posttoday

บางระจันรำลึก

13 มีนาคม 2559

วันก่อนผมเห็นกระทู้ในฟอรั่มยอดนิยมของประเทศถามเรื่องบางระจันว่า จริงหรือไม่หรือเป็นจินตนาการทางประวัติศาสตร์

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

วันก่อนผมเห็นกระทู้ในฟอรั่มยอดนิยมของประเทศถามเรื่องบางระจันว่า จริงหรือไม่หรือเป็นจินตนาการทางประวัติศาสตร์ นับเป็นอีกครั้งที่ผมเห็นกระทู้ถามทำนองนี้ และมักจะเห็นบ่อยๆ เวลามีละครหรือหนังเกี่ยวกับบ้านบางระจัน (ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมถึงสร้างกันบ่อยจริงๆ) เรื่องจริงไม่จริงนั้นมีผู้ตอบเคลียร์ไปแล้วว่า มีบันทึกทางประวัติศาสตร์จากหลายแหล่งระบุไว้ แต่ก็ยังมีผู้เถียงว่าถึงมีจริง แต่ไม่ใช่การสู้เพื่อปกป้องชาติ เพราะความเป็นรัฐชาติ (Nation state) บ้างก็ว่ารัฐชาติไม่มีแต่มันมีอาณาจักรอยู่นี่ ฯลฯ เถียงกันอย่างนี้จนราวกับวนเป็นลูปอยู่ชั่วกัลปาวสาน

ครั้นกลับไปอ่านวารสารศิลปากร ปีที่ 5 เล่มที่ 2 พ.ศ. 2494 เรื่องการสำรวจโบราณสถานแถบริมแม่น้ำน้อยของพ.ท.หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ซึ่งท่านนั่งเรือไปตรวจแถบ อ.บางระจัน เพราะทางการมีแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานชาวบ้านบางระจัน ในแถบบางระจันมีโบราณสถานสำคัญๆ ที่ท่านไปตรวจ 2 แห่ง คือวัดพระปรางค์ ซึ่งมีพระปรางค์สูงใหญ่สมัยอยุธยาตอนต้น กับแหล่งเตาเผาโบราณ ตอนนั้นยังไม่มีการขุดแต่งจึงมีแต่เนินดินเต็มไปหมด ตอนเด็กผมยังคิดว่าแถวบ้านผมไหงมีแต่ภูเขาย่อมๆ ทั้งๆ ที่รอบๆ แถวนั้นราบเรียบทั้งแถบ ที่ไหนได้พอขุดแต่งพบว่าเป็นเตาเผาทั้งหมด สมัยอยุธยาที่นี่ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพิ่งมาเลิกตอนเสียกรุง สินค้าจากที่นี่ไปโผล่ถึงญี่ปุ่นก็มี

วัดพระปรางค์อยู่ที่ ต.เชิงกลัด แต่คุณหลวงรณสิทธิพิชัย ท่านว่า แต่เดิมน่าจะชื่อบ้านเตาไห แต่คนลืมเรียกไปแล้วเพราะเลิกผลิตไหไปนานนม คนเฒ่าคนแก่แถบนั้นเล่าว่าตอนพม่ายกทัพมาตัดหัวชาวบ้านแถวนี้มีกองอิงกับพระปรางค์เป็นตั้ง อันนี้เป็นเรื่องชาวบ้านเขาเล่ามาไม่มีในประวัติศาสตร์ทางการ

ส่วนที่ค่ายบางระจันตอนที่คุณหลวงรณสิทธิพิชัยไปตรวจยังเป็นป่ารก มีโบราณสถานเป็นเน้นยาวทำแนวค่ายยาว 1,200 เมตร ตรงใจกลางมีซากวัดโพธิ์เก้าต้น ซึ่งท่านสันนิษฐานว่าน่าจะมีวัดมาก่อนตั้งค่าย ในค่ายที่รกๆ นั้นมีไม้แดงขึ้นอยู่มาก ผู้เฒ่าผู้แก่ กำนัน ครูโรงเรียนประชาบาล คณะกรรมการอำเภอบอกเป็นเสียงเดียวกันต่อคุณหลวงว่า ใครไปตัดฟันหรือไปถากเปลือกก็ไม่ได้ ใครไปทำเข้าจะมีอันเกิดเรื่องทะเลาะตีรันฟันแทงกันระหว่างคนในครอบครัว เช่นเดียวกับปลาในสระวัดโพธิ์เก้าต้นใครไปจับเข้าก็จะเกิดวิบัติในทำนองเดียวกัน

ที่ท่านบันทึกไว้ค่อนข้างน่าสนใจอีกเรื่องก็คือ ค่ายนี้อยู่บนที่ดอนเข้าถึงลำบาก ส่วนเวลาฝนตกดินจะเหนียวเหนอะทำให้เดินทางเข้าไปลำบาก ในยุคของท่านระยะทาง 5 กิโลเมตร จากท่าข้ามไปค่ายทั้งๆ ที่ทำถนนไว้แล้วแท้ๆ ยังใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง

แม้จะเป็นที่ดอน แต่มีมุขปาฐะเล่าสืบกันมาว่า มีเส้นทางน้ำสายลับเข้าถึงได้จากสรรคบุรีไปถึงค่ายโดยตรง ไม่ต้องผ่านแม่น้ำน้อยให้พม่ามันจับตัวไป ทางน้ำนี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ แต่ลี้ลับมากและขาดเป็นช่วงๆ

สำหรับสาเหตุที่ตั้งค่ายสู้กับพม่าคุณหลวงรณสิทธิพิชัยท่านอ้างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่าไม่ใช่เพราะคิดช่วยกรุงศรีปกป้องชาติหรอก เป็นเพราะเคืองพวกพม่ามาจับผู้คน ฉุดลูกสาวชาวบ้าน จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อล้างแค้น

ส่วนที่พม่ามันไปจับชาวบ้านมาได้ ไม่ใช่เก่งกาจมาจากไหน แต่ข้าศึกใช้คนไทยด้วยกันนี่เองเป็นผู้นำทาง