คสช.พลิกเกมประชามติ ไม่แก้รธน.ชั่วคราว
การไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 คือ การแก้เกมเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามตินั่นเอง
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องจับตามองนอกเหนือไปจากการร่างรัฐธรรมนูญแล้วยังมีเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ต้องจับตามองไม่แพ้กัน
เดิมทีท่าทีจากฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งสัญญาณที่ดูเหมือนว่ากำลังจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ม.ค.
โดยมีการคาดการณ์ว่า คสช.และ ครม.จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.คะแนนเสียงชี้ขาดประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 37 วรรค 7 เขียนในลักษณะกำกวมซึ่งมีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้ในทางปฏิบัติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ
มาตรา 37 วรรค 7 ระบุว่า "ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" จึงเกิดการวิเคราะห์ว่า ครม.และ คสช.น่าจะแก้ไขเปลี่ยนเป็นคำว่า "ถ้าผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก..." แทนบทบัญญัติเดิม เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถฝ่าด่านประชามติไปได้
2.การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เดิมทีเกิดความไม่สบายใจว่า คสช.และ ครม.จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขนาดไหน ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในครั้งนี้อาจจะสร้างหลักประกันเพื่อความสง่างามของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องไม่เป็นการปลุกระดมทางการเมือง
3.แผนสำรองหากไม่ผ่านประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดเป็นแนวทางว่า ถ้าประชาชนลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องกลับไปสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและส่งให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ซึ่งในทางการเมืองแล้วการเขียนรัฐธรรมนูญในรอบที่สามอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมมากนัก จึงเริ่มมีการคิดว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกเอาไว้
อย่างไรก็ตาม เวลานี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยทำท่าว่าน่าจะลงมืออย่างเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้ อาจจะไม่มีการดำเนินการแล้วก็เป็นได้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ถูกส่งออกมาจาก “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ.
"ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อหาทางออกกรณีไม่ผ่านประชามติ เพราะถ้าระบุทางออกไว้คนจะไม่ดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการนับผลการทำประชามตินั้น ถ้ารัฐบาลเข้าใจตรงกันว่านับคะแนนเฉพาะผู้มาใช้สิทธิ ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ และหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันแทน" คำกล่าวของ มีชัย เมื่อวันที่ 25 ม.ค.
ท่าทีของประธาน กรธ.มีนัยอยู่ไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่า มีชัย คือ หนึ่งในสมาชิก คสช. ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ย่อมมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือได้พอสมควร
การส่งสัญญาณไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สามารถประเมินสถานการณ์ได้ 2 มุม
มุมแรกเป็นการแสดงความมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.น่าจะผ่านประชามติและพร้อมจะทำทุกทาง เนื่องจากมาระยะหลังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มักจะบอกต่อสาธารณะหลายครั้งว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งนั่นหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติก่อน ประเทศถึงจะเข้าสู่การเลือกตั้งตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ คิดไว้ได้
อีกมุมย่อมมองได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นดาบสองคมที่ คสช.คาดไม่ถึง โดยเฉพาะการแก้ไขเพื่อรองรับปัญหาที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
กล่าวคือ ถ้า คสช.ไปบอกทางออกในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก่อน เช่น ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ศ. 2540 มาใช้แทน เป็นต้น อาจทำให้เกิดการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น กรธ. เพื่อต้องการให้นำรัฐธรรมนูญในอดีตมาใช้แทน เพราะต้องยอมรับมีหลายฝ่ายไม่พอใจกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเขียนกันอยู่จำนวนมาก
เท่ากับว่าบางทีการไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้แรงต่อต้านสงบลง
การไม่บอกทางออกว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรนั้น เสมือนหนึ่งเป็นการบีบให้ประชาชนไปลงประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทางอ้อม เพราะไม่มีใครรู้ว่า คสช.ซ่อนไพ่อะไรไว้ในมือ จึงน่าจะเลือกรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไป เหมือนกับที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปท. ตั้งข้อสังเกต
“เหมือนๆ กับจะบอกว่า ถ้าอยากมีรัฐธรรมนูญถาวรเร็วๆ อยากรู้กำหนดเลือกตั้งทั่วไปแน่นอน คือภายในปี 2560 ก็ให้ยอมรับสิบเบี้ยใกล้มือเอาไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยิบก็จะไม่เห็นของไม่เห็นทิศทางเลย ถือเป็นการวัดใจกลุ่มที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแต่อยากไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทีเดียว” ข้อสังเกตจากคำนูณ
เหนืออื่นใด หากที่สุดแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติขึ้นมา คสช.ก็ยังมีอำนาจมาตรา 44 หรือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างทางออกให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์
เพราะฉะนั้นการไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 คือ การแก้เกมเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามตินั่นเอง