posttoday

ดาวพฤหัสบดี

21 กุมภาพันธ์ 2559

ในบรรดาดาวเคราะห์ที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวพฤหัสบดีจัดว่าเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดดวงหนึ่ง

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

ในบรรดาดาวเคราะห์ที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวพฤหัสบดีจัดว่าเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดดวงหนึ่ง โดยส่วนใหญ่มีความสว่างเป็นรองเพียงดาวศุกร์ (ดาวอังคารสว่างกว่าดาวพฤหัสบดีได้ในบางช่วง แต่นานๆ จึงจะมีโอกาสเกิดขึ้น) ต้นเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีปรากฏอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าเราจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่บนท้องฟ้าเวลากลางคืนต่อเนื่องนานที่สุดในรอบปี

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 ไกลกว่าดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร ระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เท่ากับ 1 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 1 เอยู ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างดวงอาทิตย์มากกว่าโลก 5.2 เท่า หรือประมาณ 778 ล้านกิโลเมตร

ช่วงที่ดาวเคราะห์วงนอกอย่างดาวพฤหัสบดีอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ดวงนั้นจะอยู่ตรงหรือใกล้เคียงกับช่วงที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปีอีกด้วย ดาวพฤหัสบดีที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงจึงมีขนาดใหญ่ มองเห็นรายละเอียดบนบรรยากาศของดาวได้ดีที่สุด

ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี แม้ความรีของวงโคจรจะไม่สูงมาก แต่ด้วยระยะห่างที่ไกล ทำให้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดบนวงโคจรของดาวพฤหัสบดีมีค่าต่างกันประมาณ 76 ล้านกิโลเมตร สองจุดนี้อยู่ตรงข้ามกัน ดาวพฤหัสบดีมีคาบการโคจร 11.86 ปี จึงผ่านแต่ละจุดสลับกันทุกๆ ประมาณ 6 ปี

ดาวพฤหัสบดีผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดบนวงโคจรเมื่อเดือน มี.ค. 2554 หลังจากนั้นอีก 6 ปี ก็จะผ่านจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งตรงกับเดือน ก.พ. 2560 ปีนี้ดาวพฤหัสบดีจึงอยู่ในช่วงที่เกือบจะไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุด ทำให้มีความสว่างน้อยกว่าเมื่อปี 2554 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ดาวพฤหัสบดียังคงเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างโดดเด่นมองเห็นได้ง่ายที่สุดดวงหนึ่ง

นักดาราศาสตร์บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ด้วยโชติมาตรหรืออันดับความสว่าง ตัวเลขยิ่งมีค่าน้อยยิ่งสว่าง ดาวจางที่สุดที่ตาเปล่าของเราเห็นได้มีโชติมาตร +6.5 ดาวเหนือมีโชติมาตร +2 ดาวศุกร์มีโชติมาตรประมาณ -4 สถานีอวกาศนานาชาติขณะสว่างที่สุดมีโชติมาตรประมาณ -3 ดวงจันทร์เต็มดวงมีโชติมาตรเฉลี่ย -12.7 เมื่อปี 2554 ดาวพฤหัสบดีมีโชติมาตรขณะสว่างที่สุดอยู่ที่ -2.9 แต่ปีนี้ดาวพฤหัสบดีจะมีโชติมาตรขณะสว่างที่สุดอยู่ที่ -2.5

กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่กำลังขยายสูงสามารถมองเห็นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นคือจุดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นพายุที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก การสังเกตการณ์ที่ผ่านมาในอดีตถึงปัจจุบันพบว่าจุดแดงใหญ่มีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับศตวรรษก่อน

นอกจากพายุและริ้วรอยต่างๆ ในบรรยากาศ ดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีก็สามารถเคลื่อนมาผ่านหน้าดาวพฤหัสบดีหรือทอดเงาตกลงบนผิวดาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวบริวารขนาดใหญ่ที่สุด 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต ทำให้มองเห็นเป็นจุดดำเปลี่ยนตำแหน่งไปในแต่ละชั่วโมง ทำนองเดียวกับการเกิดสุริยุปราคาบนโลกเมื่อเงาของดวงจันทร์ทอดยาวมาตกบนผิวโลก การคำนวณวงโคจรของดาวบริวารที่มีความแม่นยำสูงในปัจจุบัน ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถพยากรณ์การเกิดอุปราคาเช่นนี้บนดาวพฤหัสบดีได้ล่วงหน้าไปในอนาคตหรือย้อนหลังไปในอดีตได้เป็นระยะเวลานาน

ช่วงที่ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในปีนี้ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต หากใกล้ขอบฟ้าไม่มีอะไรบดบัง สัปดาห์นี้ดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปอยู่สูงที่สุดเกือบถึงจุดเหนือศีรษะในเวลาประมาณตี 1 ครึ่ง แล้วคล้อยต่ำลงจนไปอยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาเช้ามืดที่มุมเงยประมาณ 20-30 องศา

ดาวพฤหัสบดีขึ้นเร็วขึ้นทุกวัน เมื่อถึงต้นเดือน มี.ค. ดาวพฤหัสบดีอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ จึงขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเกือบพร้อมกับดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก และตกลับขอบฟ้าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น หลังจากต้นเดือน มี.ค. ดาวพฤหัสบดีจะเริ่มปรากฏทันทีเมื่อท้องฟ้ามืดลงพอสมควร เป็นดาวดวงแรกๆ ที่ปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าหลังอาทิตย์อัสดง

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (21-28 ก.พ.)

ดาวเคราะห์สว่างทั้ง 5 ดวง อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เริ่มเห็นอยู่สูงเหนือขอบฟ้าพอสมควรในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม จากนั้นผ่านจุดสูงสุดบนท้องฟ้าในเวลาตี 1 ครึ่ง เมื่อถึงเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีจะเคลื่อนไปอยู่ทางทิศตะวันตก

ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง เวลาเช้ามืดปรากฏอยู่สูงทางทิศใต้ ดาวเสาร์อยู่ถัดไปในกลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือของกลุ่มดาวแมงป่อง ดาวพุธและดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล ดาวศุกร์สว่างกว่าและยังคงเห็นอยู่สูงเหนือดาวพุธ ดาวเคราะห์ทั้งสองเคลื่อนห่างกันมากขึ้นทุกวัน โดยดาวพุธจะเคลื่อนต่ำลงเข้าใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นเมื่อเทียบตำแหน่งในเวลาเดียวกันของทุกวัน

ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างขึ้น คืนวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวงอยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโต แต่อาจสังเกตดาวหัวใจสิงห์ได้ยาก เพราะแสงจันทร์สว่างมาก คืนนั้นดวงจันทร์จะเต็มดวงจริงๆ เมื่อมีตำแหน่งอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในเวลาตี 1 ครึ่ง เมื่อเข้าสู่วันที่ 23 ก.พ.

หลังจันทร์เพ็ญจะเข้าสู่ข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดของทุกวัน คืนวันที่ 23 ก.พ. ดาวพฤหัสบดีขึ้นหลังดวงจันทร์ไม่นาน ขณะขึ้นอยู่ห่างกัน 6-7 องศา จากนั้นใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 24 ก.พ. ห่างกัน 3 องศา วันที่ 27 ก.พ.ดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ใกล้ดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาวที่ระยะ 4 องศา

พลบค่ำวันจันทร์ที่ 22 ก.พ. ขณะท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท สถานีอวกาศนานาชาติจะผ่านเหนือประเทศไทย เห็นเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเริ่มเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือในเวลา 19.10 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ถึงจุดสูงสุดเวลา 19.12 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุมเงย 27 องศา แล้วหายไปในเงามืดของโลกในอีกราว 1 นาทีถัดมา ขณะอยู่ใกล้ดวงจันทร์

พลบค่ำวันพุธที่ 24 ก.พ. เริ่มเห็นสถานีอวกาศใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.01 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้น ถึงจุดสูงสุดเวลา 19.04 น. ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่มุมเงย 72 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลงไปสิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 19.07 น.