'กกต.'คลอดหลักเกณฑ์ 6ทำได้ 8ห้ามทำช่วงประชามติ
กกต. ออกประกาศหลักเกณฑ์ 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ระหว่างประชามติร่างรธน. ย้ำแสดงความคิดเห็น โพสต์ แชร์ เกี่ยวกับร่าง รธน. ทำได้ ถ้าไม่ผิดกฎหมาย
กกต. ออกประกาศหลักเกณฑ์ 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ระหว่างประชามติร่างรธน. ย้ำแสดงความคิดเห็น โพสต์ แชร์ เกี่ยวกับร่าง รธน. ทำได้ ถ้าไม่ผิดกฎหมาย
เวลา 16.30 น. วันที่ 29 เม.ย. นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) ด้านกิจการบริหารกลาง แถลงข่าวถึงผลการประชุม กกต. ซึ่งผลการประชุมนั้นระบุเป็นประกาศ กกต.ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ทำได้ และสิ่งใดไม่สามารถทำได้ ช่วงก่อนการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งคาดว่าประกาศนี้จะมีผลภายในสัปดาห์หน้าหลังจากลงเป็นราชกิจจานุเบกษาแล้ว
นายธนิศร์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ทั้ง 6 ข้อได้แก่ 1.ในการแสดงความเห็นบุคคลสามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย และไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น อาทิ ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมอย่างครบถ้วนจากสื่อต่างๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลแสดงความเห็น 2.แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ 3.แสดงความเห็นด้วยข้อมูลชัดเจน ไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 4. การนำเสนออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการแสดงความเห็นให้ผู้มีสิทธิออกเสียง บุคคลนั้นควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย 5.การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมเหตุผลของตนสามารถทำได้ 6. การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตนบนสื่อออนไลน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมสามารถทำได้
สำหรับสิ่งที่ทำไม่ได้มี 8 ข้อคือ 1. การชักจูงไม่ให้มีการใช้สิทธิ การสร้างความเข้าใจผิดเพื่อให้ผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำให้เข้าใจผิดในวันเวลาที่ไปใช้สิทธิหรือวิธีการลงคะแนน ด้วยวิธีการ อาทิการสัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยถ้อยคำเป็นเท็จหรือมีความรุนแรง ปลุกระดม ข่มขู่ ไม่สามารถทำได้ 2.การนำเข้า โพสต์ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีความรุนแรงในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการแชร์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถทำได้ 3. การกระทำหรือส่งสัญลักษณ์ที่มีความก้าวร้าวรุนแรง ทำไม่ได้ 4. การจัดเวทีสัมมนา อภิปรายโดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมายเข้าร่วมและมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมืองทำไม่ได้ 5.การชักชวนให้ใส่เสื้อหรือติดป้าย เข็มกลัด ริบบิ้น ธง หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขายการแจกสิ่งของดังกล่าวในลักษณะรณรงค์เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทำไม่ได้ 6.การแจกจ่ายเอกสารแผนพับที่มีข้อความเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงนั้นทำไม่ได้ 7.การรายงานข่าวของสื่อที่ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือปลุกระดมทำไม่ได้ 8. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคมเพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันมีลักษณะปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียงนั้นทำไม่ได้
นายธนิศร์กล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้นตนขอเรียนว่าสื่อมวลชนสามารถทำได้บนพื้นฐานของจริยธรรม และต้องทำอย่างเป้นกลาง โดยมีพื้นฐานของข้อเท็จจริงประกอบด้วย สำหรับการทำหน้าที่ของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ต่างๆหรือการจัดรายการของสื่อต่างๆ นั้นถ้ามีเนื้อหาที่ปลุกระดมก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องการชวนคนมาออกรายการสดแล้วบุคคลนั้นมีพฤติกรรมการพูดปลุกระดมคงต้องดูเป็นกรณีไปว่าใครจะเป็นผู้กระทำผิด ต้องดูว่าทางรายการนั้นผิดด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีการใช้ ครู ก. ครู ข. ครู ค.ของทาง กรธ. ที่ลงไปชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนการทำประชามติต้องอยู่ภายใต้ประกาศของ กกต.ด้วยเช่นกัน
นายธนิศร์กล่าวต่อว่าการออกประกาศของ กกต.นั้นยืนอยู่บน มาตรา 11 ของ พรบ.ประชามติที่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่อย่างไรก็มี พรบ.อื่นๆที่ ประชาชนต้องคำนึงถึงด้วย อาทิ พรบ.คอมพิวเตอร์ พรบ.เรื่องการรักษาความสะอาด หรือกฎหมายความมั่นคงของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นต้น การกระทำที่ผิดกฎหมายจาก พรบ.ประชามติ 2559 จะมีโทษในมาตราที่ 61 ในวงเล็บ 1 2 และ 3 ซึ่งโทษจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทและอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย สำหรับการกระทำความผิดของคณะบุคคลที่มากกว่า 5 คนขึ้นไป ต้องจำคุกไม่เกิน 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่น – 2 แสนบาท หรืออาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่า กกต.นั้นไม่ได้ออกกติกามาเพื่อมาจำกัดสิทธิประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการออกมาพูดก่อนว่าอะไรสามารถทำได้และไม่ได้ ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงจะได้มีขอบเขตในการแสดงความเห็นได้อย่างสบายใจ
นายธนิศร์กล่าวต่อว่าสำหรับนิยามของการข่มขู่นั้นมีหลักการในการพิจารณาอยู่แล้ว ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายอาญา ทั้งนี้เมื่อประกาศนี้ออกมา สิทธิ์ขาดในการรักษาหลักการนั้นจะอยู่ที่ทางเนื้อหาของ พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงการออกประชามติจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งประชาชนคนไหนพบเห็นการกระทำผิดก็สามารถไปแจ้งความได้เลย และจะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายต่อไป
เมื่อถามถึงการกำหนดพื้นที่สีเทาสำหรับบุคคลที่อาจจะเข้าจ่ายกระทำความผิด นายธนิศร์กล่าวว่าทุกเรื่องที่ กกต.บอกว่าทำได้ก็มีความสุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะอาจจะไปผิดกฎหมายอื่นนอกเหนือจากประกาศของ กกต. ดังนั้นก็ต้องขึ้นกับเจตนาของผู้กระทำด้วย ถ้ามีเจตนาตนว่าอย่างไรก็ผิด ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะจะอ้างประกาศของ กกต.เพื่อดำเนินการจับกุมผู้ที่กระทำความผิด ก็ต้องดูเจตนาผู้ที่กระทำด้วย