ปรัชญาว่าด้วยศรัทธาและอุดมการณ์

08 พฤษภาคม 2559

“ศรัทธาคือความเชื่ออันแก่กล้า อุดมการณ์คือศรัทธาที่มั่นคง” ในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนถึงปรัชญาว่าด้วยความเชื่อและความหวัง

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

“ศรัทธาคือความเชื่ออันแก่กล้า อุดมการณ์คือศรัทธาที่มั่นคง”

ในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนถึงปรัชญาว่าด้วยความเชื่อและความหวัง สรุปความว่าความเชื่อกับความหวังคือสิ่งเดียวกัน เหมือนชีวิตร่างกาย (คือความเชื่อ) ถ้าขาดลมหายใจ (คือความหวัง) ก็ดำรงคงอยู่ไม่ได้ ในทำนองเดียวกันในทางการเมือง ถ้าคนไม่เชื่อในผู้นำหรือในระบอบการปกครอง รัฐนั้นก็จะต้องถึงคราวสิ้นสลาย หรืออาจจะต้องดิ้นรนพิกลพิการ หาความสงบเรียบร้อยอันจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองนั้นไม่ได้

ผู้นำหรือระบอบการปกครองที่ฉลาดจะต้องมีความสามารถในการ “จัดระบบความเชื่อ” ให้เข้มแข็งมั่นคง เพื่อที่จะให้ผู้ใต้ปกครองอยู่ในความเป็นระเบียบและสุขสงบ ทั้งนี้จะต้องทำให้ความเชื่อ (Belief) นั้นกลายเป็นความเชื่อถือ (Trust) ที่สุดคือความศรัทธา (Faith) ซึ่งหากจะอธิบายตามลำดับก็คือ

เริ่มแรกมนุษย์โดยทั่วไปมักจะมีความคิดที่จะ “เชื่อ” โดยไม่ค่อยจะคิดใคร่ครวญอะไรให้ยุ่งยากมากมาย แบบที่เรียกว่าเชื่อตามกัน หรือเชื่อตามการโน้มนำของสังคม (ซึ่งสังคมก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับโลก) ที่รายรอบ แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสติปัญญา คิดต่อ คิดสร้าง และคิดแก้ไขได้ จึงเกิดการใช้เหตุผลหรือประสบการณ์ร่วมต่างๆ มาช่วยคิดวิเคราะห์ ก่อให้เกิดรูปแบบของความเชื่อในระดับที่ 2 ที่เรียกว่า “ความเชื่อถือ” ที่เรียกว่าเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล ซึ่งสิ่งที่มีเหตุผลย่อมอธิบาย ถ่ายทอด และเรียนรู้ต่อๆ กันไปได้ ที่เรียกกันว่า “ความรู้” (Knowledge)

ความเชื่อถือเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะทำให้ความเชื่อถือนั้นมีความมั่นคงมากขึ้นๆ กระทั่งกลายเป็นกฎเกณฑ์ ให้เชื่อ ให้ปฏิบัติไปด้วยกัน ที่เรียกว่า วิถี หรือจารีต ประเพณี และขนบธรรมเนียมต่างๆ อันเป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ความเชื่อถือนี้ถ้าในกระบวนการการแสวงหาความรู้จะเรียกว่า “การสร้างทฤษฎี” คือการทำให้ทุกๆ คนเชื่อได้เหมือนๆ กันนั่นเอง อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามพิสูจน์ทดลองต่างๆ เพื่อสร้างทฤษฎีที่เป็นสากล อย่างนี้เป็นต้น ส่วนในทางมานุษยวิทยาก็มีการศึกษาค้นพบว่า มนุษย์มีการพัฒนาความเชื่อ จากการเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจสิ่งเร้นลับที่เรียกว่า “ไสยศาสตร์” ในสังคมป่าเถื่อน ก็มาสู่การพยายามเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรมชาติ เกิดเป็นระบบความเชื่อในเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สุดก็คือ “ศาสนา” ที่ทำให้ระบบสังคมเกิดความผูกพันเข้มแข็งด้วยระบบความเชื่อถือในศาสนานั้นๆ

ความเชื่อในศาสนานี้คือ “ความศรัทธา” อันเป็นความเชื่อในระดับสูงสุด ในความหมายของนักปรัชญาทางศาสนาก็คือ “ความจริงอันสมบูรณ์” เพราะทุกสิ่งที่กล่าวถึงในศาสนาคือความจริงสูงสุด ผู้ใดที่จะเข้าสู่ความเป็นผู้นับถือศาสนาหรือเป็น “ศาสนิก” ของศาสนาใดแล้ว จะต้องเชื่อถืออย่างจริงใจ โดยไม่ปฏิเสธหรือโต้แย้งต่อศาสนานั้นๆ ไม่ว่าในแง่มุมใดๆ (ภาษาไทยว่า “ความเลื่อมใสศรัทธา”) ดังนั้นหลายๆ ศาสนาในยุคแรกๆ จึงเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองการปกครองสูงมาก เช่น ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม

นักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่านักปรัชญาการเมืองหรือผู้สร้างและอธิบายลัทธิแนวคิดทางการเมืองทั้งหลายๆ ไม่อยากจะไปตอแยหรือขัดแย้งกับแนวคิดทางศาสนา (ด้วยเหตุที่ศาสนิกและผู้นำของแต่ละศาสนาไม่ชอบใจที่จะให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ศาสนา) จึงคิดใช้คำว่า “อุดมคติ” หรือ “อุดมการณ์” แทนที่คำว่า “ความศรัทธา” ทั้งนี้เพราะนักปรัชญาเหล่านี้เห็นว่าแนวคิดทางการเมืองทั้งหลายเป็นเรื่องของความเชื่อที่สำคัญและสูงส่ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Ideal” และ “Ideology” ภาษาไทยใช้คำว่า “อุดมคติ” และ “อุดมการณ์” ซึ่งคำว่า “อุดม” มาจาก “อุตมะ” แปลว่า “สูงสุด” (ปถมะ หรือประถม คือแรกสูง ล่างสุด มัธยะ หรือมัธยม คืออยู่ตรงกลาง ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยจัดการศึกษาเป็น 3 ระดับ คือระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งหมายถึงการศึกษาระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูงสุด ตามลำดับ)

นักปรัชญาการเมืองเชื่อว่าสังคมมนุษย์ต้องปกครองด้วยความเชื่อ “อันสูงสุด” นั้น ดังผู้ปกครองที่สามารถจะต้องรู้จัก “คัดสรร” และ “ใช้” ความเชื่อทางการเมืองที่ “เหมาะสม” ทั้งในความเหมาะสมต่อตัวผู้อยู่ใต้ปกครอง และเหมาะสมต่อสถานการณ์หรือ “การขับเคลื่อน” ที่เรียกในความหมายที่เป็นกลางๆ ว่า การพัฒนาบ้าง การปฏิรูปบ้าง การสร้างชาติบ้าง ทั้งนี้ในทฤษฎีรัฐศาสตร์นั้นเชื่อว่า ไม่มีระบอบการปกครองใดที่ดีที่สุด จะมีก็แต่ระบอบการปกครองที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งก็ไม่ได้อยู่แค่ว่าเป็นระบอบอะไรเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่า “ผู้ใช้” คือผู้ปกครองของประเทศนั้นๆ จะนำไปใช้หรือประยุกต์ปรับแก้ให้เหมาะสมอย่างไรอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้หลายๆ ระบอบจึงดูเหมือนจะ “ล้มหายตายจาก” ไปแล้ว เช่น ระบอบราชาธิปไตย แต่บางระบอบก็มีพัฒนาการสลับซับซ้อนไปมากจนเกือบจะไม่เหลือเค้าเดิม เช่น ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบประชาธิปไตย ที่ก็มีการแตกกอแผ่ขยายกลายพันธุ์ไปมากมายเช่นเดียวกัน สาเหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นด้วยเหตุที่ลัทธิการเมืองเหล่านั้นยังไม่อาจสร้างความเชื่อถือในระดับที่เป็นความศรัทธาหรือ “อุดมการณ์” ร่วมกันนั้นได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนในชาติที่มีความคิดความเห็นต่อผู้ปกครองและระบอบนั้นๆ นั่นเอง

บางประเทศแม้ระบอบนั้นจะล้มเหลวซ้ำซาก แต่ก็ยังมีคน “ศรัทธา” ผู้นำในระบอบนั้นเสมอมา

Thailand Web Stat