มดแดงแฝงพวงมะม่วง
“มดแดงแฝงพวงมะม่วง” เป็นการเปรียบเปรยถึงผู้ชายที่คอยไปป้วนเปี้ยน เฝ้าดูแล เอาอกเอาใจผู้หญิงที่ตัวเองไม่มีวันได้ครอบครอง
โดย...รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
“มดแดงแฝงพวงมะม่วง” เป็นการเปรียบเปรยถึงผู้ชายที่คอยไปป้วนเปี้ยน เฝ้าดูแล เอาอกเอาใจผู้หญิงที่ตัวเองไม่มีวันได้ครอบครอง โดยตัวชายผู้นั้นก็เป็นเหมือนกับมดแดงที่อยู่บนต้นมะม่วง พอมีคนเข้าไปใกล้ๆ ต้นมะม่วง มดแดงก็จะกรูกันออกมาขับไล่ หลายคนอาจคิดว่ามดแดงหวงมะม่วง เพราะกลัวโดนแย่งของกิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มดแดงไม่ได้หวงและก็ไม่ได้ชอบกินมะม่วงด้วย
เมื่อไม่ได้ชอบกินมะม่วง แล้วมดแดงชอบกินอะไร
อันที่จริงแล้วมดแดงไม่ได้กินแต่น้ำหวานหรือของหวานอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่โปรดปรานการกินสัตว์หรือซากสัตว์ด้วย พวกมันเป็นสัตว์ผู้ล่าที่มีทีมเวิร์กดีเยี่ยม เมื่อเจอเหยื่อที่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นแมลงด้วยกัน สัตว์มีปล้องอย่างกิ้งกือ ตะขาบ หรือแม้แต่แมงมุม มดแดงจะรวมพลังกันเข้าไปจิกเหยื่อด้วยกงเล็บอันแหลมคม แล้วกัดเหยื่อให้สิ้นฤทธิ์ในพริบตาด้วยฟันและกรามอันแข็งแกร่ง ยิ่งสัตว์ที่ส่อแววว่ากำลังจะหมดแรง หรือขาดใจ มดแดงยิ่งชอบ เพราะมันไม่ต้องออกแรงเยอะในการจัดการ
เมื่อจัดการเหยื่อได้แล้ว มดงานจะช่วยกันขนร่างเหยื่อกลับรัง เพื่อนำไปปรุง ด้วยการเคี้ยว กลืน แล้วสำรอกออกมาเป็นอาหารเหลวสำหรับป้อนตัวหนอน รวมถึงให้ราชินีมดกินด้วย ส่วนตัวมดงานจะกินน้ำหวานจากพืช หรือจากแมลงจำพวกเพลี้ยทั้งหลาย ซึ่งให้พลังงานสูงเป็นอาหารหลัก
แม้จะไม่กินมะม่วง แต่ต้นมะม่วงก็สำคัญกับมดแดงมากในฐานะที่พักพิง โดยธรรมชาติแล้ว มดแดงจะอาศัยและทำรังบนต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่มที่มีลำต้นมั่นคงแข็งแรง ไม่ผลัด ใบ มีเรือนยอดโปร่ง มีแสงส่องถึง ซึ่งลักษณะใบไม้ที่เหมาะสมกับการสร้างรังคือต้องมีขนาดไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป ผิวใบเรียบ ไม่หนา ไม่มีขนปกคลุมใบ สามารถโน้มใบแต่ละใบเข้าหากันได้ง่าย
นอกจากต้นมะม่วงแล้ว ก็ยังมีต้นไม้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการสร้างอาณาจักรของมดแดงอีกหลายชนิด เช่น ชมพู่ ลำใย ส้มโอ
อาณาจักรของมดแดงนั้น เริ่มต้นที่หนึ่งรังเล็กๆ เมื่อมดแดงในวรรณะสืบพันธุ์เพศเมีย หรือที่เราเรียกว่า มดราชินี จับคู่ผสมพันธุ์กับมดวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้ โดยเมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ตัวผู้จะตายจากไป มดราชินีท้องโตเริ่มออกค้นหาที่ลับทำรังง่ายๆ สำหรับวางไข่ให้เร็วที่สุด เพื่อผลิตมดงานรุ่นที่ 1 ออกมาก่อน
จากนั้นราชินีก็จะวางไข่รุ่นที่สองทันที ในช่วงนี้ราชินียังคงเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องหาอาหารมาเลี้ยงมดทั้งสองรุ่นอย่างกระเบียดกระเสียร แต่พอราชินีวางไข่มดงานรุ่นที่ 3 ชีวิตก็เริ่มสบายขึ้น เพราะมดงานรุ่นแรกโตพอจะออกไปหาอาหารนอกรังมาเลี้ยงตัวอ่อนและราชินีได้แล้ว ครอบครัวมดแดงก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มั่นคง และมีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจนขึ้น
มดงานที่มีอายุมาก หรือที่เรียกว่า มดทหาร โตและมีประสบการณ์มากพอที่จะออกไปหาอาหาร สร้างรัง รวมทั้งปกป้องรังจากศัตรู ส่วนมดงานที่ยังเยาว์วัยก็ทำงานต่างๆ นานาอยู่ภายในรังไปก่อน ไม่ว่าจะดูแลไข่ ตัวอ่อน ปัดกวาดเช็ดถู ทำความสะอาดรัง รวมทั้งปรนนิบัติพัดวีราชินี
สำหรับตัวราชินีเอง ไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น นอกจากวางไข่ผลิตมดงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฤดูที่เหมาะสมจึงจะให้กำเนิดมดแดงในวรรณะสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นมดที่มีปีกพร้อมบินออกจากรังไปผสมพันธุ์ สร้างครอบครัวใหม่กับมดแดงอาณาจักรอื่น
มดแดงทุกตัวทำหน้าที่ของตัวเองไปตามระบบระเบียบของอาณาจักร วันเวลาผ่านไป ครอบครัวใหญ่ขึ้น รังเริ่มคับแคบ มดงานบางส่วนจะแยกย้ายออกไปสร้างรังใหม่ เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงดูไข่และตัวอ่อน รังอนุบาลเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่ารังเดิมที่มีราชินีอาศัยอยู่อาจจะสร้างอยู่บนต้นเดิม หรืออาจจะลามไปสร้างอยู่บนต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กันด้วยก็ได้
จำนวนมดงานบ่งบอกถึงขนาดและความเข้มแข็ง ยิ่งมาก ยิ่งดี แต่อาณาจักรจะอยู่รอดได้หรือไม่นั้น กลับขึ้นอยู่กับชีวิตของราชินี ถ้ามดราชินีตายเมื่อใด อาณาจักรก็พร้อมจะล่มสลายลงทันที
ชีวิตของมดแดงมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ การศึกษามดแดงอย่างลึกซึ้ง นอกจากจะได้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่นำไปทำประโยชน์ต่างๆ นานาได้แล้ว พฤติกรรมของมดแดงยังเป็นต้นแบบที่ดี ที่เราอาจนำมาปรับใช้กับชีวิตเราได้ ไม่ว่าจะเป็นความสามัคคี การทำงานอย่างเป็นระบบ รู้หน้าที่ มีระเบียบวินัย