วนเสรีภาพของประชาธิปไตยจำเป็นจะต้องมีการจำกัดหรือควบคุม ด้วยการตกลงกันของผู้คนทั้งหลาย ที่เรียกว่า “สัญญาประชาคม” รวมถึงให้มีการมอบหมายการดูแลในเรื่องนี้ให้กับรัฐ ซึ่งเป็น “ตัวแทน” การใช้อำนาจของผู้คน

“อนาธิปไตย” ถูกมองว่าเป็นลัทธิที่น่ารังเกียจ ทั้งจากพวกประชาธิปไตย เผด็จการ และสังคมนิยม เพราะพวกเหล่านี้สนับสนุนการมีรัฐ เพียงแต่มีวิธีการใช้อำนาจของรัฐแตกต่างกันไป อย่างพวกประชาธิปไตยก็ต้องใช้อำนาจโดยฉันทานุมัติของประชาชน ส่วนพวกเผด็จการก็จะให้รัฐควบคุมเพียงฝ่ายเดียว เช่นเดียวกันกับพวกสังคมนิยมก็ต้องมีรัฐมาควบคุมแบ่งปัน ดังนั้นอนาธิปไตยจึงเป็น “หมาหัวเน่า” ในสายตาของพวกที่มีแนวคิดที่ส่งเสริมอำนาจรัฐดังกล่าว รวมถึงที่มีการมองว่าอนาธิปไตยเป็นลัทธิ “อันตราย” ที่จะนำความสิ้นสลายมาสู่มนุษยชาติ

หันมามองลัทธิ “ยอดนิยม” อย่างประชาธิปไตย ก็จะพบว่าประชาธิปไตยก็กำลังจะถึงจุดจบเช่นกัน ประชาธิปไตยแบบดั้งเดิมเชื่อมั่นในสัญญาประชาคม คือข้อตกลงร่วมกันของคนทั้งหลาย (โดยข้อตกลงนี้ในรัฐชาติสมัยใหม่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”) เพื่อที่จะมอบหมายให้ “ผู้แทน” ที่ยอมอยู่ใน “อาณัติ” หรือเชื่อฟังประชาชน ไปบริหารดูแลการปกครองประเทศ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้กำหนดด้วยว่า ผู้แทนเหล่านั้นต้องทำหน้าที่อะไร มีระยะเวลาในการทำงานเป็นเทอมๆ ไป เช่น คราวละ 5 ปี เราเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

ประชาธิปไตยแบบตัวแทนนี้ประสบปัญหาเรื่อยมา ส่วนหนึ่งก็คือการที่แต่ละประเทศมีกลุ่มประชากรอันหลากหลาย ความต้องการของผู้คนแตกต่างกันมากมาย ยากที่ “ผู้แทน” จะสนองตอบต่อความต้องการทั้งหลายนั้นได้ รวมถึงการมีลัทธิคู่แข่ง เช่น สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ให้ผู้คนได้เปรียบเทียบ หลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็นำไปเอาแนวคิดของสังคมนิยมนั้นมาผสมร่วมด้วย อย่างที่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ” (ปัจจุบันนี้แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ใช้แนวคิด “ประชาธิปไตยผสมสังคมนิยม” อย่างการให้บริการสาธารณสุขที่รัฐต้องให้การโอบอุ้มมาตั้งแต่ที่โอบามาขึ้นสู่ตำแหน่งในสมัยแรก) และก็มีบางประเทศที่มีการใช้เสรีภาพจนมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหากับประชาธิปไตย ที่คนจำนวนมากไม่เชื่อว่าเป็นลัทธิที่ดีจริง หรือ “เลวน้อยที่สุด”

ยิ่งในบางประเทศการแอบอ้างประชาธิปไตยโดยนักการเมืองชั่วๆ ทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ ประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังมีนักการเมืองที่อาศัยประชาธิปไตยนี้ “คอร์รัป” หรือกอบโกยแสวงหาประโยชน์ได้อย่างแนบเนียน ทำให้ผู้คนเริ่มไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้น แล้วหันมาพูดคุยกันในเรื่อง “การปกครองตนเอง” และเรียกร้องที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจดังกล่าวโดยตรง ที่พวกนักนิยมประชาธิปไตยก็ยังใช้ชื่อเรียกหรูๆ ว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” หรือ “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” นัยว่าจะยังคงให้ผู้คนนิยมนับถือในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

ในความคิดส่วนตัวของผู้เขียนที่เฝ้าติดตาม “พัฒนาการ” ของระบอบประชาธิปไตยมากว่า 50 ปี (ก็นับตั้งแต่ที่เรียนมาในคณะรัฐศาสตร์นั่นเลย) ก็มีความเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ น่าจะ “พ้นสมัย” คือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์และชีวิตผู้คนในปัจจุบัน

ประการแรก ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับ “ความเสื่อม” ดังที่กล่าวมาในย่อหน้าก่อนหน้านี้ ที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนกำลังเสื่อมความเลื่อมใสศรัทธา แม้จะมา “บิดพลิ้ว” ให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ผู้คนก็ไม่เชื่อน้ำยาอีกแล้ว เพราะถึงอย่างไรอำนาจทั้งหลายก็ยังอยู่ในมือนักการเมืองและผู้ปกครองทั้งหลายอยู่ดี ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็น “สิ่งชั่วร้าย” ในสายตาของคนสมัยใหม่ ที่มีความเชื่อมั่นว่า “ไม่มีใครรักและเข้าใจเราเท่ากับตัวเราเอง”

ประการต่อมา ประชาธิปไตยไม่ว่าจะเรียกในชื่อหรือเปลี่ยนแปลงเป็นชื่อใดๆ ก็ยังถือคติหรือหลักคิดว่า “เสียงข้างมากเป็นใหญ่” ซึ่งขัดกับสภาพของสังคมที่มีความแยกย่อยหลากหลาย ตราบใดที่ประชาธิปไตยยังไม่เปลี่ยนแนวคิดแบบนี้ คนจำนวนหนึ่งที่เป็นพวก “จำนวนน้อย” ก็ยังจะคิดว่าพวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือยังคงเป็นแค่ “คนไม่สำคัญ” ดังที่จะเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันของคนเหล่านี้ ทั้งในกลุ่มสังคมจัดตั้งตามรูปแบบทั่วไป และกลุ่มสังคมแบบ “เสมือนจริง” ที่มีการจัดตั้งในโลกไซเบอร์ ที่มีอิทธิพลมาก็คือ “โซเชียลมีเดีย” ต่างๆ นั่นเอง

อีกประการหนึ่ง จากการที่ผู้คนจำนวนมากได้แยกตัวออกจาก “พื้นที่สังคมทั่วไป” มาใช้พื้นที่ในโลกไซเบอร์เพื่อสื่อสารและแสดงออกในความต้องการต่างๆ ยิ่งทำให้รัฐหรือผู้ปกครอง “จัดการดูแล” ผู้คนกลุ่มนี้ ที่ในอนาคตจะกลายเป็น “ประชากรกระแสหลัก” และรัฐก็จะหมดโอกาสที่จะเข้าไปดำเนินการควบคุมใดๆ แก่คนกลุ่มนี้ที่จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วที่สุดประชากรกลุ่มนี้ก็จะ “ครองโลก” จึงอาจเป็นไปได้ว่ารัฐจะหมดความสำคัญลงเรื่อยๆ จนไม่มีความจำเป็นในที่สุด

ผู้เขียนจึงค่อนข้างหงุดหงิดที่เห็นผู้มีอำนาจในบางประเทศ “มะงุมมะงาหรา” หาทางจัดการกับการแสดงความคิดเห็นของผู้คนในโลกไซเบอร์อย่างเอาเป็นเอาตาย โดยเชื่อว่า “จะเอามือปิดฟ้า” นั้นได้ แทนที่จะปรับความคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากการ “ระเบิด” ของปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไร เป็นต้นว่า ใช้เป็น “ปรอท” ในการวัดความนิยม ใช้เป็น “กระจก” ในการส่องหาข้อบกพร่อง หรือใช้เป็น “เข็มทิศ” ที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป

โลกพระศรีอาริย์ยุค 4จี กำลังเกิดขึ้นแล้ว!