posttoday

ไปเชียงราย ต้องไปบ้านจอมพล ป.

17 เมษายน 2559

พิพิธภัณฑ์ทหารมณฑลทหารบกที่ 37 บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2485 เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยว

โดย...ส.สต

พิพิธภัณฑ์ทหารมณฑลทหารบกที่ 37 บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2485 เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยว ผู้ใคร่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่าอะไรเกิดขึ้นใน จ.เชียงราย และภาคเหนือของไทยเมื่อ 74 ปีที่แล้ว หรือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ควรพลาด เพราะบ้านพักรับรองผู้นำของไทยมีเรื่องบอกเล่า สอดคล้องกับจารึกด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ว่า ประวัติศาสตร์สร้างคน คนสร้างชาติ

การที่ผมไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สำคัญแห่งนี้ สืบเนื่องมาจากวันที่ 2-3 เม.ย. 2559 ไปร่วมงานบรรพชาอุปสมบททายาทพระพุทธศาสนา 3,016 คน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เม.ย. 2559 ที่ จ.เชียงราย และพะเยา ตามโครงการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เชียงราย เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ก่อนเดินทาง
กลับกรุงเทพฯ วันที่ 3 เม.ย. เจ้าหน้าที่ มรภ.เชียงราย พาไปชมสถานที่เป็นประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย คืออนุสรณ์สถานพ่อขุนเม็งราย ผู้ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 1805 และสถาปนาอาณาจักรล้านนาไทยให้เป็นปึกแผ่น และพิพิธภัณฑ์ทหารมณฑลทหารบกที่ 37 บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณดอยงำเมือง หลังชุมชนวัดพระแก้ว เขตเทศบาลนครเชียงราย ผมจึงนำมาเล่า โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บเพจต่างๆ นอกเหนือจากภาพที่เห็นด้วยตา

นอกจากชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะขายได้เพราะความเป็นผู้นำในอดีตแล้ว ตัวบ้านที่เป็นพิพิธภัณฑ์ก็เก่าและเด่นมาก เมื่อรวมกับสิ่งของที่แสดงภายใน เช่น ประวัติจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประวัติการปกป้องคุ้มครองดินแดนไทยในภาคเหนือของทหารหาญ รวมทั้งวิวัฒนาการของ จ.เชียงราย ก็ทำให้พิพิธภัณฑ์เด่นยิ่งขึ้น

ไปเชียงราย ต้องไปบ้านจอมพล ป. ป้ายบอกที่ตั้ง

 

 

ตามข้อมูลนั้นบ้านนี้สร้างด้วยปูน สไตล์ยุโรปทรงสวิส เป็นหลังแรกๆ ของ จ.เชียงราย ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ บนเนื้อที่ราว 2 ไร่ โดยสร้างเมื่อ พ.ศ.2485 เป็นอาคาร 2 ชั้น ฝาผนังก่อด้วยอิฐฉาบปูน พื้นห้องปูด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องสร้างขึ้นในสมัยที่ พ.ต.อ.พระนรากรบริรักษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นที่พักรับรอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้น ที่เดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่ จ.เชียงราย

นอกจากนี้ ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) บ้านพักรับรองหลังนี้ ยังถูกใช้เป็นที่บัญชาการกองทัพพายัพ ต่อมาบ้านพักรับรองได้มาอยู่ในความดูแลของ จ.เชียงราย จนกระทั่งวันที่
15 พ.ค. 2489 ได้มาอยู่ใความดูแลของค่ายเม็งรายมหาราช

ปัจจุบันนี้บ้านหลังนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลล้านนาและเมืองเชียงราย รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ให้กับนักศึกษาวิชาทหารและประชาชนทั่วไปด้วย

เมื่อแรกพบพิพิธภัณฑ์ ก็ประทับใจ เช่น บริเวณด้านหน้าบ้านพักที่มีรูปปั้นช้างสีขาวหันหลังชนกัน 4 ช้างอยู่ในแอ่งน้ำ บนหลังช้างมีฉัตรหลายชั้น ตั้งอยู่แปลว่าเป็นช้างทรง

เมื่อเป็นส่วนหนึ่งทหาร จึงมีปืนใหญ่ตั้งแสดงอยู่ตามมุมของสนาม พร้อมทั้งมีรูปปั้นทหารอีก 3 ท่าน ประดิษฐานติดกับทางขึ้นด้วย

ไปเชียงราย ต้องไปบ้านจอมพล ป. บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทรงสวิส

 

เมื่อเข้าสู่อาคารที่เป็นบ้านพักอดีตผู้นำของไทย ที่ปฏิรูปการอ่านการเขียนหนังสือไทย จนมีคำเรียกว่าอักษรสมัยจอมพล ป. เป็นผู้นำเรื่องชาตินิยม มีคำขวัญปลุกใจชาวไทยว่า เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย หรือไทยทำไทยใช้ ไทยเจริญ ตั้งแต่ห้องแรกที่ชั้นล่าง ถึงห้องแสดงอาวุธที่ชั้นสอง ล้วนแต่บอกความเก่งกล้าสามารถของทหารหาญทั้งสิ้น รวมทั้งดาบสองเล่มอยู่ในฝัก ยาวเสมอศีรษะ ประดับที่วงกบประตูห้องแสดงที่ชั้น 2 ก็ทำให้แปลกใจ เพราะไม่รู้เวลาใช้ฟัน ต้องใช้กี่คน
จึงยกขึ้น

ที่ห้องนอน ตามข้อมูลนั้นว่าได้รักษาสภาพเดิมไว้ทั้งหมด นอกจากเตียงนอน ก็มีโต๊ะเขียนหนังสือที่ตอนนี้ใช้เป็นที่วางหนังสือประวัติ และผลงานของท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เขียนโดยท่านผู้หญิงละเอียดพิบูลสงครามผู้เป็นศรีภรรยาอีกด้วย

เมื่อเยี่ยมบ้านผู้นำ ทำให้เกิดความคิดว่า การเป็นผู้นำต้องคิดและทำเพื่อสังคม ชื่อเสียงเกียรติคุณจึงยั่งยืน ดังที่ท่านว่า อยู่เพื่อตัว อยู่แค่สิ้นลม อยู่เพื่อสังคมอยู่ชั่วนิรันดร์