กิจกรรมดีๆ ในวันสำคัญทางศาสนา
โดย...อ.ตุ้ย วรธรรม
เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหลักๆ ที่ชาวพุทธรู้จัก ไม่ว่าจะวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ก็จะเห็นว่าชาวพุทธเราได้ทำกิจกรรมดีๆ หลายอย่าง
ตอนเช้าก็จัดเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศน์ที่วัด บางคนก็สมาทานรักษาศีล 8 ไปด้วย ตกเย็นก็ไปร่วมกิจกรรมเวียนเทียนที่วัด เสร็จสรรพก็แยกย้ายกลับบ้าน
เป็นภาพที่ปรากฏทุกวัด แต่เมื่อพิจารณาแล้วการทำแค่นี้ก็ถือว่าน้อยไป ซึ่งดูเหมือนว่ายังขาดความสมบูรณ์อะไรบางอย่างไป และไม่สมกับเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสักเท่าใด
เพราะดูเหมือนต่างคนต่างทำ เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
จริงอยู่ หากพูดเรื่องนี้อาจมีคนแย้งว่า การทำกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ผู้ใดทำ ผู้นั้นได้ ใครทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่มีใครว่า
แต่หากนึกทบทวนกลับมาที่ฐานะชาวพุทธแล้วทุกคนมีหน้าที่สำคัญเหมือนกันหมด คือ หน้าที่ในการรักษาและจรรโลงพระพุทธศาสนาให้อยู่ตราบนานเท่านานเป็นมรดกและเป็นที่พึ่งให้พุทธอนุชนรุ่นหลัง
วันสำคัญอย่างนี้ อยากเสนอให้ทำกิจกรรมในรูปแบบที่ทุกคนทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้จริงๆ อยากให้ทำเป็นรูปแบบถาวร
ส่วนท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็สุดแต่ครับ แต่กิจกรรมที่อยากเสนอให้ทำนั้นมีทั้งในส่วนของวัดและส่วนของบ้าน ซึ่งหมายถึงครอบครัว ชุมชน โรงเรียน
กล่าวคือในส่วนของวัดเอง อยากเสนอให้จัดกิจกรรมสำหรับพระเณรในวัดได้ทำกัน เช่น การจัดเวทีถกธรรมะ ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาแล้วถกกัน การตอบปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
การฝึกบรรยายธรรมหรือแสดงธรรมโดยเปิดโอกาสให้แต่ละรูปได้แสดงความสามารถของตนในเชิงธรรม เพราะทุกวันนี้จะหาพระแสดงธรรมเก่งๆ ให้ชาวบ้านฟังนั้นนับวันมีแต่จะน้อยลง
การท่องจำพระพุทธพจน์โดยยึดตามหนังสือพระไตรปิฎกทั้งบาลีและภาษาไทย (กำหนดเรื่องไหนตอนไหนก็บอกล่วงหน้าเพื่อให้พระเณรได้เตรียมตัวก่อน) เหมือนที่ประเทศพม่าทุกปีจะมีการจัดแข่งขันท่องจำพระไตรปิฎก
กิจกรรมต่างๆ เป็นต้นนี้อย่างน้อยควรจะต้องมีในวันสำคัญเช่นนี้ นอกเหนือจากกิจกรรมที่มีประชาชนมาร่วมในตอนเช้าและตอนเย็น
ในส่วนของชาวพุทธเองขอเน้นไปที่เด็กและเยาวชน อยากเสนอให้ทำกิจกรรมเหมือนกัน ซึ่งก็มีหลายอย่าง เช่น การตอบปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งในส่วนหลักของธรรมและพุทธประวัติ
การบรรยายธรรม ซึ่งจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้สามารถบรรยายธรรมได้เก่งไม่แพ้ผู้ใหญ่ ซึ่งจะเห็นว่ามีการจัดขึ้นในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันสำคัญต่างๆ
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่เด็กและเยาวชนผู้เป็นชาวพุทธควรจะต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นต้น
โดยการจัดกรรมต่างๆ เหล่านี้ควรจัดขึ้นที่วัดจะเหมาะสมที่สุด โดยโรงเรียนและชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องให้การส่งเสริมเต็มที่
พ่อแม่จะต้องปลูกฝังลูกๆ ให้รู้จักการรักษาและหวงแหนพระพุทธศาสนาด้วยการสอนให้ลูกรู้ว่าการเป็นคนดีนั้นเป็นอย่างไร และต้องทำอย่างไรบ้างโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไปช่วย
อย่างเช่นธรรมะเรื่อง ความกตัญญกตเวที ความเมตตากรุณา ความอดทนอดกลั้น ซึ่งจะต้องสอนให้เขาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาว่าสำคัญต่อชีวิตเขาอย่างไร
เมื่อเป็นอย่างนี้ ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนต่างก็จะได้ประโยชน์ที่สมบูรณ์ คือ พ่อแม่ก็มีลูกเป็นคนดี โรงเรียนก็ได้นักเรียนที่ดี ชุมชนก็ได้สมาชิกชุมชนที่ดี
เพราะวันสำคัญอย่างนี้จึงไม่อยากให้ชาวพุทธรอคอยแค่การเวียนเทียนแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่อยากให้ทุกคนได้ทำอะไรที่มากกว่านั้นที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ