posttoday

วันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะ

17 เมษายน 2559

เดือน เม.ย.ของทุกปี เป็นช่วงที่ประเทศไทยมักมีอากาศร้อนที่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนี้

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

เดือน เม.ย.ของทุกปี เป็นช่วงที่ประเทศไทยมักมีอากาศร้อนที่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนี้เวลาเที่ยงดวงอาทิตย์จะทำมุมตั้งฉากกับพื้นดินบริเวณละติจูดของประเทศไทย หากออกไปยืนกลางแจ้งในเวลาเที่ยงวัน เราจะเห็นดวงอาทิตย์อยู่สูงเหนือศีรษะ วันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดของคนกรุงเทพฯ ในฤดูร้อนของปีนี้ตรงกับวันที่ 26 เม.ย. 2559

การที่แกนหมุนของโลกทำมุมเอียงกับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาล แต่ละช่วงของปีเราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่บนท้องฟ้าในแนวที่ต่างกัน ฤดูหนาวที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์มีแนวการเคลื่อนที่เฉียงไปทางทิศใต้ ขึ้นเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อถึงเที่ยงวันก็ปรากฏอยู่สูงทางทิศใต้ ไม่ได้ผ่านเหนือศีรษะ จากนั้นก็ไปตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แสงอาทิตย์ที่ตกในแนวเฉียงกับพื้นดินของประเทศไทยในขณะนั้นทำให้เกิดฤดูหนาว

เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ดวงอาทิตย์เคลื่อนมาทางทิศเหนือมากขึ้น ตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นจึงเปลี่ยนมาอยู่ทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย เมื่อถึงเที่ยงวันก็ผ่านเหนือศีรษะ แล้วคล้อยต่ำลง ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย แสงอาทิตย์ที่ตกในแนวเกือบตั้งฉากกับพื้นดินของประเทศไทยในขณะนี้ทำให้เกิดฤดูร้อน

แต่ละปีมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะคนไทยอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกเกิดขึ้นในฤดูร้อน ระหว่างต้นเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค. ช่วงที่ 2 เกิดขึ้นในฤดูฝน ตรงกับปลายเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ก.ย. หากฝนไม่ตกและลมสงบ จะสังเกตได้ว่าบางวันในช่วงดังกล่าวอาจมีอากาศร้อนคล้ายเดือน เม.ย.

แต่ละพื้นที่ของประเทศมีวันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะแตกต่างกัน ช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะในฤดูร้อน ภาคใต้จะเกิดขึ้นก่อนภาคอื่นๆ จากนั้นก็ไล่ขึ้นมาตามการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ซึ่งเคลื่อนจากทิศใต้ขึ้นมาทางทิศเหนือ ส่วนช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะในฤดูฝนจะสลับกัน คือเริ่มจากภาคเหนือก่อน จากนั้นก็ไล่ลงไปตามการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนจากทิศเหนือลงไปทางทิศใต้

ระบบปฏิทินสากลที่เราใช้ทุกวันนี้มีการกำหนดวันให้ใกล้เคียงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามากที่สุด ในปีปกติสุรทิน หรือปีที่มี 365 วัน ดวงอาทิตย์มักผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดสำหรับคนกรุงเทพฯ ครั้งแรกในวันที่ 27 เม.ย. แต่ในปีนี้ซึ่งเป็นปีอธิกสุรทิน วันที่เพิ่มเข้ามาในเดือน ก.พ. ทำให้วันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดเลื่อนไปเป็นวันที่ 26 เม.ย. ตัวอย่างของบางจังหวัด เรียงตามวัน ดังนี้

• อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 7 เม.ย. เวลา 12.20 น.

• อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 11 เม.ย. เวลา 12.21 น.

• อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 20 เม.ย. เวลา 12.20 น.

• กรุงเทพมหานคร วันที่ 26 เม.ย. เวลา 12.16 น.

• อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 30 เม.ย. เวลา 12.09 น.

• อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 1 พ.ค. เวลา 11.58 น.

• อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 7 พ.ค. เวลา 12.16 น.

• อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 14 พ.ค. เวลา 12.20 น.

หลังจากผ่านวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นดินในฤดูร้อนไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนไปทางทิศเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดสูงสุดทางทิศเหนือในวันที่ 21 มิ.ย. 2559 จากนั้นจะวกกลับลงมา ทำให้ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงจะอยู่ตรงศีรษะอีกครั้ง ตัวอย่างของบางจังหวัด เรียงตามวัน ดังนี้

• อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 28 ก.ค. เวลา 12.31 น.

• อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 5 ส.ค. เวลา 12.25 น.

• อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 11 ส.ค. เวลา 12.06 น.

• อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 12 ส.ค. เวลา 12.17 น.

• กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 ส.ค. เวลา 12.22 น.

• อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 22 ส.ค. เวลา 12.24 น.

• อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 31 ส.ค. เวลา 12.20 น.

• อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 4 ก.ย. เวลา 12.17 น.

ตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อสภาพอากาศ เรามักพบว่าวันที่กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละปี ไม่จำเป็นต้องตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุด เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น กระแสลม ปริมาณฝน ความชื้นในอากาศ เป็นต้น

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (17-24 เม.ย.)

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกมีดาวพุธอยู่ทางทิศตะวันตกกับดาวพฤหัสบดีอยู่ทางทิศตะวันออก ดาวพุธจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 18 เม.ย. โดยอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 20 องศา จึงเป็นช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีหากท้องฟ้าเปิด โดยปรากฏเป็นดาวสว่างอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตก แต่จะมีเวลาสังเกตได้ไม่นาน

ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เริ่มเห็นเมื่ออยู่สูงทางทิศตะวันออก จากนั้นผ่านจุดสูงสุดบนท้องฟ้าเหนือศีรษะในเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง แล้วคล้อยต่ำลงไปตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 3 ครึ่ง

ดาวอังคารและดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวนี้คั่นอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 4 ทุ่ม หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย โดยขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านจุดสูงสุดบนท้องฟ้าทิศใต้ก่อนเช้ามืด สังเกตได้ว่าดาวอังคารกำลังมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากใกล้ถึงช่วงที่ใกล้โลกที่สุดในปลายเดือน พ.ค.

ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างมากกว่าครึ่งดวงผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในค่ำวันที่ 18 เม.ย. ที่ระยะ 5 องศา จากนั้นวันที่ 21 เม.ย. ดวงจันทร์เคลื่อนไปใกล้ดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาวที่ระยะเดียวกัน แต่อาจสังเกตดาวรวงข้าวได้ยาก เนื่องจากเป็นช่วงก่อนจันทร์เพ็ญเพียงวันเดียว

ค่ำวันพฤหัสบดีที่ 21 เม.ย. สถานีอวกาศนานาชาติปรากฏให้เห็นเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเริ่มเห็นขณะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.46 น. จากนั้นสถานีอวกาศเคลื่อนสูงขึ้นโดยเฉียงไปทางขวา สิ้นสุดการมองเห็นเมื่อเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 19.49 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุมเงย 31 องศา

ค่ำวันเสาร์ที่ 23 เม.ย. สถานีอวกาศนานาชาติปรากฏอีกครั้ง เริ่มเห็นขณะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.38 น. จากนั้นสถานีอวกาศเคลื่อนสูงขึ้นโดยเฉียงไปทางซ้าย ถึงจุดสูงสุดเวลา 19.41 น. ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่มุมเงย 54 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลง เข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 19.42 น. ทางทิศใต้ที่มุมเงย 29 องศา (เวลาอาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย)