"แยกศาสนาจากรัฐ-เลิกระบอบรวมศูนย์" ปฏิรูปวงการสงฆ์แก้วิกฤตศรัทธา
ฟัง 3 นักวิชาการทางด้านศาสนา เสนอทางออกจากความขัดแย้งในวงการสงฆ์
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
นาทีนี้วงการสงฆ์ร้อนระอุ..หลากหลายปัญหาคาราคาซัง ทั้ง ประเด็นเรื่องการสถาปนา สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ขึ้นเป็นพระสังฆราช กรณี พระธัมมชโยแห่งวัดธรรมกาย จนถึงการเรียกร้องจากเครือข่ายคณะสงฆ์ ให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ เกิดคำถามร้อนแรงว่า ปัญหาเหล่านี่มีที่มาจากอะไร เเละ การปฏิรูปต้องเริ่มจากตรงไหนเพื่อไม่ให้ “สถาบันศาสนาถึงกาลเสื่อม”
แยกรัฐออกจากศาสนา ทางออกความขัดแย้ง
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ฉายภาพต้นเหตุของปัญหาอันซับซ้อนในวงการสงฆ์ว่า เกิดจากวางตำแหน่ง สถานะอำนาจและบทบาทของสถาบันศาสนาที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
"ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับรัฐ ตั้งแต่อดีตรัชกาลที่ 5 ออก พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ฉบับ รศ.121 ที่มีองค์กรปกครองสงฆ์ซึ่งเรียกว่า มหาเถรสมาคม รวบอำนาจปกครองสงฆ์ทั่วประเทศ ตั้งสมเด็จพระสังฆราช พอมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการรวบศาสนาพุทธ เป็นอุดมการณ์ของชาติ ที่ว่าด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สภาพเหล่านี้ตกลงมาถึงยุคประชาธิปไตย โดยโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบันเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ภาพลักษณ์วงการสงฆ์ที่มีสองนิกาย โดยมีสังฆราชองค์เดียวนั้นเกิดปัญหามาตลอด เพียงแต่สังคมไทยเป็นสังคมที่หลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหาที่เป็นรากฐานและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา อ้างว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจนละเลย"
สุรพศ บอกต่อว่า ประเทศไทยต้องปฎิรูป โดยแยกศาสนาออกจากรัฐ เป็น Secular state หรือ รัฐฆราวาส หรือ รัฐโลกวิสัย เหมือนในหลายประเทศ หากแยกไม่ได้ โครงสร้างสงฆ์ยังถือเป็นโครงสร้างทางการเมืองโดยตัวเอง และทำให้ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่
"ในยุคกลางของโลกตะวันตก รัฐและศาสนจักร มีอำนาจมากเกินไป มีอำนาจควบคุมศรัทธา ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง การกดขี่ ตลอดจนกระบวนการล่าแม่มด ดังนั้นจึงมีแนวคิดการแยกศาสนาจากรัฐเกิดขึ้นในที่สุด ประเทศไทยเราเมื่อยังแยกไม่ได้ ก็เท่ากับวงการสงฆ์โกหกตัวเองทุกครั้งที่บอกว่าฆราวาสอย่ามายุ่งเรื่องพระ เพราะว่า พระถูกปกครองโดยฆราวาส ตอนนี้จะตั้งประมุขสงฆ์ยังไม่ได้เลย ต้องขึ้นต่อผู้มีอำนาจรัฐ ขณะที่ฆราวาส จะไปวิจารณ์พระสงฆ์ว่าบ้ายศ บ้าตำแหน่ง ก็ไม่ได้เช่นกัน เมื่อรัฐเป็นผู้ตั้งยศให้พระเดินตามลำดับ ไต่เต้าไปจนถึงสังฆราช ตามระเบียบกฎหมายที่ตัวเองกำหนด"
อย่างไรก็ตามนักวิชาการรายนี้ เชื่อว่าทั้งพระและคนยังไม่อยากแยกออกจากกัน เพราะต่างใช้ประโยชน์จากกันและกัน เห็นได้จากการเสนอให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งเพิ่มน้ำหนักให้ศาสนาขัดกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นไปอีก
“จะยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้สำคัญกว่าศาสนาอื่นไม่ได้ เพราะศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล พุทธในสำนักต่างๆ ก็มีเสรีภาพออกแบบการเผยแพร่รูปแบบต่างๆ ถ้าหากมีใครทำผิดทางพระธรรมวินัยก็ใช้กระบวนการทางธรรมวินัยจัดการ ไม่เอากระบวนการทางการเมืองหรือกฎหมายเข้าไปยุ่ง จะยุ่งก็ต้องเมื่อ พระผิดกฎหมายเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การประกาศว่าตัวเอง เป็นอรหันต์ แบบนี้ผิดธรรมวินัยแต่ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายยุ่งไม่ได้ ถ้าการเมืองยุ่งก็วุ่นวายเหมือนปัจจุบัน”
สุรพศ พูดถึงการใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวศาสนาในอดีต โดยยกตัวอย่าง กรณีของพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช)
"กรณีของพระพิมลธรรม พระภิกษุจากภาคอีสาน เริ่มต้นจากความขัดแย้งกันเองระหว่างพระสงฆ์ มีกล่าวหาว่า พระพิมลธรรม ผิดพระธรรมวินัย ต้องอาบัติปาราชิก แต่การกล่าวหากันเอง ไม่สามารถจัดการเอาพระพิมลธรรมสึกได้ จึงต้องดึงอำนาจรัฐเข้ามาจัดการ โดยเพิ่มข้อกล่าวหาว่าพระพิมลธรรมมีความคิดเป็นปฎิปักรต่อรัฐ ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนท่านถูกบังคับสึกและจับติดคุกฟรี 5 ปี จนต่อมาศาลตัดสินว่าท่านไม่มีความผิด วิกฤติวงการสงฆ์ในปัจจุบันก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ การเมืองระดับประเทศ และการเมืองสงฆ์ ทับซ้อนปนเป กันไปหมด"
คณะสงฆ์อย่าโบราณ ในโลกสมัยใหม่
วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา วิเคราะห์เช่นเดียวกันว่า วิกฤตศาสนาที่เกิดขึ้น เป็นผลจากโครงสร้างคณะสงฆ์ ที่มาจากระบอบรวมศูนย์ ตั้งแต่ยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช โครงสร้างดังกล่าวไม่มีการปรับเปลี่ยนแม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม
"โลกสมัยใหม่แล้วแต่โครงสร้างคณะสงฆ์โบราณยังอยู่ เต็มไปด้วยอำนาจและการผูกพันธ์กับชนชั้นนำ มีระบบการบริหารงานแบบราชการ พุทธถูกทำให้เป็นศาสนากลางไว้คอยตัดสินคนอื่น และเป็นศาสนาที่ได้รับประโยชน์มากกว่าศาสนาอื่นค่อนข้างมาก ทั้งหมดเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสำนึกการมีส่วนร่วมในสังคม หรือเห็นคนเท่ากัน หลายครั้งที่พระไม่พอใจ มักออกมาทำเหมือนกับว่าตัวเองมีเสียงดังกว่าคนอื่น"
วิจักขณ์ เห็นว่าโครงสร้างศาสนาจำเป็นต้องถูกปฎิรูป โดยแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างเด็ดขาด เป็นลักษณะของมูลนิธิหรือเอกชน มีการตรวจสอบเป็นมาตราฐานเดียว ไม่มีการนำศาสนาไปอยู่ในโรงเรียนหรือราชพิธีต่างๆ โดยโมเดลที่เขามักนำเสนอมาตลอดคือการปรับตัวของศาสนายุคสมัยใหม่ ในประเทศอินเดีย ที่เป็น "รัฐโลกวิสัย (Secular state)" คือรัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนาใด ๆ ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
"การเป็น Secular state ไม่ได้หมายความว่าเป็นรัฐไม่มีศาสนา เหมือนที่หลายคนเข้าใจ แต่มันคือการทำให้ประเทศไม่เอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นมาเป็นหลักแล้วเอาความคิดของศาสนาใดศาสนาหนึ่งไปจัดการคนอื่น อย่างเช่น การห้ามขายเหล้าในวันสำคัญของศาสนาพุทธ มันไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเคารพทุกคนเท่ากัน อินเดียใช้แนวคิดแบบรัฐโลกวิสัย ดูแลทุกศาสนา ทำให้ทุกศาสนามีบทบาททางสังคม ซึ่งการดูแลเป็นมาตราฐานเดียว จะทำให้ความขัดแย้งนั้นลดน้อยลง อย่างบ้านเราโปรโมทศาสนาพุทธเป็นหลัก มีหลายกลุ่มหลายคนมักบอกว่ามุสลิมจะเข้ามารุกล้ำ มีอิทธิพลในไทย ประโยคลักษณะนี้เป็นการเหยียดศาสนาอื่น ซึ่งถ้าเกิดมุสลิมเขาไม่พอใจขึ้นมา เเล้วแสดงท่าทีตอบโต้กลับ ก็เกิดเป็นความขัดแย้งไปเรื่อยๆ"
พระธรรมวินัย ไม่ใช่กฎหมาย
อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่แต่ละฝ่ายถกเถียงกันมาตลอดก็คือ "พระธรรมวินัย" หรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งต่างฝ่ายต่างขั้วในสนามแห่งความขัดแย้ง ตีความและนำมาใช้กล่าวหากันและกัน
วิจักขณ์ บอกว่า พระธรรมวินัยไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นกฎหมู่เเละเป็นกฎทางความเชื่อ ซึ่งกลายเป็นปัญหาในเมืองไทย เนื่องจากศาสนาพุทธได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย จนถูกนำไปตีความเพื่อเอาผิดกับสำนักอื่น
"ในบริบทของโลกสมัยใหม่ การจะทำให้ทุกสำนักเห็นตรงกันในเรื่องธรรมวินัย ผมว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงจะพยายามสังคายนาอะไรกันยังไงก็เป็นไปไม่ได้ การเห็นต่างก็ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ธรรมวินัยไม่ใช่ความจริงสูงสุดแต่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติตน มันจึงต้องผ่านการตีความเสมอ และเมื่อผ่านการตีความ ธรรมวินัยจึงมีความหลากหลาย ใช้ประยุกต์ในสถานการณ์ได้ต่างกัน ธรรมวินัยมีชีวิต ทำให้พุทธะมีชีวิต การที่แต่ละสำนักประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยไม่เหมือนกันในรายละเอียดจึงเป็นเรื่องธรรมดา สำคัญคือสำนักนั้นๆ สามารถใช้หลักธรรมวินัยในการตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเองเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เอาธรรมวินัยไปใช้ควบคุมจัดการคนอื่นที่เห็นต่างจากตน เมื่อธรรมวินัยกลายเป็นกฏหมายจารีตระดับรัฐ มันก็เละเทะอย่างที่เห็น และหมดสิ้นความเป็นธรรมวินัยในความหมายแรกเริ่ม”
วิจักขณ์ บอกว่า ทางเดียวที่จะทำให้ธรรมวินัยกลับมาฟังก์ชั่น เป็นธรรมวินัยในความหมายดั้งเดิมที่เอามาศึกษา ตีความ ตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเอง ก็คือการ แยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ แต่ละสำนักมีเสรีภาพในการตีความคำสอนและตีความธรรมวินัย เพื่อที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติในวัดหรือในสำนักของตัวเอง ธรรมวินัยที่ decentralized แบบนี้มันสอดคล้องกับหลักเสรีภาพ และจะช่วยให้พุทธศาสนามีการตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเองอย่างเป็นออแกนิค มีการเสวนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากกัน เฉพาะกลุ่มที่อยากจะเรียนรู้จากกัน โดยไม่พยายามเอาอำนาจการตีความธรรมวินัยของสำนักใดสำนักหนึ่งมาครอบงำหรือควบคุมจัดการเพื่อทำให้พุทธศาสนาเป็นมาตรฐานเดียวตามความเชื่อของตน
เขาว่า ทุกคนต้องยอมรับความหลากหลาย เข้าใจก่อนว่า ศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ยุคสมัยใหม่ จะไปคาดหวังว่าทุกคนจะตีความคำสอนแบบดียวกัน โดยมีองค์กรกลาง ที่เราพยายามสร้างมันขึ้นมาควบคุมการตีความคำสอนหรือพฤติการณ์ทางศาสนา ของทุกคนไม่ได้ วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบเผด็จการ พระพุทธเจ้าไม่เคยพยายามจะไปตั้งองค์กรจัดการว่าใครปฎิบัติถูกต้องตามคำสอนหรือไม่ เพราะเชื่อในสติปัญญาของคน การหยิบเอาพลังของรัฐมาใช้บังคับ พระพุทธเจ้าไม่น่าจะแฮปปี้
"ความขัดเเย้งที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสให้เรามองเห็นว่า การมีตำแหน่ง สมณศักดิ์ทั้งหลาย คือสิ่งที่ผิดเพี๊ยนไปจากพระธรรมวินัยและคำสอนของพระพุทธเจ้า เราควรจะตั้งหลักให้ดีๆ แล้วบอกว่า ทะเลาะกันดีนัก ยกเลิกไปทั้งหมดเลยระบบปกครองลักษณะนี้ และตั้งหลักกับการปกครองใหม่ ศาสนาพุทธจะอยู่อย่างสง่างามในโลกสมัยใหม่ ต้องแยกตัวเองออกมาจากรัฐให้ได้ อะไรที่เป็นที่ยอมรับในสังคมได้ก็จะอยู่รอดไป อะไรที่ไม่มีใครสนับสนุนก็จะหายไป เหมือนคุณทำหนังสือพิมพ์ ถ้าหนังสือดี มีคนอ่าน เขาก็สนับสนุน แต่ถ้าทำแล้วไม่มีใครซื้อก็จบไป มันเป็นเรื่องของการใช้วิจารณญาณของตัวเอง"
ยิ่งขัดแย้ง...คนยิ่งไม่นับถือ
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ความขัดเเย้งในวงการศาสนาที่เป็นอยู่ขณะนี้ สร้างความเอือมระอา ให้กับชาวพุทธหลายคน โดยเมื่อปี 2556 ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) รายงานว่า มีคนไม่นับถือศาสนาทั่วโลกอยู่ประมาณ 1,100 ล้านคน หรือประมาณ 16 % ของประชากรโลก นับว่ามากเป็นอันดับ 3 รองจากศาสนาคริสต์และอิสลาม
วิจักขณ์ บอกว่า เมื่อมีความขัดแย้งทางศาสนามาก ในแบบทางการ อีกด้านหนึ่งจะพบว่า คนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดเป็นของตัวเอง จำนวนมากจะเริ่มเห็นว่า ศาสนาไม่ใช่เรื่องของเราเเละมองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะรู้สึกไม่สามารถเข้าใจความขัดแย้งเหล่านี้ได้ ความเห็นของพวกเขาคือ ไม่อยากไปยุ่งกับเรื่องล้าหลังแบบนี้แล้ว
"คนแบบนี้จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่คูล เป็นเรื่องตลก ทะเลาะกันเพราะเรื่องศาสนา เรื่องความเชื่อ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า ศาสนาเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วในโลกสมัยใหม่ ศาสนาถูกทำให้เป็นเรื่องของบุคคลมากขึ้น คนเอาชีวิตของตัวเองเป็นแนวทางในการทดลองเพื่อค้นหาคุณค่าทางศาสนาและจิตวิญญาณของตัวเอง ถ้าศาสนาไม่ปรับตัว แต่กลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม ลดทอนความเป็นบุคคลลง จะยิ่งทำให้คนรู้สึกเบื่อหน่าย และสถาบันศาสนาแบบนี้มันกำลังจะตาย ซึ่งเชื่อว่าที่กำลังทะเลาะกันก็เพราะว่ากำลังจะตาย ต้องการรั้งสถานะอำนาจของตัวเองเอาไว้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสังคมเลย” นักวิชาการหนุ่มในทัศนะ
พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เท่ากับ ซ้ำเติมปัญหา
อีกประเด็นร้อน ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างแพร่หลาย คือ ข้อเสนอของพระสงฆ์ฝ่ายหนึ่งที่ต้อง การนำพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ข้อเสนอให้นำศาสนาออกจากรัฐนั้นพูดง่าย แต่ในเมืองไทยเป็นไปได้ยาก เนื่องจากศาสนาพุทธผูกติดกับสังคมไทยเป็นเวลานาน ในทุกชนชั้น จนมีกระแสเรียกร้องให้บรรจุเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเดินไปในแนวทางนั้นจริง คงคาดเดาผลกระทบที่ตามได้ยากเช่นกัน แต่ในเชิงหลักการ เป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดภาพของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างพลเมืองและความรู้สึกแบ่งแยกทางศาสนา
"ในเชิงหลักการจะเกิดการแบ่งชนชั้น พลเมืองขั้นหนึ่งคือพุทธ ศาสนาอื่นกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ปัญหาในเชิงความรู้สึกถูกแบ่งแยกทางศาสนาจะเกิดขึ้น โดยคณะสงฆ์และชาวพุทธคงจะใช้สิทธิตามกฎหมายเรียกร้องให้มีกฎหมายลูก ออกตามมาจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญอีก เช่น บทบัญญัติที่ต้องการให้รัฐตอบสนองต่อพระพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่นในเรื่องต่างๆ รวมไปถึงมีระบบระเบียบว่าด้วยการดูแลพระพุทธศาสนา เรื่องนี้อาจนำไปสู่ปัญหา เกิดความไม่พึงพอใจขึ้นจากศาสนาอื่นได้"
นักวิชาการด้านศาสนารายนี้ ชี้ว่า แม้ประวัติศาสตร์ในอดีตของไทย จะพบว่ามีน้อยมากที่ชาวพุทธไปกดขี่ข่มเหงศาสนาอื่น แต่อนาคตไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะการนำพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เท่ากับเปิดโอกาสให้ชาวพุทธเรียกร้องอะไรได้มากขึ้น จนนำไปสู่การได้เปรียบเสียเปรียบในสังคมมากกว่าที่เป็น
ศาสนาพุทธ ที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นทางออกไปสู่ความสงบ เวลานี้กำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งกันเองในหมู่คณะ รวมทั้งความท้าทายในโลกสมัยใหม่......หนีไม่พ้นที่จะต้องปฏิรูปโดยเร็ว