พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.9)
เรื่องฐานความรู้ (หลักวิชา) ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมมังคลาจารย์ วิ.(หลวงพ่อทอง)
โดย...90 ปี พระธรรมมังคลาจารย์ วิ.
เรื่องฐานความรู้ (หลักวิชา) ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมมังคลาจารย์ วิ.(หลวงพ่อทอง) วัดพระธาตุศรีจอมทอง ฉบับนี้ จะกล่าวถึงความคืบหน้าต่อจากฉบับที่แล้ว ซึ่งเป็นผลงานของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก) ที่ศึกษาจากสหภาพเมียนมา และกลับมาเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย
พระธรรมธีรราชมหามุนี
สำหรับประวัติโดยย่อของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.9) ปรากฏในคำนำของหนังสือวิปัสสนากรรมฐานที่ท่านประพันธ์ (2552 : คำนำ) ท่านเป็นวิปัสสนาจารย์สอนที่วัดมหาธาตุ มาตั้งแต่กลับจากเมียนมา เป็นผู้กระทำให้วิปัสสนาเป็นที่สนใจในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
กระทั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ต้องบอกบุญสร้างห้องกรรมฐานรอบพระวิหารของวัดพระมหาธาตุ เป็นจำนวนกว่า 100 ห้อง สำหรับใช้ปฏิบัติกรรมฐาน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จมาขอกรรมฐานเป็นการส่วนพระองค์กับพระธรรมธีราชมหามุนี เช่นเดียวกับพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็ได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับพระธรรมธีรราชมหามุนี และท่านได้บันทึกรับรองว่า วิธีสอนวิปัสสนากรรมฐานของพระธรรมธีรราชมหามุนี ถูกต้องตามร่องรอยในมหาสติปัฏฐานสูตรทุกประการ
สำหรับพระภิกษุสงฆ์จากหัวเมืองที่มาเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หลังจากปฏิบัติได้ผลดีแล้ว ส่วนมากจะเข้ารับการอบรมฝึกฝนเป็นอาจารย์สอนกรรมฐาน และกลับไปสอนกรรมฐานยังหัวเมืองต่างๆ ทำให้สำนักวิปัสสนากรรมฐานเกิดมีขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ใน พ.ศ. 2508 ได้มีจัดตั้งวัดไทยขึ้นในกรุงลอนดอน ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “วัดพุทธปทีป” พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดป้ายชื่อวัด เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2509 วัดพุทธปทีปนับเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอังกฤษ และซีกโลกตะวันตก
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.9) ได้ละสังขารลงในวันที่ 30 มิ.ย. 2531 ท่านเปรียบความสำคัญของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แบบพองหนอ-ยุบหนอ (อ้างในพัชรินทร์ พรชัยสำเร็จผล, 2552 : 49) ว่า “...อุปมาเหมือนการเติมน้ำมันรถ สำหรับการเจริญวิปัสสนา การกำหนดในอิริยาบถน้อยใหญ่เป็นการทำลายกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เพราะเหตุดังกล่าว คำบริกรรมพองยุบจึงมีประโยชน์ช่วยให้จิตจดจ่อมาก และสามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน...”
สรุปแล้วการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบพองหนอ-ยุบหนอนี้ สืบทอดมาจากอินเดียโบราณ ราว พ.ศ. 235 ต่อมาเจริญรุ่งเรืองในประเทศเมียนมา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 25 มีพระวิปัสสนาจารย์ พระมิงกุล เชตะวัน สยาดอ หรือ ภัททันตะนารทเถระ และศิษย์ ได้แก่ มหาสีสยาดอ เป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนามั่นคงในประเทศเมียนมาดีแล้ว การวิปัสสนาแนวนี้จึงแผ่เข้าสู่ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) เมื่อราวปี 2496 โดยมีพระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ (ประเทศเมียนมา) และพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ (ประเทศไทย) ท่านจึงเป็นกำลังหลักในการเผยแผ่ความรู้ด้วยการวิปัสสนากรรมฐานแบบพองหนอ-ยุบหนอ จนได้รับความสนใจจากประชาชนป็นอย่างมาก
ปัจจุบันพระธรรมมังคลาจารย์ วิ. เป็นพระวิปัสสนาจารย์แนวพองหนอ-ยุบหนอ รูปสำคัญของประเทศไทยและประเทศเมียนมา
1.2 พอง-ยุบ
พองหนอ-ยุบหนอนี้ พระมหาสีสยาดอ แสดงไว้ในวิสุทธิญาณกถา ยกมาอ้างโดย พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ว่า “โยคีบุคคลเมื่อนั่งลงแล้ว ในบริเวณท้องนั้น อัสสาสะปัสสาสะ วาโยธาตุ เป็นเหตุเป็นปัจจัย วาโยโผฏฐัพพะรูปนี้ปรากฏชัดเจนอยู่เสมอ ในขณะนั้นพึงตั้งสติกำหนดเจริญวิปัสสนาภาวนา ว่า พองหนอ-ยุบหนอ” ดังนี้
พระเทพสิทธิมุนี หรือต่อมาคือพระธรรมธีรราชมหามุนี (ญาณสิทฺธิเถร ) (2546 : 21-22) ได้ชี้ให้เห็นว่า พองหนอ-ยุบหนอ นั้นยังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 12 หน้า 103 บรรทัดที่ 18 อีกด้วยว่า “โส สโต ว อสฺสสติ สโต ว ปสฺสสติ” ส่วนคำว่าหนอนั้นปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 หน้า 181 แปลมาจากภาษาบาลี ว่า “วต” บทนี้ พระภิกษุสามเณรได้ใช้ชักผ้าบังสุกุลอยู่เสมอ ดังว่า “อนิจจา วต สงฺขารา” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ” ดังนี้เป็นต้น