ฝายไม้น้ำปุก ภูมิปัญญา200ปี ’รักษ์น้ำ รักษ์ป่า’
ในฐานะเมืองเกษตรกรรม ประเทศไทยสั่งสมภูมิปัญญาความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำไว้มากมาย แตกต่าง
โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล
ในฐานะเมืองเกษตรกรรม ประเทศไทยสั่งสมภูมิปัญญาความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำไว้มากมาย แตกต่าง ปรับเปลี่ยนกันไปในแต่ละพื้นที่เพื่อความสอดคล้อง สมดุลกับระบบนิเวศ
บ้านน้ำปุก หมู่ 1 ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา อยู่ห่างจากตัวเมือง อ.ปง 24 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออก เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่อาศัยและทำกินติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง โดยรอบหมู่บ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยสารพัดชนิด
“แม่น้ำปุก” ไหลผ่านทางตะวันออกของหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้เลี้ยงชีพและประกอบอาชีพเกษตรกรรมของประชาชนในหมู่บ้านน้ำปุกกว่า 180 ครัวเรือน วันนี้ที่น้ำปุกมีเสียงตอกดังลั่นสนั่นป่า เมื่อตามเสียงไปจึงพบว่าเป็นการทำฝายไม้แบบดั้งเดิมของชาวน้ำปุก ซึ่งปัจจุบันพบน้อยมาก
“ฝายน้ำปุกแห่งนี้ เรียกกันตามภาษาพื้นบ้านว่า ‘ฝายน้ำดั้น’ อายุฝายลูกนี้ ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเล่าให้ฟังสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คาดว่าเกือบ 200 ปี ครั้งแรกทำฝายมีครัวเรือนประมาณ 5-6 หลังเท่านั้น ก่อนที่ทางการจะประกาศให้เป็นหมู่บ้าน แต่นั้นมาชาวบ้านได้มาตีฝายซ่อมฝายทุกปีจนถึงปัจจุบัน เป็นฝายที่ทำให้คนน้ำปุกต้องมาช่วยกันทำ เพราะคนน้ำปุกใช้น้ำจึงต้องช่วยกันตีฝายเพื่อให้ได้ใช้น้ำ” ผู้เฒ่าวัยเกือบ 70 ปี คนหนึ่งของบ้านน้ำปุก เล่าให้ฟังถึงที่มาของฝายไม้น้ำปุก
สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า แม่น้ำปุกคือแม่น้ำสายหลักของชาวน้ำปุก การรักษาแม่น้ำปุกเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสูงสุด คือหน้าที่สำคัญของคนน้ำปุกต้องร่วมแรงร่วมใจกันดูแล ดังนั้นทุกปีคนน้ำปุกจะร่วมกัน “ตีฝายน้ำปุก” เพื่อให้เก็บกักน้ำ ดักตะกอน ชะลอน้ำ เพื่อให้ผืนป่าใกล้เคียงชุ่มชื้น โดยใช้ไม้ทำเป็นหลักหลายขนาดตอกลงไปในน้ำ และยึดให้แน่นเป็นแผงขวางตลอดแนวลำน้ำ ยาวประมาณ 50 เมตร ขึ้นอยู่กับความกว้างของลำน้ำ
หากว่าฝายไม้ที่ชำรุดต้องได้รับการซ่อมแซม ประมาณเดือน มี.ค.-พ.ค. เป็นช่วงก่อนลงนา หรือช่วงก่อนที่น้ำจะมา จะมีล่ามฝายทำหน้าที่แจ้งทุกครัวเรือนส่งตัวแทนเข้าร่วมตีฝาย หากครัวเรือนใดที่ไม่ส่งตัวแทนมาจะเสียค่าปรับวันละ 200 บาท แต่ละครั้งการตีฝายจะทำเพื่อซ่อมแซมฝายส่วนที่เสียหายจากน้ำพัดในปีที่ผ่านมา จะเสียหายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงน้ำ หากปีไหนที่ฝายเสียหายมากจะต้องใช้เวลาตีฝายประมาณ 5-7 วัน หากเสียหายน้อย 1-2 วันก็เสร็จ
การตีฝายเกิดขึ้นเพราะทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ตั้งแต่เด็ก ผู้นำ ประชาชน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของดอยผาช้าง ซึ่งเป็นลูกหลานในหมู่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นตัวแทนหมู่บ้าน ร่วมกันคนละไม้ละมือเมื่อถึงเวลาตีฝาย เสร็จแล้วทุกคนจะได้ใช้น้ำร่วมกัน
ชิน ใจเย็น ผู้ประสานงานภาคประชาชน ต.ขุนควร อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งมีบทบาทหลักในการประสานงานเพื่อขับเคลื่อนด้านการซ่อมบำรุงฝายไม้โบราณและฝายธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้ กล่าวว่า “ฝายที่ตีเสร็จเรียบร้อยจะทำให้พื้นที่หน้าฝายมีการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น จากนั้นน้ำจะถูกผันไปใช้ในท้องที่การเกษตร คือ นาข้าว ซึ่งพื้นที่นาข้าวของชาวน้ำปุกต้องใช้น้ำจากแม่น้ำปุกมากถึงกว่า 500 ไร่ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาจะใช้น้ำประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย. (ปางเก้า) และทำนาเสร็จในเดือน ธ.ค. (ปางสี่) พวกเราผู้ใช้น้ำจะมีการทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำขอใช้น้ำตอนปางเก้า และขอบคุณหลังใช้น้ำตอนปางสี่
การตีฝายเพื่อซ่อมแซม หรือเลี้ยงผีขุนน้ำแม่น้ำปุก คือสิ่งที่สื่อให้เห็นว่าคนน้ำปุกมีความรักษ์ป่า รักษ์น้ำ โดยยึดความสามัคคีเป็นหลัก
ชิน บอกอีกว่า ปัจจุบันในป่าต้นน้ำปุกและน้ำพล้อยมีฝายไม้จำนวน 3 แห่ง คือ ฝายไม้น้ำปุก ฝายห้วยเลา ในแม่น้ำปุก ฝายนาพล้อย ผาตั้ง ปีนี้ฝายนาพล้อยต้องซ่อมแซม ซ่อมแต่ละครั้งจะใช้งบประมาณ 3 หมื่นบาท กำลังอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการซ่อมแซม
ไพโรจน์ ลาบุตรดี ผู้ใหญ่บ้านน้ำปุก กล่าวว่า กว่า 120 ปีมาแล้ว ฝายน้ำปุกมีความสำคัญต่อคนในหมู่บ้านอย่างมาก ดังนั้น ชาวบ้านที่มีพื้นที่มากใช้น้ำมากต้องนำหลักไม้มามาก แต่รายที่มีน้อยก็นำหลักไม้มาน้อย โดยยึดจำนวนไร่ของที่ทำกินเป็นหลัก เช่น ไม้หลักใหญ่ยาว 100 ซม. ไร่ละ 5 อัน ไม้หลักเล็กยาว 30 ซม. ไร่ละ 80 อัน และไม้ตีขวางยาว 100 ซม. ไร่ละ 15 อัน และดิน หิน 3 ถัง
ทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เพราะชาวบ้านช่วยกันหามาได้เอง แต่หากปีไหนที่ฝายเสียหายหนัก อบต.ก็ออกมาช่วยซ่อมให้ โดยมีงบประมาณหรือเครื่องจักรกลช่วยทุ่นแรงชาวบ้าน เพราะ “น้ำ” สำคัญกับชาวน้ำปุก “ป่า” คือสิ่งที่ทำให้มีน้ำตลอดทุกฤดูกาล ดังนั้น คนที่นี่ จึง “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า” เพื่อ “ชีวิต”