posttoday

“ต้องรอด”ทางออกเมื่อโดนหมาจรจัดรุม

12 เมษายน 2559

วิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกสุนัขจรจัดรุมล้อม โดยไม่มีใครต้องเจ็บตัว

เรื่อง...วรรณโชค ไชยสะอาด

กระสุนจากปากกระบอกปืนของนายตำรวจระดับสารวัตรที่พุ่งทะลุร่างของสุนัขจรจัดจนสิ้นลมหายใจ บริเวณแฟลตตำรวจลาดยาว กลายเป็นข่าวเกรียวกราวบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ แม้เจ้าตัวยอมรับผิดเข้ามอบตัว พร้อมขอโทษสังคม โดยอ้างว่าลั่นไกออกไปเพราะบันดาลโทสะ หลังจากภรรยาตั้งครรภ์ของเขาถูกสุนัขกลุ่มใหญ่รุมล้อมและพยายามกัด

ท่ามกลางกระแสก่นด่าสาปแช่งว่าทำเกินกว่าเหตุ คำถามที่หลายคนมองข้ามคือ แล้วจะมีวิธีเอาตัวรอดอย่างไรให้ปลอดภัยจากฝูงสุนัขจรจัดที่พยายามเข้ามาทำร้าย โดยไม่ต้องใช้กำลังตอบโต้ ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่าทารุณกรรมสัตว์

คนกลัวหมาหรือหมากลัวคน?

จากการสำรวจประชากรสุนัขเมื่อปี 2557 ของสำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศ พบว่า มีสุนัขในเมืองไทยมากกว่า 8.5 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขจรจัดถึง 700,000 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 370,000 ตัว เพศเมีย 340,000  หากไม่มีการทำหมัน มีแนวโน้มว่าแต่ละปีจะมีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นสูงถึง 3,400,000 ตัว

โรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวว่า สุนัขจรจัดในที่สาธารณะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.กลุ่มสุนัขที่คุ้นเคยกับคน อาศัยตามท้องถนนทั่วไป และ 2.กลุ่มสุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว มักอยู่ตามตรอกซอกซอย

"กลุ่มแรก พวกนี้ตามสัญชาตญาณจะไม่ทำร้ายใคร เนื่องจากเรียนรู้ที่จะอยู่กับคน หากไม่ถูกแสดงความก้าวร้าวใส่ก่อน ไม่มีทางที่จะทำร้ายคนก่อนแน่อน ขอเพียงมนุษย์อย่าไปแสดงความก้าวร้าว อย่าเตะ เขี่ย ขู่ ถือไม้ หรือใส่หมวก สุนัขเกลียดคนถือไม้ ยิ่งใส่หมวกยิ่งไม่ชอบ เพราะมองไม่เห็นดวงตาและเข้าใจว่าเป็นพวกเทศบาลหรือคนที่ชอบทำร้ายสุนัข พวกมันจำว่าคนที่มีท่าทางแบบนี้เป็นศัตรู และจะแสดงท่าทีก้าวร้าวใส่ รวมถึงกลุ่มคนที่ชอบถือร่มด้วย แนะนำว่าอย่าเดินแกว่ง ควรถือนิ่งๆ เพราะสุนัขมันถือว่าเป็นอาวุธเหมือนกัน”

โรเจอร์ บอกว่า สุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่ไม่ทำร้ายคนอยู่แล้ว ถ้าเดินเฉยๆก็ไม่มีปัญหา เเต่ถ้าคิดว่าฉันเป็นคน ฉันมีสิทธิ์ เอาเท้าไปเตะ หรือเจอมันนอนอยู่ ไปด่ามัน เฮ้ยไปให้พ้น เอาเท้าเขี่ยๆ การกระทำแบบนั้นหมาจะต่อต้านเเละฮึดสู้

“ต้องรอด”ทางออกเมื่อโดนหมาจรจัดรุม

เอาตัวรอดจากหมาดุ

สำหรับกลุ่มที่สอง สุนัขจรจัดที่มักแสดงความก้าวร้าว ดุร้าย เนื่องจากหวงแหนพื้นที่ พบได้บ่อยในตรอกซอกซอย

“พวกนี้ถ้าอยู่ตัวเดียวไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าอยู่เป็นกลุ่มในซอย มันจะคิดว่านั่นเป็นพื้นที่ของมัน อาจแสดงท่าทีก้าวร้าว วิ่งกรูเข้ามาข่มขู่ อย่าตกใจ เพราะธรรมชาติของมันไม่มีหรอกที่วิ่งเข้ามาแล้วกัดทันที สบตามันเข้าไว้ ตัวไหนเห่ามองหน้าตัวนั้น มองให้รู้ว่าเราไม่กลัว อย่าหันหลังให้เพราะมันจะงับขา ดังสุภาษิตที่บอกว่า 'หมาลอบกัด' ที่สำคัญอย่าวิ่งหนีเด็ดขาด เพราะมันจะมองคุณเป็นเหยื่อทันที เดินนิ่งๆไปเรื่อยๆ มันจะหยุดเห่าตอนที่เราพ้นเขตพื้นที่มัน แค่นี้คุณก็ปลอดภัยแล้ว”

นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย บอกต่อว่า มนุษย์หลายคนมักกลัวเสียฟอร์มเวลาโดนสุนัขเห่าใส่ ชอบแสดงความกล้า และเลือกตอบโต้ด้วยการตะคอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก

“อย่าเป็นพวกชอบทะเลาะกับหมา ถ้าอยากสื่อสารกับมันจริงๆ ให้พูดเสียงแข็งๆ อย่าไปด่า เพราะสุนัขฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง ฟังได้แต่สำเนียงและเสียง เช่น อย่า! อื้อ! เขาจะมีท่าทีหยุด แต่ถ้าไปตวาดแว้ดๆ เสียงเร็วๆ เขาจะฟังเป็นเสียงดุทันที อย่างไรก็ตามถ้ายังไม่คุ้นชินกับการใช้น้ำเสียงควบคุมสุนัข ก็ควรนิ่งเฉย สบตา และเดิน เดิน เดิน จนพ้นอาณาเขตของมัน อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน”

ถามว่าอุณหภูมิ 36-42 องศาในฤดูร้อน ทำให้คนเข้าใจว่า สุนัขอาจเครียดและทำร้ายผู้อื่นได้มากกว่าฤดูกาลอื่นทั่วไป โรเจอร์ตอบทันที

"ไม่เกี่ยวครับ จริงอยู่ที่อาจร้อนมากขึ้นแต่ไม่มีผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าว ดุเท่าไหร่ก็เท่าเดิม ขี้ขลาดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น บางคนสันนิษฐานกันไปไกลถึงขนาดหน้าร้อนทำให้หมาเป็นบ้ามากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง"

“ต้องรอด”ทางออกเมื่อโดนหมาจรจัดรุม

หมาไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างคนกับหมา ในตอนจบคนมักเป็นฝ่ายถูกโจมตีจากสังคมเสมอ ทั้งยังถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ พศ.2557 จนกลายเป็นคำถามที่ว่า หมาไม่เคยผิดเลยเหรอ?

นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย อธิบายว่า กฎหมายไม่ได้ให้โอกาสเราแก้แค้นใคร ไม่ว่าคนหรือสุนัข และอย่าเข้าใจผิดว่า ทุกครั้งที่ทะเลาะกับหมา คนเท่านั้นที่ผิด

“กฎหมายหมาก็เหมือนกฎหมายคน ถ้าหมากัดคน แล้วคนเกิดคับแค้น ย้อนกลับมาทำร้ายหมา แต่ไม่ถึงตาย เขาก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาทำร้ายสัตว์  แต่ก็มีสิทธิฟ้องร้องหมาได้เช่นกันว่า หมาตัวนี้มันกัดผม เจ้าหน้าที่ก็จะจัดการกับหมาเหมือนกัน โดยสั่งให้เทศบาลหรือเขตไปจับหมาเจ้าปัญหามา หากพิจารณาแล้วเห็นสมควรว่า หมาตัวนี้เป็นภัย มีความก้าวร้าว อาจนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู กักขัง และถ้าไม่ไหวจริงๆ พบว่ามันก้าวร้าวเกินเยียวยา อาจสั่งให้สัตวแพทย์จัดการทำลายสัตว์ได้โดยการฉีดยา เทียบกับคนแล้วก็คือการลงโทษประหารชีวิตนั่นเอง”

โรเจอร์ ทิ้งท้ายว่า สุนัขไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย หากมันทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ดังนั้นทางออกอย่างสันติระหว่างคนและสุนัขก็คือ ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมเบื้องต้นของมัน และจัดการความผิดปกติของมันด้วยกฎหมาย

“ต้องรอด”ทางออกเมื่อโดนหมาจรจัดรุม โรเจอร์ โลหะนันท์