ร้อนระอุกระทบทุกสรรพสัตว์
สภาพอากาศร้อนระอุที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยังส่งผลด้านอื่นๆ ที่คอยกัดกินซุกซ่อนหายนะที่มองไม่เห็นตามมาอีกด้วย
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
สภาพอากาศร้อนระอุที่เกิดขึ้นทุกปี ส่งผลให้เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน เราต่างต้องคอยติดตามข่าวและลุ้นกันว่า อุณหภูมิหฤโหดนี้จะพุ่งสูงทำลายสถิติปีที่ผ่านมาแค่ไหนเพียงไรจนแทบจะเรียกว่า กลายเป็นกิจกรรมสำคัญประจำฤดูกาลเสียแล้ว
ปีนี้คาดว่าอากาศจะร้อนที่สุดในช่วงปลายเดือน เม.ย. อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 43-44องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าใกล้ถึงจุดกำลังจะทำลายสถิติสูงสุดเดิมที่เคยบันทึกไว้ในปี 2503 ว่าประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 44.5 องศาเซลเซียส ทิ้งห่างจากการคาดการณ์ไว้เพียงครึ่ง
องศาเท่านั้น
แม้จะยังไม่ถึงขั้นร้อนจนทำลายสถิติรอบ56 ปี แต่ผลพวงทางกายภาพซึ่งส่งผลหลัก คือทำให้เกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าวิตกและส่งผลกระทบโดยตรงต่อธรรมชาติซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นระบบลูกโซ่อย่างยากจะคาดเดาว่าเกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง
สอดคล้องกับผลวิจัยจากการประชุมธรณีวิทยาในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเร็วๆ นี้ที่ระบุว่า ภัยธรรมชาติกำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่ก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึงสถิติที่นับจากปี 2443 จนถึงปัจจุบัน พบว่าภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ภัยแล้งคลื่นความร้อนและไฟป่า คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้วถึง 8 ล้านคน และก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (245 ล้านล้านบาท) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 38.5%
ขณะที่ประเทศไทย ภัยแล้งยังคงสร้างความเสียหายทางเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องนอกเหนือจากผลทางกายภาพต่อมนุษย์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม สภาพอากาศร้อนระอุที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยังส่งผลด้านอื่นๆ ที่คอยกัดกินซุกซ่อนหายนะที่มองไม่เห็นตามมาอีกด้วย
นำชัย ชีววิวรรธน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า ภัยทางชีวภาพจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนั้น แม้มีการพูดถึงกันน้อยแต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าภัยจากโรคร้ายที่มาพร้อมกับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งร้อนขึ้น หนาวลง เกิดฝนตกหนักหรือฝนตกอย่างต่อเนื่องอย่างยาวนานในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำที่เกิดจากโรคติดต่อเก่าๆ เกิดการกลายพันธุ์ จนสามารถกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้ง ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพียงทศวรรษเดียว เราได้รู้จักและเผชิญหน้ากับโรคที่มนุษยชาติไม่เคยพบพานมาก่อนคือ โรคซาร์ส (SARS) และโรคไข้หวัดนก ขณะที่แวดวงวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ ต่างทราบดีว่า มีโรคมาลาเรียและวัณโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ดื้อยาเดิมๆ เกิดเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา
รองผู้อำนวยการ สวทช.อธิบายอีกว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก อาจส่งผลอย่างร้ายแรงในกรณีของโรคมาลาเรีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้น โดยคำนวณจากกรณีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไปถึง 2 องศาจากปัจจุบัน แบบจำลองดังกล่าวชี้ว่า จนถึงปี พ.ศ. 2563 โรคมาลาเรียจะแพร่กระจายจนแทบไม่เหลือบริเวณใดในโลกที่นับเป็นพื้นที่ปลอดจากโรคนี้อีกต่อไป ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในบริเวณที่ไม่พบมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่น เช่น แถบยุโรป ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียว ที่เป็นปัจจัยให้เกิดภัยจากโรคร้ายชนิดต่างๆ ผลจากการวิจัยชี้ด้วยว่าภาวะความแห้งแล้งหรือความชื้นสูงมากๆ อย่างฉับพลันหรือยาวนาน ยังเพิ่มปริมาณแหล่งเพาะพันธุ์ยุงส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อรา ทำให้มีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ ปริมาณสารอาหารและสารเคมีที่ไหลลงแหล่งน้ำ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำไหลและแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้เกิดโรคระบาดทางน้ำจากแบคทีเรียจำพวกอีโคไล และคริปโตสปอริเดียม(Cryptosporidium) ได้ เป็นต้น
อาจารย์นำชัย กล่าวว่า โรคติดต่อที่เกิดขึ้นมักจะมาในรูปแบบของกลุ่มหรือ “คลัสเตอร์ (Cluster)” ของโรค มากกว่าจะเป็นการระบาดของโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ แม้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เนื่องจากภาวะโรคร้อนมาเกี่ยวข้องด้วย โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำโดยตัวของมันเอง ก็นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยแล้ว เนื่องจากสภาวะแวดล้อมด้านชีววิทยาในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เอื้อให้เกิดโรคใหม่ๆ หรือทำให้โรคที่มีอยู่แล้วแพร่กระจายมากขึ้นได้อย่างง่ายดาย เรื่องของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่จนต้องอยู่อาศัยกันอย่างแออัดยัดเยียด เช่น เกาะฮ่องกงที่พบโรคไข้หวัดนกและเขตจังหวัดกวางตุ้งในประเทศจีนที่พบโรคซาร์สเป็นครั้งแรก
“การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้สัตว์พาหะของโรคซึ่งเดิมอยู่แต่ในป่า เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ ส่งเสริมการเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เชื้อโรคหลายชนิดที่เคยพบแต่ในสัตว์ สามารถปรับตัวจนข้ามเข้ามาก่อโรคในคนได้ ประกอบกับการเลี้ยงสัตว์ในระบบอุตสาหกรรม ที่มีสัตว์เศรษฐกิจเพียงไม่กี่สายพันธุ์หลัก ก็สร้างความเสี่ยงในแง่ที่หากเกิดโรคระบาดขึ้น ก็จะสร้างความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากขาดความหลากหลายทางสายพันธุ์ ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างระดับความต้านทานโรคที่แตกต่างกันไปสิ่งมีชีวิต จึงอาจกล่าวได้ว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่โลกเปรียบเสมือนขวดเพาะเชื้อขนาดใหญ่ ที่กำลังเพาะเลี้ยงเชื้อโรคต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง และภาวะโลกร้อนก็อาจจะถือเป็นตัวเร่งให้หายนะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ก็เป็นได้” นำชัย กล่าว
รายงานข่าวด้านวิทยาศาสตร์ยังระบุด้วยว่า นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อจุลชีพหรือชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นแล้ว อากาศที่ร้อนขึ้น ยังกระทบต่อเหล่าสัตว์อื่นๆ เช่นกัน ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดการปรับตัวที่คาดไม่ถึง โดยล่าสุดมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย พบว่า อากาศร้อนจัดส่งผลให้สัตว์เลื้อยคลานอย่างกิ้งก่าเคราเปลี่ยนเพศได้ โดยจากการทดลองและเก็บข้อมูล พบว่ามีกิ้งก่าเคราเพศผู้ประมาณ 10% ปรับตัวให้สามารถออกไข่ได้เหมือนเพศเมียเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
โดยปกติแล้วเพศของสัตว์เลื้อยคลานอย่างจระเข้นั้นถูกกำหนดด้วยอุณหภูมิภายนอกไข่ที่ถูกฟักหากอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 30-31 องศาเซลเซียส ลูกจระเข้ที่ฟักออกมาจะเป็นตัวผู้และตัวเมียเท่าๆ กัน ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านั้นส่วนใหญ่จะออกมาเป็นตัวเมีย และใช้เวลาฟักนาน แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านั้น ส่วนใหญ่จะฟักออกมาเป็นตัวผู้ และใช้เวลาสั้นกว่าปกติ ที่จะใช้เวลาประมาณ 75 วัน จึงจะฟักออกมาเป็นตัว
ด้านแผนกสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท แห่งสหราชอาณาจักร (The UK’s Department of Environment Food and Rural Affairs : Defra) ซึ่งนำโดยคณะกรรมการปักษีวิทยา (British Trust for Ornithology) เปิดเผยงานวิจัยในการประชุมสุดยอดการอนุรักษ์ธรรมชาติของสหภาพยุโรป ที่ประเทศสกอตแลนด์ ว่า กรณีน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทะเลทรายแผ่ขยายตัว และการเปลี่ยนแปลงทางเพศของเต่าทะเลจากภาวะน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น กำลังเป็นภัยคุกคามโลก รวมถึงภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบถึงการเปลี่ยนเส้นทางอพยพของนกและสัตว์หลายชนิด
รายงานการวิจัยดังกล่าวระบุว่า ผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผสมพันธุ์ของนกอัลบาทรอส (Albatross) มีการคาดการณ์ว่าภายในศตวรรษนี้ระดับน้ำทะเลจะขึ้นสูงและเข้าทำลายรังของเต่าทะเลหลายแห่ง เกือบหนึ่งในสามของชายฝั่งทะเลแถบแคริบเบียนที่เต่าทะเลขึ้นมาทำรังจะถูกทำลายลงภายหลังน้ำขึ้น ขณะที่แมวน้ำและนกจำพวกขายาวก็จะสูญเสียชายหาดซึ่งเป็นแหล่งอาศัยไป
ภาวะที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้เต่าทะเลบางสายพันธุ์เป็นเพศเมียเกือบทั้งหมด เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลจะมีผลโดยตรงต่อการกำหนดเพศของไข่ที่ฟักออกมา ภาวะขาดแคลนน้ำในหลายๆ พื้นที่ จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งบรรดาสัตว์ปีกที่อพยพมาและอาศัยแหล่งน้ำเหล่านั้นยังชีพ และ 5.การแผ่ขยายตัวของทะเลทรายซาฮาร่าจะทำให้นักเดินทางต้องเหนื่อยใจ เช่นเดียวกับพวกนกนางแอ่น เพราะพวกเขาจะไม่สามารถหยุดพักเพื่อเติมพลังในพื้นที่อุดมสมบูรณ์บริเวณขอบทะเลทรายได้อีก
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของน้ำทะเลเพียงเล็กน้อย ส่งผลกระทบต่อสัตว์ เนื่องจากมันทำให้แพลงก์ตอนซึ่งเป็นฐานรากของห่วงโซ่อาหารมีปริมาณลดลงอย่างน่ากลัว และอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการผสมพันธุ์ของนกทะเลสกอตติชลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปลาที่เป็นแหล่งอาหารก็มีปริมาณลดลงเช่นกัน
เช่นเดียวกับที่ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยหลายจุดเริ่มมีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว สาเหตุหลักที่ทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวคือปรากฏการณ์เอลนินโญ ที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นในระดับที่ทำให้สาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังตาย เหลือแต่ตัวปะการังที่ไม่มีสีทำให้มองทะลุเห็นโครงสร้างสีขาวข้างในจึงกลายเป็นสีขาว
“หากอุณหภูมิของน้ำลดลง สาหร่ายเซลล์เดียวก็จะกลับคืนเข้ามาอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อและทำให้ตัวปะการังเดิมกลับมามีสีตามธรรมชาติได้เอง แต่ถ้าน้ำทะเลอุ่นอยู่นานเกินไป ในที่สุดตัวปะการังก็จะตายไปด้วยเหลือแต่โครงสร้างขาวๆ อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เจลลีฟิชบูม หรือแมงกะพรุนขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จากสาเหตุที่น้ำเสียและอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ไปเพิ่มอาหารของแพลงก์ตอน ที่เป็นอาหารของแมงกะพรุน ทำให้แมงกะพรุนขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเป็นลูกโซ่ตามไปด้วย และเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทะเลทั่วโลก บางจุดจะพบว่ามีแมงกะพรุนนับล้านตัวเบียดเสียดกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนว่าทะเลกำลังจะมีปัญหา ซึ่งอาจจะกระทบต่อระบบนิเวศอย่างวงจรชีวิตของหญ้าทะเล แหล่งอาหารที่หลบภัยหรือลมมรสุมสำหรับปลาและสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด แน่นอนว่าจะส่งผลถึงจำนวนประชากรของพวกมันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และกระทบมาถึงคนในที่สุด” ธรณ์ กล่าว
ด้าน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ที่ผ่านมามีรายงานว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ศัตรูพืชใหม่ๆ อย่างเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังเกิดระบาดขึ้น และเป็นปัญหาใหม่ที่เกษตรกรยุคแรกไม่เคยประสบมาก่อน รวมถึงทำให้เกิดปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดสร้างความเสียหายนับล้านไร่ วัฏจักรเดิมที่เพลี้ยชนิดนี้เคยระบาด 10 ปี/ครั้ง ระบาดระยะสั้นเพียงครั้งเดียวแต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและยาวนานขึ้น ได้เพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์ของพวกมันให้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
อากาศช่วงหน้าร้อนและอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะยังอยู่ในเครื่องหมายคำถามถึงการเชื่อมโยง และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทั้งหมดจึงทำให้นักวิจัยต้องกุมขมับหาคำตอบต่อไปท่ามกลางข้อกังวลว่า สิ่งที่ยากจะคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นๆ นั้นจะสร้างผลกระทบอะไรต่อไปในอนาคต