ตำนานรถลาก
ตรุษจีนปีนี้ เราเห็นแต่ภาพเจ้าสัวเต็มบ้านเต็มเมือง เทียบกับภาพและบรรยากาศในปี 2475 ซึ่งก่อนหรือหลังจากนั้น
โดย...ส.สต
ตรุษจีนปีนี้ เราเห็นแต่ภาพเจ้าสัวเต็มบ้านเต็มเมือง เทียบกับภาพและบรรยากาศในปี 2475 ซึ่งก่อนหรือหลังจากนั้น ไม่มีภาพเจ้าสัวให้เห็น นอกจากผู้ใช้แรงงาน หรือกรรมกรรถลาก ที่อยู่เต็มเมืองย่านเยาวราช วังบูรพา และวงเวียน 22 กรกฎา
คนจีนโพ้นทะเลอพยพเข้าเมืองไทยทางเรือ เมื่อขึ้นบกได้ก็ทำมาหากินใกล้ท่าเรือ เช่น ท่าราชวงศ์ เป็นต้น อาชีพหลักคือเป็นกรรมกร หรือกุลี และที่ขาดไม่ได้คือกรรมกรรถลาก เพราะการขนส่งเมืองไทยขณะนั้นยังไม่พัฒนา
ส่วนรถลากนั้นก็เป็นคนจีนอีกนั่นแหละ สั่งมาจากประเทศจีน ให้กรรมกรหรือคนไม่มีงานทำเช่า พรรณี บัวเล็ก เขียนเล่าเรื่องกรรมกรรถลาก ในหนังสือ “กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย” ตอนหนึ่งว่า
การตื่นตัวของชนชั้นกรรมกรไทยในการเรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมถึงเรื่องที่จำเป็นต่างๆ เช่น การปรับปรุงสวัสดิภาพการทำงาน โดยเฉพาะสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานได้แพร่กระจายไปในหมู่กรรมกร การนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในปัญหาค่าจ้าง สวัสดิการได้เพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา กล่าวคือ
เริ่มตั้งแต่ปี 2440 มีการนัดหยุดงานของกรรมกรรถลาก กรรมกรรถราง หลังจากก่อตั้งเป็นสมาคมแล้ว เป็นการเรียกร้องเพื่อให้นายจ้างลดค่าเช่าลงจากวันละ 40 สตางค์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก การต่อสู้ครั้งนี้กรรมกรต้องตกเป็นฝ่ายแพ้ด้วยการยอมประนีประนอมตามข้อเสนอของนายทุนเนื่องจากไม่อาจต่อสู้กับความหิวได้
แต่การประท้วงก็มีต่อเนื่องทั้งในต่างจังหวังและในกรุงเทพ โดยเฉพาะการท้วงครั้งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะเดิม ได้แก่ การประท้วงของกรรมกรโรงสี เมื่อต้นปี 2477 ซึ่งเคยหยุดงานประท้วงมาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้เป็นการประท้วงที่มีขนาดใหญ่ โดยมีการร่วมมือจากกรรมกรอื่นๆ ด้วย กรรมกรโรงสีประท้วงการงดจ่ายเงินพิเศษในวันตรุษจีน (แต๊ะเอีย) ซึ่งเคยมีการปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ โดยโรงสีข้าวอ้างว่าปีนี้ราคาข้าวตกต่ำ จึงไม่อาจจ่ายเงินให้ได้ตามปกติ แต่กรรมกรอ้างว่าไม่เป็นความจริง ที่สุดรัฐบาลก็เข้ามาประนีประนอมหลังจากที่นายจ้างได้ใช้มาตรการขั้นรุนแรงทำร้ายกรรมกร
หนังสือ “กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย” เล่มนี้เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงความยากลำบากของชีวิตกรรมกรจีนอพยพผู้มายึดอาชีพเป็นกุลีลากรถในยุคแรก เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมที่ไม่สามารถนำพาชีวิตของตนให้ประสบความสำเร็จในดินแดนใหม่ มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ประสบโชคจากความขยันขันแข็ง สะสมเงินทอง และก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าสัวได้ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วผู้อ่านไม่เพียงเห็นภาพชีวิตของกุลีลากรถเท่านั้น แต่ยังเห็นภาพความหลากหลายของชีวิตผู้คนและภาพของเมืองหลวงกรุงเทพฯ ในยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์ และยังเห็นมุมมองใหม่ในเรื่องประวัติศาสตร์แรงงาน โดยมีการนำเสนอเรื่องราวชีวิตชนชั้นล่างได้อย่างน่าประทับใจ อ่านแล้วได้รสชาติ และเหมาะสำหรับผู้อ่านที่ต้องการรู้เรื่องราวชีวิตของกุลีลากรถ ผู้ที่ถูกลืมจากประวัติศาสตร์แรงงานไทยได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้
อย่างไรก็ตาม การตั้งตัวของคนจีนโพ้นทะเลที่ปากกัดตีนถีบ เคยเป็นลูกไล่คนไทย และมาเฟียเจ้าถิ่น ได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนได้กลายเป็นเจ้าสัวเป็นส่วนมาก จะหาดูสิ่งนี้ได้ที่ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชแห่งนี้ ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของพระมหามณฑปวัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งแสดงถึงการโยกย้ายถิ่นฐานของชนชาวจีนมาสู่ประเทศไทย จากครั้งอดีตจวบจนปัจจุบัน โดยห้องแสดงนิทรรศการต่างๆ จะมีทั้งหมด 6 ห้อง ซึ่งแบ่งออกตามช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับ คือ 1.เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี ฟังคำบอกเล่าจากอากงชาวเยาวราช เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้นกับชุมชนชาวจีนสำเพ็งและเยาวราช 2.กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-2394) จุดกำเนิดของชุมชนจีน-สำเพ็ง และการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 จนกระทั่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ 3.เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ. 2394-2500) พัฒนาการของชุมชนจีนจากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่านธุรกิจสมัยใหม่บนถนนเยาวราช เรื่องราววิถีชีวิตที่ช่วยให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อวิถีทาง สังคมของชาวเยาวราชในยุคนั้น 4.ตำนานชีวิต Hall of Fame ประกอบวีดิทัศน์แสดงตำนานชีวิตของบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่อนุชนรุ่นหลัง 5.พระบารมีปกเกล้าฯ แกลเลอรี่ภาพถ่ายและวีดิทัศน์แสดงถึงพระมหา กรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบันต่อชุมชนเยาวราช 6.ไชน่าทาวน์วันนี้ ภาพลักษณ์อันโดดเด่นในแง่มุมของเยาวราชที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์” ของประเทศไทย