posttoday

รางวัลออสการ์ ไม่เกี่ยวกับการยกระดับสื่อ

02 มีนาคม 2559

เลิกเชื่อถือในเวทีออสการ์ไปตั้งแต่ตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Braveheart (1995) คว้ารางวัลใหญ่ๆ อย่าง รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เมล กิ๊บสัน) กับหนังยอดเยี่ยมไปครอง

โดย...ปณิฏา สุวรรณปาล บรรณาธิการแมกกาซีน ภาพ : เอเอฟพี

เลิกเชื่อถือในเวทีออสการ์ไปตั้งแต่ตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Braveheart (1995) คว้ารางวัลใหญ่ๆ อย่าง รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เมล กิ๊บสัน) กับหนังยอดเยี่ยมไปครอง ทั้งๆ ที่หนังแทบไม่มีความดีงามใดๆ นอกจาก โซฟี มาร์โซ ผู้สวยเด่นเป็นสง่า ชนิดกาลเวลามิอาจทำร้าย

ดิฉันยังจำบรรยากาศงานออสการ์ปีนั้นได้ หลังผู้คนทั้งหอประชุม “สแตนดิ้ง โอเวชั่น” ให้กับซูซาน ซาแรนดอน ที่คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (จากเรื่อง Dead Man Walking) แม้ ฌอน เพนน์ จากภาพยนตร์เรื่องเดียวกันจะพ่ายให้กับนิโคลัส เคจ (จาก Leaving Las Vegas) ผู้คนก็ต่างกำลังลุ้นรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ ทิม ร็อบบินส์ จากเรื่องเดียวกันนี้...

ปรากฏว่า ชื่อที่ประกาศออกมาคือ เมล กิ๊บสัน จากเรื่อง Braveheart กล้องจับภาพในงานเหมือนมีตาผีตามด ตัดฉับมาที่หน้าตาของเจ้าแม่ออสการ์ผู้มีชื่อเข้าชิงและคว้ารางวัลมากที่สุด อย่าง เมอรีล สตรีพ ที่ทำปากเบ้ ไม่เห็นด้วยอย่างแรง (ตรงใจดิฉันยิ่งนัก) แถมยังตอกย้ำด้วยรางวัลใหญ่ที่สุด อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเข้าไปอีก ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปชมรายชื่อ Apollo 13, Il Postino : The Postman หรือ Sense and Sensibility ล้วนเข้าข่ายที่น่าจะคว้ารางวัลนี้ไปมากกว่าทั้งสิ้น

หลังจากนั้นดิฉันเลยเมินเฉย มึนตึง เลิกสนใจ ไม่เห็นว่าเวทีนี้จะศักดิ์สิทธิ์ตรงไหน การประกาศรางวัลออสการ์คือเวทีรวมความคิดเห็นจากคนหนึ่งหยิบมือ เป็นอีเวนต์ที่จะได้ชื่นชมนักแสดงสาวๆ สวยๆ ที่แต่งองค์ทรงเครื่องกันมาอย่างงดงามเท่านั้นเอง เป็นเวทีที่มีประโยชน์กับการได้เข้าชิง และได้รางวัล ระดับหนึ่งก็ช่วยให้หนังบางเรื่องที่ผู้คนไม่ค่อยสนใจ พอได้ชื่อเข้าชิงก็เพิ่มยอดผู้ชมในโรงขึ้นอักโข บ้างก็มาในแง่ให้กำลังใจ บ้างก็เป็นช่องทางอัพค่าตัว หาได้เกี่ยวข้องกับผู้ที่นิยมชมชอบศิลปะภาพยนตร์ไม่

สำหรับการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 ที่เพิ่งผ่านไปในค่ำคืนวันอาทิตย์ของสหรัฐ ตรงกับเช้าวันจันทร์ของบ้านเรา ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่รางวัลที่รอคอยของ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ผู้มีชื่อเข้าชิงมาหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยได้ครอบครองรางวัลในสาขานักแสดงนำยอดเยี่ยมกับเขาเลย ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จกับบทแนวดิบเถื่อนจากเรื่อง The Revenant (2015)

น่าแปลกที่ The Revenant ซึ่งคว้า 2 รางวัลใหญ่ อย่างรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (อเลฮันโดรอินาร์ริตู) และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม กลับเสียแชมป์หนังยอดเยี่ยมให้กับ Spotlight (2015) ซึ่งก่อนหน้านี้คว้ามาได้เพียงรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมเท่านั้น ดูๆ ไปคล้ายการตบหัวแล้วลูบหลัง แถมนวดให้ผ่อนคลาย

Spotlight เล่าเรื่องของหนังสือพิมพ์บอสตันโกลบ ที่ตั้งทีมสปอตไลต์ทำข่าวเจาะเรื่องฉาวในวงการศาสนา โดยบรรณาธิการใหม่ไฟแรง เปิดไฟเขียวให้ตีพิมพ์เรื่องราวของบาทหลวงที่ทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ ซ้ำร้ายเหล่าคาร์ดินัลผู้คุมกฎทั้งหลายก็รู้เห็นเป็นใจในการจะปิดเรื่องฉาวแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แถมยังกระซิบให้ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการหนุ่มให้ทำเหมือนพวกเขา

แทนที่จะทำแบบนั้น หนังสือพิมพ์บอสตันโกลบ กลับเจาะลึกไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงในบอสตันเท่านั้น คดีฉาวแบบเดียวกันนี้ มีบาทหลวงในนิกายโรมันคาทอลิกทั่วแมสซาชูเซตส์ ทั่วสหรัฐ หรือแม้แต่ทั่วโลกที่กระทำผิดแต่ไม่ถูกตีแผ่ และไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือแม้แต่กฎของคาร์ดินัลเองในโบสถ์คริสต์ -- ข่าวดังกล่าวของทีมสปอตไลต์คว้ารางวัลพูลิตเซอร์สมความพยายาม จนกลายเป็นเรื่องตั้งต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้

กว่าจะคว้ารางวัลออสการ์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้ไม่ต้องรอคอยถึง 12 ปี แบบหนุ่มลีโอ ทว่าหนังดราม่าเชิงอาชญากรรมและสืบสวนสอบสวน Spotlight มีความพยายามจะสร้างมาตั้งแต่ 2013 ทว่าเรื่องราวฉาวโฉ่อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาเข้าไปอยู่ในโผแบล็กลิสต์ของบทดีๆ ที่ไม่มีโอกาสได้สร้างในแทบจะทันที ก่อนที่ทีมเขียนบทซึ่งนำโดย ทอม แมคคาร์ที (ผู้กำกับ) จะอาศัยการสร้างกระแสออก “สื่อ” จึงได้โอกาสถ่ายทำโดยใช้สถานที่จริงของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ

อย่างไรก็ตาม แม้ทีมสปอตไลต์และทีมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ ตัวจริงเสียงจริง ออกมายอมรับว่า การที่หนังเรื่องนี้คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ ไม่เกี่ยวกับการยกระดับสื่อ แต่ดิฉันเห็นว่า หากสื่อจะย้อนดูตัว ดูวิธีการทำงานแบบมีจริยธรรม ต่อสู้เพื่อเป็นกระบอกเสียงของสังคม และหันมาสร้างความฮึกเหิมให้กับตัวเอง รวมทั้งเพิ่มการตรวจสอบกันและกันแบบที่เห็นในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่สิ่งผิด แต่กลับเป็นเรื่องดีเสียอีก

คิดๆ ไปแล้วก็ตลกดี ที่ช่างเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ อีกฟากโลกอย่างเมืองไทย กำลังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ แล้วก็จรรยาบรรณสื่อ

ส่วนตัวดิฉัน เห็นทีจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเวทีออสการ์นี้อีกครั้ง...