หลักการส่องพระเนื้อสัมฤทธิ์ ให้ได้พระแท้
นอกจากความศรัทธาชื่นชอบของเหล่านักสะสมพระเครื่องแล้ว การดูพระว่าจริงแท้หรือปลอมเทียม
โดย...เอกชัย จั่นทอง
นอกจากความศรัทธาชื่นชอบของเหล่านักสะสมพระเครื่องแล้ว การดูพระว่าจริงแท้หรือปลอมเทียม ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง หากมีพระดีและแท้ครอบครองอยู่ในมือ ถือว่าดวงเฮง แต่นักสะสมบางคนลงทุนกับพระไปแต่ดันได้พระปลอมกลับคืนมา นั่นย่อมเจ็บใจกว่า ดังนั้นสัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปชมเคล็ด (ไม่ลับ) การส่องพระพุทธรูปบูชาเนื้อสัมฤทธิ์ ว่ามีวิธีการดูอย่างไรจึงจะได้พระที่ถูกใจและไม่ใช่ของปลอม
1.พระเก่าเราดูรูปแบบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยใด เป็นสมัยลพบุรี เชียงแสน อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา ถูกต้องหรือไม่ เป็นฝีมือช่างราษฎร์ หรือฝีมือช่างหลวง 2.พระเก่าต้องมีคราบสนิม มีรอยสึกกร่อนแอ่ง รูพรุนปลายเข็ม รอยชำรุดแตกร้าว เนื้อแห้งสนิท ผิวเข้ม เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างที่ว่าสนิมอยู่ในเนื้อ 3.พระเก่าแท้เห็นแล้วอยากได้ไว้เป็นเจ้าของมีความซึ้งตา ซึ้งใจ เนื้อผิวของพระเนียนสนิท
4.พระเก่าเอามือลูบดูทั่วองค์พระทุกจุด จะไม่มีรอยคมติดมือ 5.ถ้าตรงไหนมีเนื้อในของพระสึกกร่อนจนเห็นเนื้อโลหะ เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ตรงนั้นจะมองเห็นสีแดงปนเหลืองหรือค่อนข้างแดง หมองหม่น คล้ำ สีซีด ไม่มันวาว ไม่เป็นสีเหลืองเหมือนทองเหลืองล้วนๆ 6.พระเก่าผิวเนื้อจะมันใส แห้งสนิท ของทำปลอมที่ทำเลียนแบบผิวเนื้อของพระจะมันวาว เช่น ดำมันวาวหรือแดงน้ำตาลไหม้มันวาว พระของใหม่เนื้อจะกระด้างไม่งามติดตา หรือให้ช่างรมดำเอา
7.พระเก่าถ้าเป็นพระนั่งเคาะดูที่ฐานนั่งจะมีเสียงดังแปะๆ ถ้าเป็นพระใหม่จะมีเสียงดังหนักแน่นกังวาน ที่มีเสียงดังกังวานเพราะเนื้อพระยังใหม่กินตัวกับอากาศยังไม่นานพอ 8.พระเก่าเนื้อแห้งสนิท ผิวเนื้อของพระไม่เรียบตึง เนื้อพระเก่าจะมีรอยย่นเหี่ยว แอ่ง รูพรุน สำกร่อน ส่วนมากมีรอยชำรุดแตกร้าว ใช้แว่นขยายส่องจะมองเห็นได้ชัดเจน 9.พระเก่ามีรูสนิมขุม หรือขุมสนิมจะเกิดจากด้านในมาด้านนอก ปากสนิมขุมจะเล็กด้านในกลวง สนิมที่ทำเทียมใช้กรดราดกัดเนื้อพระ ปากสนิมจะกว้าง ด้านในเล็ก สนิมจะกัดกินเนื้อพระสม่ำเสมอ พระเก่าสนิมขุมจะเป็นแอ่งขรุขระสูงๆต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอ
10.ดินหุ่นด้านในใต้ฐานของพระ พระเก่าดินหุ่นมักจะหนา แข็ง แห้งสนิท ถ้าเอานิ้วมือแตะดูดินหุ่นจะติดมือเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่ติดมือเลย 11.ขอบโลหะพระนั่งด้านล่าง คือตรงฐานที่เราตั้งพระนั่ง พระเก่าแท้ขอบด้านล่างจะมีผิวสนิมเหมือนกับสนิมขององค์พระ ไม่มีรอยตะไบ ขอบด้านล่างถ้าทำปลอมหรือทำใหม่ทาน้ำยาเคมีจะไม่ติดแน่น จึงทำให้ผิวขอบพระนั่งด้านล่างแตกต่างจากองค์พระไม่มากก็น้อย
12.เม็ดพระศกก้นหอยขององค์พระเก่าแท้ผู้สร้างเป็นคนโบราณ ได้ปั้นเม็ดพระศกของพระด้วยมือ ทุกเม็ด ฉะนั้นพระศกอาจมีเล็กใหญ่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ซึ่งแถวเรียงเม็ดพระศกอาจบิดเบี้ยวไม่ตรงบ้าง แต่หากเม็ดพระศกของพระปลอมหรือพระใหม่ จะมีรอยขีดเป็นเส้นโค้งไปตามแนวเศียรพระ และวางเรียงเม็ดพระศกเป็นระเบียบเรียบร้อย
13.พระใหม่เม็ดพระศกด้านหน้าตรง เศียรจะยกของสูงกว่าพื้นผิวจนเห็นชัด บางทีเห็นเป็นเส้นเป็นแอ่งชัดเจน พระเก่าแท้เม็ดพระศกด้านหน้าจะอยู่ในระดับเดียวกับเศียรพระ ไม่มีรอยขีดและเป็นไปตามธรรมชาติ พระบูชาถ้าเป็นพระสมัยสูงมีอายุเก่าเกิน 800 ปีขึ้นไป เช่น พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ฐานเขียง ไม่มีบัว เม็ดพระศกของพระจะแตกบี้เห็นได้อย่างชัดเจน 14.พระเก่าผิวเนื้อ ผิวสนิมจะมองเห็นได้ชัดเจน ไม่ใช่ผิวสนิมเนื้อของพระมองดูเป็นสีเดียวโล้นๆ ซึ่งเป็นผิวสนิมของพระใหม่
15.พระเก่าเมื่อดมดูจะไม่มีกลิ่นฉุน ดมดูจะรู้สึกเฉยๆ หรือเมื่อเอาลิ้นแตะเนื้อพระดูจะไม่ดูดลิ้น เนื้อพระใหม่เอาลิ้นแตะดูจะดูดลิ้น เพราะในเนื้อพระน้ำยาเคมียังระเหยไม่หมด 16.พระบูชาที่เอาเนื้อพระเก่าที่แตกหักชำรุดหรือไม่สวยงามมาเทสร้างใหม่เป็นพระสมัยสูง มีราคาแพง เช่น พระพุทธรูปเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี นั้นต้องสังเกตให้ดี ผิวสนิมเนื้อของพระที่เทใหม่จะไม่มันใสแต่มีความเก่า เนื้อพระเก่านี้จะดูด้านๆ และเนื้อโลหะไม่เข้ากันสนิท ดำๆ ด่างๆ ผิวหยาบ ทำดินหุ่นไม่เหมือนของเก่า หรือบางทีก็ไม่มีดินหุ่น เอามือจับลูบดูอาจขอบคมอยู่บ้าง
17.เคล็ดลับหรือตำหนิพระเก่าแท้ พระบูชาสมัยเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี โดยพระที่มีลักษณะถูกต้องแท้จริง ต้องประกอบไปด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง คือ ขอบหรือจีบชายจีวรที่พาดผ่าน พระอุระของพระจากด้านหน้าวกโค้งไปด้านหลังจะมีจีบเป็น 2 จีบ ถัดมาเหนือคิ้วขององค์พระจะมีขีดเล็กๆ โค้งไปตามคิ้วอย่างสวยงาม ส่วนพระสังฆาฏิของพระด้านหลังจะไม่ถึงที่นั่นคือปลายสังฆาฏิด้านหลังพระจะไม่หยุดอยู่แค่สะโพก
พระบูชาที่ไม่มีตำหนิดังกล่าวนั้น ยอมเป็นของเก่าแท้อย่างแน่นอน และพระใหม่หรือพระปลอมเลียนแบบอาจจะมีตำหนิดังกล่าวนี้เช่นกัน ดังนั้นหากจะยึดดูแต่ตำหนิเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ทำไมเซียนพระเพียงแค่มองดูไม่ได้จับต้องก็รู้ว่าพระนั้นเป็นพระเก่าหรือพระใหม่ อย่างนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเซียนพระยึดถือตำหนิดังกล่าว จึงบอกว่าเป็นพระแท้ได้ถูกต้องตามหลักเท่านั้น