posttoday

ส่องกระบวนการยุติธรรมต่างชาติ ตัดสินโทษ "เยาวชนทำผิด"

02 กุมภาพันธ์ 2559

เปิดกฎหมายดูกระบวนการยุติธรรมของฝรั่งเศส-เยอรมัน-แคนาดา ว่าด้วยการลงโทษเยาวชนทำผิดและการโอนคดี

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คดีกลุ่มวัยรุ่นพัทลุง ลวงหนุ่มคู่อริไปฆ่าฝังดิน พร้อมข่มขืนแฟนสาวก่อนโยนลงเหว กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมโดยเฉพาะประเด็นการลงโทษ ที่ผู้คนบางส่วนมองว่าควรมีการพิจารณาคดีและลงโทษเยาวชนที่ก่อเหตุในครั้งนี้เช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกินกว่า 18 ปี เนื่องจากมีพฤติกรรมที่โหดร้ายทารุณ

ขณะที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้เปิดช่องให้มีการโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ตาม มาตรา97 ที่ระบุว่า "คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ถ้าศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือในระหว่างการพิจารณา เด็ก หรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้"

อย่างไรก็ตามเมื่อลองสืบค้นกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในประเทศต่างๆ ก็พบว่ามีหลักคิดและแนวทางการพิจารณาแตกต่างกัน ซึ่งใน วิทยานิพนธ์ ของ อโนทัน ศรีดาวเรือง คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เรื่อง "การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดอาญา : ศึกษากรณีอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวในการโอนคดี ตามมาตรา 97 วรรคสอง" ได้ศึกษากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนใน 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ แคนาดาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

"ฝรั่งเศส" กระทำผิดร้ายแรงไม่ได้รับการคุ้มครองพิเศษ

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กเเละเยาวชน เมืองน้ำหอม มีการกำหนดให้เด็กที่อายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น หรือเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี จะได้รับโทษอาญาเพียงบางส่วนรวมถึงการให้ความสำคัญด้านการศึกษาเเก่เด็กเเละเยาวชนที่กระทำความผิด มากกว่าการควบคุมเพื่อลงโทษ เป็นต้น

เเต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายเเรงมากๆ เด็กเเละเยาวชน นั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองที่เป็นพิเศษเเบบนี้ โดยการพิจารณาพิพากษาเเละการกำหนดบทลงโทษจะมีความรุงเเรงต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้สำนึกในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ  ซึ่งเด็กเเละเยาวชนที่กระทำผิดอาญาในเเต่ละช่วงอายุ จะมีความรับผิดทางอาญา เเตกต่างกันออกไป โดยเด็กหรือเยาวชน ที่มีอายุตั้งเเต่ 16-18 ปี เมื่อต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกอาจถูกคุมขังในเรือนจำเเละอาจไม่สามารถอาศัยข้ออ้างในเรื่องความเด็กหรือเยาวชนมา เป็นข้อยกเว้นได้

และ เนื่องจากฝั่งเศส มีเเนวโน้มว่าผู้กระทำผิดอาญาเป็นผู้มีอายุน้อยมากขึ้น จึงได้มีการกำหนดโทษสำหรับเด็กหรือเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 13 - 18 ปี โดยกำหนดอัตราโทษจำคุกไว้อย่างสูง 5 ปี เเละ มาตรการทางเลือกได้เเก่ การคุมประพฤติ การควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ การบำบัดโดยชุมชนเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสำหรับเด็กเเละเยาวชน ของฝรั่งเศส กำหนดเกณฑ์อายุสูงสุดของความเป็นผู้เยาว์ ไว้ที่ อายุ 18 ปี ฉะนั้นหากบุคคลเหล่านี้เเม้จะได้กระทำผิดอาญาที่ร้ายเเรงเพียงใด ก็ไม่อาจนำตัวผู้กระทำความผิดไปพิจารณายังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ การพิจารณาพิพากษาคดีเด็กเเละเยาวชนที่กระทำความผิดอาญาของฝรั่งเศส จึงอยู่ภายใต้ ศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น จึงทำให้ศาลเยาวชนเเละครอบครัวไม่มีการโอนคดีไปพิจารณายังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา

การกระทำผิดที่ร้ายเเรงมากๆ การพิจารณาพิพากษาคดี เเละการกำหนดบทลงโทษจะมีความรุนเเรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้ สำนึกในการกระทำผิด โดยมาตราการสูงสุด อย่าง "การจำคุก" หากเยาวชนอายุ 16 ปี เเต่ไม่เกิน 18 ปี ได้กระทำผิดซ้ำสองครั้งหรือมากกว่า หรือกระทำผิดอาญาร้ายเเรงหรืออาจถูกศาลพิพากษาให้จำคุก โดนไม่มีอาจนำความเป็นเยาวชนมาอ้างต่อศาลได้

"เยอรมัน" จำคุกสูงสุด 10 ปี-ไม่มีการโอนคดีไปศาลธรรมดา

กฎหมายศาลคดีเด็กเเละเยาวชนของเยอรมนี ศาลจะใช้มาตรการการลงโทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน ต่อเมื่อศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่า การกระทำนั้นเเสดงให้เห็นว่าเด็กหรือเยาวชน มีเเนวโน้มที่จะกระทำผิดอีกหากไม่ถูกลงโทษเเละการใช้มาตรการควบคุมหรือมาตรการทางวินัยไม่เพียงพอ หรือในกรณีที่ความผิดดังกล่าวมีลักษณะร้ายเเรง โดยมีโทษจำคุกอย่างต่ำ 6 เดือน เเต่ไม่เกิน 5 ปี

"หากเป็นการกระทำที่มีความผิดอาญาร้ายเเรง โทษจำคุกอย่างสูงจะเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 10 ปี (โดยไม่นำโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นในกฎหมายอาญามาใช้บังคับกับเด็กเเละเยาวชน) เเต่ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกแบบใดก็ตาม ต้องมีการให้การศึกษาเเก่เด็กและเยาวชนควบคู่กันไปเสมอ"

โดยสรุปประเทศอินทรีเหล็ก ไม่มีการโอนคดีที่เด็กและเยาวชนกระทำความผิดร้ายแรงไปยังศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีธรรมดา

"เเคนาดา" ความผิดร้ายแรงโทษจำคุกตลอดชีวิต

ประเทศแคนาดา ได้กำหนดความรับผิดทางอาญาของเด็กเเละเยาวชน โดยถือเกณฑ์อายุขณะกระทำความผิด คือมีอายุตั้งเเต่ 12 ปีขึ้นไปเเต่ไม่ถึง 18 ปี  เยาวชนที่กระทำความผิดอาญาของเเคนาดา ได้รับการพิจารณาเเละพิพากษาคดี ในศาลเยาวชนเเละครอบครัวเท่านั้น ไม่ต้องมีการโอนคดีเยาวชนไปพิจาณายังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดา

โดยการกระทำความผิดอาญาร้ายเเรง ถูกกำหนดไว้ดังนี้

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเเละไตร่ตรองไว้ก่อน , ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น , ความผิดฐานพยายามฆ่า , ความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าเเต่ทำร้านผุ้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงเเก่ความตาย ,ความผิดฐานข่มขืนผู้อื่นจนเป็นผู้ถูกข่มขืนได้รับอันตรายสาหัส

“หากเยาวชนได้กระทำความผิดร้ายเเรง เเละพิจารณาพฤติการณ์ทั้งปวงเเล้ว เห็นว่า การลงโทษวิธีการสำหรับเด็กเเละเยาวชน ไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถเเก้ไขเเละบำบัดฟิ้นฟูผู้กระทำความผิดได้ ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษทางอาญา เเต่ก่อนนั้นจะมีการไต่สวนพิจารณาเเวดล้อมต่างๆ อย่างรอบคอบ รวมทั้ง เปิดโอกาสให้อัยการ ที่ปรึกษากฎหมายของเยาวชนเเละครอบครัว เข้าร่วมในการพิจารณาด้วย”

อนึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษทางอาญา ต่อเยาวชนที่กระทำความผิดอาญาร้ายเเรง อยู่ภายใต้หลักการ ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเยาวชนนั้น ต้องแยกเด็ดขาด จากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ใหญ่ โดยพื้นฐานของปรัชญาในการลงโทษเด็กเเละเยาวชน ว่าเป็นการค้นหาสาเหตุของการกระทำความผิด เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข ฟื้นฟูเเละให้เด็กกลับคืนสู่สังคม โดยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุขเเละสังคมมีความปลอดภัย

หากท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งให้ลงโทษทางอาญา จะมีโทษจำคุกดังนี้ 

1. ถ้าเยาวชนมีอายุระหว่าง 14-15 ปี ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษอาญา สำหรับโทษอาญาระดับ First Degree murder (การฆ่าคนโดยมีเจตนาร้ายและได้วางแผนการไว้ล่วงหน้า) , Second degree murder (ฆ่าโดยเกิดจากสิ่งเร้า ไม่ได้มีการเตรียมการหรือไตร่ตรองล่วงหน้า) หรือจำคุกตลอดชีวิต จะได้รับมาตรการพักโทษ หลังจากที่ต้องโทษจำคุกมาเเล้ว 5-7 ปี

2.ถ้าเยาวชนมีอายุระหว่าง 16 - 17 ปี ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษอาญา สำหรับโทษอาญาระดับ First Degree murder หรือจำคุกตลอดชีวิตจะได้รับมาตราการพักโทษ หลังจากที่ต้องโทษจำคุกมาเเล้ว 10 ปี

3.ถ้าเยาวชนมีอายุระหว่าง 16 - 17 ปี ที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษอาญา สำหรับโทษอาญาระดับ Second degree murder  หรือจำคุกตลอดชีวิตจะได้รับมาตราการพักโทษ หลังจากที่ต้องโทษจำคุกมาเเล้ว 7 ปี

ที่มา  http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/153990.pdf