นกแก้เหงา
การใช้ “หลักสูตรมาตรฐาน” ของการล่าสัตว์ด้วยกล้อง ด้วยการเข้าซุ่มในบังไพรตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง
โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น
การใช้ “หลักสูตรมาตรฐาน” ของการล่าสัตว์ด้วยกล้อง ด้วยการเข้าซุ่มในบังไพรตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง แล้วไปเลิกเอาตอนมืด ถึงขั้นต้องใช้ไฟฉายส่องเดินเข้าออกโป่ง (ช่วงเวลาที่น่าหวาดเสียวที่สุด!) แค่นึกถึงเวลาอันยาวนานในที่กำบังอันอึดอัด อาจหมดจิตใจรุกรบเอาง่ายๆ ถ้าคุณไม่บ้าจริง
เวลาในบังไพรอันอ้อยอิ่งนี่เอง เป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจของช่างภาพสัตว์ พลังใจเต็มเปี่ยมในชั่วโมงแรกๆ วันแรกๆ อาจโดนบั่นทอนด้วยความว่างเปล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนการรอคอยอันหอมหวาน ฟรุ้งฟริ้งไปด้วยความหวัง กลายเป็นความทุกข์ทรมาน เพราะกายและใจค่อยๆ อ่อนล้าลงไปทุกที
โชคดีที่แถวโป่ง มักจะมีตัวฆ่าเวลาชั้นดี นั่นก็คือพวกนกหลายๆ ชนิด ทั้งพวกที่ชอบลงกินน้ำในโป่ง พวกจิกกินเหยื่อในโป่ง และพวกร่อนจับแมลงรอบๆ โป่ง
แห่มากันเยอะที่สุด คือ นกหกเล็กปากแดง (Vernal Hanging Parrot) นกแก้ว ตัวเล็ก หางสั้นๆ เหล่านี้ อาจมีสถานภาพตามตำราว่า “โหลมาก” แต่สีเขียวๆ แดงๆ บนเรือนร่างของมัน บวกกับเสน่ห์ของความเป็นนกแก้ว เรียกเรตติ้ง “ชัตเตอร์” จากผมได้สูงสุดเหนือกว่าตัวอื่นๆ
เสียงกระพือปีกจากนกหกเล็กปากแดงนับร้อย พร้อมเสียงร้องระเบ็งเซ็งแซ่ “สี่สิบ สี่สิบ” ขับไล่ความเงียบเหงารอบๆ โป่งได้อย่างดี อย่างไรก็ดี ตาขวาผมอาจดูนกพวกนี้ แต่ตาซ้ายก็มองหาสัตว์ 4 ตีน ตัวโตๆ ไปพร้อมกันแหะๆ
นกอพยพหนีหนาวอย่างนกเดินดงหัวสีส้ม (Orange- headed Thrush) จะตกเป็นเป้าของผม เฉพาะเวลาที่มันโดดหากินเข้ามาใกล้บังไพร บางเวลาเข้ามาซะแทบเต็มเฟรม เป็นตัวชี้วัดความเนี้ยบของบังไพรได้ระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ก็บอกให้ผมรู้ว่าการนั่งบังไพรถ่ายนกนั้น เป็นเกมขั้นประถมเท่านั้นเองเมื่อเทียบการซุ่มถ่ายสัตว์ใหญ่ สมัยถ่ายนกเป็นหลัก เวลานั่งบังไพรที ผมเกร็งซะแทบไม่กล้าขยับตัว กลัวจะเจอเข้ากับ “นกรู้” ทั้งที่จริงๆ แล้ว จัดการให้นกตายใจ แค่นิ่งและเงียบเท่านั้น ไม่ต้องเกร็ง
ครั้งหนึ่ง หมูป่าฝูงใหญ่นับร้อยตัว ออกจากราวป่ามาลงตรงสุดโป่ง ไกลร่วม 100 เมตร แค่ลมหวนเปลี่ยนทิศทีเดียว พวกมันก็วิ่งตะบึงหนีไปจนหมด จมูกบอกให้หมูป่ารู้ถึงอันตราย ทั้งที่ตายังมองไม่เห็นอะไรด้วยซ้ำ
ขณะที่พวกนกหกก็ยังร้อง “สี่สิบ” ไม่ประสีประสา อยู่แถวหน้าบังไพรนั่นเอง