‘ข้าวอินทรีย์บ้านดอกบัว’ สะท้อนวิถี ‘หมู่บ้านพอเพียง’
ลัดเลาะริมกว๊านพะเยาด้านทิศตะวันตกล่องขึ้นไปทางทิศเหนือ ในพื้นที่ ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา
โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล
ลัดเลาะริมกว๊านพะเยาด้านทิศตะวันตกล่องขึ้นไปทางทิศเหนือ ในพื้นที่ ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา จะเห็นป้าย “หมู่บ้านจักสานไม้ไผ่” เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร พบซุ้มประตูต้อนรับเข้าสู่หมู่บ้าน “ดอกบัว” ที่นี่คือชุมชนท้องถิ่นที่เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนเป็นหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้
ในบริเวณหมู่บ้านตลอดสองข้างทาง มีแปลงไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกสลับสีสันอย่างงดงาม ติดกับร่องน้ำธรรมชาติใสจนเห็นพื้นน้ำที่ไหลผ่านตลอดเวลา บริเวณทางแยก ทางร่วม ซอย ตรอกเล็กๆ ในหมู่บ้าน จะพบป้ายข้อความให้กำลังใจและเตือนสติทุกระยะ
รอบหมู่บ้านมีทุ่งนาข้าว สวนไผ่ ลำธาร ทุกสรรพสิ่งล้วนหล่อเลี้ยงชีวิตคนบ้านดอกบัวให้มีความสุขกับวิธีแห่งวิถีของธรรมชาติอย่างแท้จริง ในหมู่บ้านมีทั้งกลุ่มข้าวอินทรีย์ กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มเลี้ยงวัว กลุ่มทำปุ๋ยหมัก ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มยืนหยัดด้วยตนเอง พึ่งพิงเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งตั้งแต่ในครัวเรือนขึ้นมา
“บ้านดอกบัว” เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่พอเพียง ช่วยเหลือเจือจุนผู้คนในชุมชน ไม่มองสิ่งที่ขาด แต่มองเห็นสิ่งที่มีอยู่และสร้างคุณให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน นำพาไปสู่หมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ “ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2553-2554”
บาล บุญก้ำ ผู้ใหญ่บ้านรางวัลแหนบทองคำ วัย 45 ปี แห่งบ้านดอกบัว กล่าวว่า ช่วงปี 2532 ประชาชนในหมู่บ้านมีสุขภาพไม่แข็งแรง ป่วยเข้าโรงพยาบาลกันจำนวนมาก เนื่องจากทำการเกษตรที่ต้องพึ่งสารเคมีเกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้หันมาทำการเกษตรงดใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเองด้วยกระบวนการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลัก
“หลังจากที่มีการปลูกข้าวรับประทานกันเองตามวิถีธรรมชาติแล้ว สุขภาพของคนในหมู่บ้านดีขึ้น สถิติการเจ็บป่วยลดน้อยลง ได้รับประทานข้าวที่มีคุณภาพ เมื่อเหลือกินจึงขาย กระบวนการต้องละเอียดและมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ระบุคุณค่าทางโภชนาการ แหล่งผลิตที่สามารถตรวจสอบได้ ยืนยันและพิสูจน์คุณภาพด้วยวิถีชีวิตของคนบ้านดอกบัว จึงเป็นที่มาของข้าวอินทรีย์บ้านดอกบัว”
บ้านดอกบัวเริ่มผลิตข้าวอินทรีย์เป็นสินค้าสู่ตลาดข้าวเพื่อสุขภาพเมื่อปี 2550 และทำเป็นรูปธรรมจริงจังในปี 2556 เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บ้านดอกบัวไปยังพื้นที่ต่างๆ และสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มและประชาชนในหมู่บ้าน
กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์บ้านดอกบัวมีสมาชิกจำนวน 149 ราย แต่สมาชิกที่ทำประจำจำนวน 68 ราย โดยผลิตข้าวอินทรีย์และนำผลผลิตมารวมเพื่อบรรจุภัณฑ์และส่งออกขายนอกพื้นที่อย่างต่ำเดือนละ 2,000 กิโลกรัม โดยมีรายการสั่งซื้อจากพระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย เดือนละ 1,000 กิโลกรัม ที่เหลือบรรจุขายถุงละ 1 กิโลกรัม มีรายได้เข้าหมู่บ้านเดือนละกว่า 1.2 แสนบาท
จากการทำรับประทานกันในครัวเรือนจึงยกระดับเป็นสินค้าประจำหมู่บ้าน และกลายเป็นของดีระดับจังหวัด รับประกันด้วยรางวัลคุณภาพระดับประเทศ
“กระบวนการผลิต แปรรูปและจำหน่ายข้าวอินทรีย์บ้านดอกบัว ทางกลุ่มของเราได้วางแผนและดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ กระบวนการผลิต กลางน้ำ คือ การแปรรูป และปลายน้ำ คือ การตลาด โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ให้การสนับสนุนอย่างดีตลอดมา ระบบการตลาด ซื้อขายทั้งในหมู่บ้าน ขายผ่านทางเว็บไซต์ www.bandokbua.com”
ไม่เพียงมีกลุ่มอาชีพที่สร้างรายได้อย่างหลากหลายเท่านั้น ผู้ใหญ่บาล ยังนำประชาชนในหมู่บ้านมาทำทำนบกั้นน้ำลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ ต.บ้านตุ่น อีกแห่งหนึ่งด้วย
“ต้นน้ำในหมู่บ้านมาจากความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำกว๊านพะเยา และป่าไม้ไผ่ก็มีส่วนทำให้เกิดความชุ่มชื้นตลอดปี ผมและชาวบ้านทำฝายกั้นน้ำเล็กๆ หรือฝายแม้ว ไม่ได้ทำตามกระแสที่ทางรัฐมีนโยบาย เช่น ที่ในป่าสูง และจำนวนมาก แต่ทำในลำธารกลางหมู่บ้าน จำนวนน้อย เพื่อเก็บกักน้ำให้ประชาชนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภค ด้านการท่องเที่ยว ขณะนี้บริเวณที่สร้างฝายกั้นน้ำขนาดเล็กมีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การท่องเที่ยว ซึ่งทางหมู่บ้านได้สร้างลานนั่งไม้ไผ่กลางน้ำ สำหรับผู้ที่ชอบมาเที่ยวพักผ่อนยามเหนื่อยล้าให้ได้รับความสดชื่น”
“บ้านดอกบัว” คืออีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งด้านการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า...