posttoday

ชีวิตติดกรอบ

14 กุมภาพันธ์ 2559

วัยเด็กของ ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและอยู่ในกรอบ

วัยเด็กของ ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและอยู่ในกรอบ ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด เนื่องจากคุณพ่อเป็นอธิการบดีวิทยาลัยการศึกษาแห่งหนึ่ง จึงไม่มีโอกาสเอื้ออำนวยให้นอกลู่นอกทาง

“ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตของวิทยาลัยที่คุณพ่อรับราชการอยู่ จากนั้นก็มาเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เป็นชั้นมัธยมศึกษา (ม.ศ.) รุ่นสุดท้าย แต่สอบเทียบได้ไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ เลยกลายเป็น ม.ศ.5 รุ่นก่อนสุดท้าย” ธีรนันท์ กล่าว

เขาออกตัวว่า ไม่ใช่คนขยัน เลยพยายามหาทางลัด หาวิธีที่จะทำอะไรก็ได้ที่ให้ได้ผลเท่าเดิมแต่ออกแรงน้อยๆ ซึ่งก็ติดนิสัยมาใช้กับการทำงาน

ถึงเขาจะออกตัวว่าไม่ใช่คนขยัน แต่ธีรนันท์ก็เป็นคนเรียนเก่ง เมื่อสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ช่วงเรียนก็ใช้เวลาไปทำกิจกรรมของคณะมาก ทั้งเป็นนักร้องประสานเสียงของวงซียู แบนด์ ทำหนังสือภายในของคณะ มีเวลาว่างก็ไปเรียนกีตาร์ ชีวิตในช่วงนั้นลั้ลลาที่สุด

“เวลาอ่านหนังสือผมจะอ่านสารบาญก่อน ทำความเข้าใจว่าทำไมเขาเขียนสารบาญแบบนี้ ผมเป็นคนขยันเข้าเรียนเพราะขี้เกียจอ่านหนังสือต้องเข้าไปฟังอาจารย์เลกเชอร์ให้เข้าใจ ทำความเข้าใจใน Logic เนื้อหาตรงไหนลิงค์กัน ทำให้ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะเท่าคนอื่น เวลาสอบแค่ผ่านก็พอ” ธีรนันท์ กล่าว

เมื่อเรียนจบเขาก็เห็นประกาศให้ทุนของธนาคารกสิกรไทย จึงสมัครสอบและได้รับการคัดเลือก ธีรนันท์เลือกเรียน MBA Finance & Marketing ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา

“ผมชอบเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ วิชาที่อ่อนที่สุดคือภาษาอังกฤษ มีครั้งหนึ่งจะต้องสอบวิชาอินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม เราอ่านข้อสอบก็รู้คำตอบหมดเลย เราตอบได้แต่ปัญหาคือเราเขียนไม่ได้ โกรธตัวเองมาก แต่ที่มหาวิทยาลัยจะมีโค้ชด้านภาษาให้นักเรียนต่างชาติ 1 คน เราสามารถพบโค้ชได้สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งช่วยให้ภาษาอังกฤษพัฒนาขึ้นมา เขาจะสอน Logic ของภาษา แนะวิธีการเรียบเรียงเรื่อง ควรขึ้นต้นและลงท้ายอย่างไร” ธีรนันท์ เล่า

ชีวิตติดกรอบ

 

เมื่อเรียนจบ ธีรนันท์เข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย เริ่มงานที่สำนักบริหารเงิน ต่อมาก็ย้ายไปฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์บรรษัทธุรกิจ และอีกหลายฝ่าย

“ผมได้ทำงานกับคนเยอะมากและได้เรียนรู้ยิ่งทำก็จะเห็นบทเรียนและข้อผิดพลาด ผมเป็นคนใจร้อนขี้โวยวาย มีปัญหาอะไรก็จะเข้าไปโวยในที่ประชุม ช่วงแรกที่ทำงานก้าวร้าวมาก อะไรไม่ได้ดังใจก็จะบอกทันที แต่ทำงานไปเรื่อยๆ ก็เรียนรู้ว่าเราเข้าใจคนอื่นน้อยไป เราก็ต้องปรับตัว ณ ปัจจุบันใช้วิชาของ HR มากกว่าไฟแนนซ์เสียอีก” ธีรนันท์ กล่าว

ตั้งแต่ทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธีรนันท์ บอกว่า กดดันเลยทำให้เป็นคนอารมณ์แรง ขี้โวยวาย แต่ตั้งแต่มีลูก ทำให้อ่อนโยนมากขึ้น ลูกสาวทั้งสองคนกลัวพ่อมากกว่าแม่ เพราะไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ซึ่งเขาเลี้ยงลูกด้วย Logic เหมือนกัน เช่น หากลูกนอนตื่นสายก็ไม่เป็นไร คุณพ่อจะไปส่งที่โรงเรียนเอง เท่านั้นลูกสาวก็เลิกงอแงลุกไปอาบน้ำเตรียมตัวไปโรงเรียนเพราะอยากให้คุณแม่ไปส่ง

หากถามถึงไอดอลในดวงใจ ธีรนันท์ยกให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสุดยอดในหัวใจ

“เพราะผมเกิดทันช่วงที่ในหลวงปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้ประชาชน เห็นข่าวทุกวันท่านทำมากจริง ทำให้ผมเข้าใจมากในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งจริงๆ”
ธีรนันท์ กล่าว

ส่วนคนต้นแบบที่ชื่นชอบอีกคนคือ มหาตมะ คานธี ธีรนันท์ บอกว่า เป็นเพราะสิ่งที่ มหาตมะ คานธี ทำเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นคนที่อยู่กับความเครียดตลอดเวลา แต่สามารถปล่อยวางได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นคนคมและลึกซึ้งมาก

นี่คือชีวิตเสี้ยวหนึ่งของผู้ชายที่ชีวิตนี้ต้องมี Logic