จีนกินรวบผลไม้? ล้งกระเจิง-ชาวสวนระทม
"กลุ่มแรกที่จะตกงานก็คือพวกล้งอย่างผมต่อมาก็คือชาวสวนผลไม้ที่จะถูกกดราคาและกำหนดราคาจากพ่อค้าชาวจีน"
โดย...จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์, ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์
การเข้ามากว้านซื้อผลไม้ในประเทศไทยของนักธุรกิจจีนผ่านผู้รวบรวมผลไม้คนไทยหรือที่เรียกกันว่า “ล้ง” เพื่อส่งออกไปประเทศจีนคึกคักมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะสวนผลไม้ใน จ.จันทบุรี และตราด เกษตรกรชาวสวนและผู้ค้าผลไม้ทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างร่ำรวยขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ธุรกิจผลไม้ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่มากกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท
วุฒิพงษ์ รัตนมนต์ นายกสมาคมชาวสวนผลไม้ จ.ตราด และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด เปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดการค้าเสรี พ่อค้าชาวจีนได้เข้ามาซื้อผลไม้ไทยในจันทบุรีและตราดอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ ซึ่ง บริษัท ไทฮง เป็นพ่อค้าชาวจีนเจ้าแรกที่เข้ามา และเป็นรายใหญ่ที่สุดในขนะนั้น
“ผู้ค้าผลไม้ในภาคตะวันออกรู้จักไทฮงดี และพ่อค้ารับซื้อผลไม้ในภาคตะวันออกก็เป็นลูกค้าของไทฮงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลังจากจีนเปิดประเทศและมีการค้าเสรี ทำให้ผลไม้ของไทยส่งออกไปจีนอย่างมหาศาล และกลายเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด ซึ่งชาวจีนนิยมบริโภค ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทยส่วนใหญ่ยังต้องมีทริปมากินทุเรียนด้วย”
วุฒิพงษ์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ผลไม้ใน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง รวมทั้งลำไย ซึ่งเริ่มปลูกมากในจันทบุรี และแต่ละปีมีปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาจะตกต่ำทุกปี ทำให้ทุกรัฐบาลต้องแทรกแซงราคาทุกปี ปีไหนแก้ไม่ได้ก็ถูกประท้วงกดดัน ปิดถนน หรือเทผลไม้ทิ้งเพื่อประท้วงจนเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก และเป็นเรื่องปวดหัวของทุกรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ต่อมามีภาคเอกชนในตราดจำนวนหนึ่งออกไปโรดโชว์สินค้าในประเทศจีนทุกปี ในหลายเมือง ทั้งคุนหมิง กว่างโจว ทำให้มีคำสั่งซื้อจำนวนมากขึ้นในปีต่อๆ มา โดยจีนมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพเท่านั้น
“หลังจากทำตลาดผลไม้ในจีนได้ไม่นาน ทำให้พ่อค้าส่งออกของไทยได้รับคำสั่งซื้อจากพ่อค้าชาวจีนโดยตรงและโดยอ้อม แต่ยังไม่ได้ตื่นตัวมากนัก เนื่องจากผลไม้ของเกษตรกรยังไม่มีคุณภาพมากนัก แต่ระยะหลังเริ่มผลิตได้คุณภาพเพื่อส่งออกมากขึ้น
“จากนั้นพ่อค้าชาวจีนเริ่มเดินทางมาสั่งซื้อผลไม้จาก 2 จังหวัดจำนวนมากขึ้น เพราะพ่อค้าจีนเหล่านี้มีเงินทุนมาก แต่ไม่มีความสามารถในการซื้อโดยตรง จึงทำสัญญาหรือมอบคำสั่งซื้อให้กับพ่อค้าคนกลางที่เป็นคนไทยรวบรวมผลผลิตให้ตามจำนวนที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของ ‘ล้ง’”
วุฒิพงษ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ราคาผลไม้มีราคาสูงและไม่ตกต่ำอีกประการก็คือ พ่อค้าชาวจีนจำนวนมากที่ทุ่มเงินซื้อทุเรียนจาก 3 จังหวัดในภาคตะวันออกโดยผ่านล้งคนไทย อีกส่วนหนึ่งที่เดินทางมาซื้อโดยตรง และทำสัญญาซื้อขายกับทั้งเกษตรกรโดยตรงและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ซึ่งในตราดมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท
“พ่อค้ารับซื้อที่เป็นชาวจีนไม่ได้มีการฮั้วราคากัน แต่ทำในลักษณะต่างคนต่างซื้อและบางครั้งก็แย่งกัน ทำให้ราคาทุเรียนไม่ตกต่ำ และยังมีความต้องการสูง ซึ่งวันนี้ทุเรียนของตราดน่าจะเกิน 50% ถูกส่งไปจีน และพ่อค้าชาวจีนก็ทำในลักษณะนี้ในจันทบุรีและระยองเช่นเดียวกัน
“อีกส่วนหนึ่งก็คือ สหกรณ์การเกษตรแปรรูปและส่งออกตราดที่ผมเป็นประธานอยู่ได้รับซื้อผลทุเรียนทุกเกรดมาแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็งและรับซื้อในทุกขนาดในราคาถัวเฉลี่ย 50 บาท/กก. ซึ่งรับซื้อ 30-40 ตัน/วัน เดือนละ 1,000 ตัน ทำให้ตลาดทุเรียนยังมีความต้องการตลอดเวลา
“อีกทั้งทางสหกรณ์ได้ทำสัญญาขายทุเรียนแช่แข็งให้พ่อค้าชาวจีนมีประมาณ 2,000 ตัน (เนื้อ)/เดือน หรือคิดเป็นผลทุเรียนประมาณ 6000-7,000 ตัน จึงทำให้ทุเรียนยังเป็นที่ต้องการอยู่ ซึ่งเสมือนทำหน้าที่ล้งเช่นกัน”
สำหรับที่ จ.จันทบุรี เป็นเป้าหมายของพ่อค้าชาวจีนในการนำเข้าทุเรียนจำนวนมาก เพราะมีการปลูกทุเรียนมากและมีคุณภาพ จึงมีล้งขึ้นจำนวนมาก ยงยุทธ เจียงแจ่มจิตร เจ้าของล้งนาคินทร์ ตลาดเนินสูง อ.เมือง จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นล้งรายใหญ่ของจันทบุรี ได้อธิบายว่า ไม่สามารถบอกจำนวนล้งที่รวบรวมผลไม้ส่งให้พ่อค้าชาวจีนได้ว่ามีจำนวนเท่าไรแน่ แต่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“คิดว่าวันนี้น่าจะเกิน 100 ล้ง ยังไม่รวมของตราดและระยอง ซึ่งแต่ละล้งจะมีเงินทุนหมุนเวียนในตลาดผลไม้แต่ละแห่งหลายสิบล้านบาท/ล้ง โดยพ่อค้าชาวจีนจะจ้างชาวไทยเป็นผู้รวบรวมผลไม้ให้ตามความต้องการ ซึ่งมีการกำหนดคุณภาพ ขนาด และราคาอย่างชัดเจน แต่จำนวนรับไม่อั้น
“ชาวจีนมาซื้อผลไม้โดยตรงไม่ได้ เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่รู้ขั้นตอน ไม่รู้จักกับชาวสวน รวมทั้งมีพ่อค้ารายย่อยวิ่งเข้าไปซื้อผลไม้ในสวนโดยตรง จึงต้องซื้อผ่านคนไทย ซึ่งผู้ที่ทำล้งจะต้องคัดคุณภาพ ต่อรองราคา การชุบน้ำยา และการแพ็กเกจแล้วส่งขึ้นรถตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งคนรวบรวมผลผลิตก็จะได้ส่วนต่างราคา การรับจ้างแพ็ก การบริหารจัดการเฉลี่ย 30 บาท/กก. อันนี้เป็นส่วนน้อยนะ
“การมีพ่อค้าชาวจีนมาสั่งทุเรียน มังคุด เพื่อนำเข้าประเทศและให้ล้งเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่าง พ่อค้าชาวจีนจะทำหน้าที่เพียงส่งเงินมาให้และรับสินค้านำเข้าจีนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เกือบเป็นเงินสดและโอนเงินในวันรุ่งขึ้นทันที ทำให้เกษตรกรได้เงินเร็ว และมีเงินหมุนเวียนเร็ว
“แต่ละวันจะมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในปี 2558 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ในปี 2559 น่าจะมีมากกว่า เพราะราคาผลไม้สูงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะนี้แต่ละล้งจะมีการบรรจุ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 20-25 ตัน ขึ้นอยู่กับชนิด อย่างมังคุด และลำไย แต่ละล้งจะสามารถส่งออกไปได้ 18-30 ตู้/เดือน เป็นอย่างน้อย”
ยงยุทธ ยังสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากชาวจีนมารับซื้อผลไม้ผ่านล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกวันนี้ผลไม้ของจังหวัดภาคตะวันออก คือ ทุเรียน มังคุด และลำไย เป็นที่ต้องการของชาวจีนมากขึ้น และส่งผลให้ราคาผลไม้สูงต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
“วันนี้การประท้วงเกือบหมดไป ชาวสวนสามารถขายผลไม้ได้ราคาสูง แต่พ่อค้าชาวจีนไม่ได้ซื้อแบบฮั้วตลาด ต่างคนต่างซื้อ ทำให้ราคาไม่ตก วันนี้ตลาดยังเป็นของคนไทยอยู่ แต่ในอนาคต หรืออีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดปัญหาขึ้นแน่ ทั้งล้งและเกษตรกร หากพ่อค้าชาวจีนรวมตัวซื้อผลไม้ หรือหยุดซื้อผลไม้จะส่งผลกระทบทันที
“วันนี้พ่อค้าชาวจีนพยายามจะเรียนรู้กระบวนการจัดการของล้งว่าเป็นอย่างไร เขาเริ่มเข้าใจและต้องการเข้ามาเป็นผู้ควบคุมการทำงานเอง แทนที่ล้งคนไทย หากพวกเขาสามารถทำได้ และจ้างแรงงานทั้งผู้คัด ผู้ซื้อ และผู้ต่อรองราคาได้ ทุกอย่างจะเป็นของพ่อค้าชาวจีนทั้งหมด
“กลุ่มแรกที่จะตกงานก็คือพวกล้งอย่างผมต่อมาก็คือชาวสวนผลไม้ที่จะถูกกดราคาและกำหนดราคาจากพ่อค้าชาวจีน ซึ่งหากไม่มีการกำหนดหรือมีหลักเกณฑ์จากรัฐบาล พ่อค้าชาวจีนจะรวบตลาดผลไม้ของภาคตะวันออกได้ทั้งหมด ทุกวันนี้พ่อค้าชาวจีนเข้ามาพร้อมเงินและวีซ่าท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ธุรกิจนี้ไม่ควรให้คนต่างด้าวมาเป็นผู้ควบคุม”
อย่างไรก็ตาม หากพ่อค้าไทยจะรวบรวมเพื่อส่งออกผลไม้ไปจีนโดยตรงกลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ไม่สามารถสื่อสารได้เข้าใจ หรือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าไทยและพ่อค้าจีนที่จะต้องอาศัยความสนิทสนม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และยังต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก หากไม่ใหญ่จริงโอกาสที่จะเข้าไปค้าขายกับต่างประเทศลำบาก และมีความเสี่ยงสูง หากจะทำจริงคงต้องมีบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน
สถานการณ์การค้าผลไม้ผ่านล้งที่แม้จะสร้างรายได้อย่างมหาศาลหลายพันล้านต่อปี แต่ปัญหาที่อาจตามมาก็คือ หากจีนฮั้วราคา หยุดการนำเข้า หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม ตลาดผลไม้ในภาคตะวันออกที่กำลังไปได้ดีก็ต้องปิดฉากลง และปัญหาของเกษตรกรชาวสวนอาจวนกลับมาให้รัฐบาลแก้อีกในวันหน้า
ยุค "ทุเรียน-มังคุด" เฟื่องฟู
ชัยวัฒน์ ปริ่มผล เจ้าของสวนอำไพ ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด สวนผลไม้ชั้นนำของตราดที่ผลิตและส่งออกต่างประเทศ ระบุว่า ตลาดผลไม้ของตราดและในจังหวัดภาคตะวันออก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสามารถส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศได้ปีละหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะประเทศจีนที่รับซื้อจำนวนไม่จำกัด โดยเฉพาะทุเรียน และมังคุด และพ่อค้าจีนได้เข้ามาซื้อผลไม้ในภาคตะวันออกมาหลายปีแล้ว
“ปัจจุบันผลไม้ของตราดมีพ่อค้าชาวจีนลงมาตั้งล้งรับซื้อโดยตรงและโดยอ้อม ด้วยการให้ทุนไปรับซื้อเพื่อส่งเข้าจีนอีกครั้ง ซึ่งมีก้อนเงินส่งมาให้ทำให้มีเงินหมุนเวียนในตลาดผลไม้ของตราดจำนวนมากกว่า 2,000 ล้านบาทในแต่ละปี
“โดยเฉพาะทุเรียนมีความต้องการสูง ทำให้ราคาผลไม้ของตราดราคาไม่ตกต่ำลงเหมือนทุกปี ทั้งที่มีความต้องการสูงและผลผลิตมีน้อย นอกจากนี้ทางสหกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของตราดที่รับซื้อทุเรียนทุกขนาด เพื่อแกะผลผลิตมาแช่แข็งและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงบางส่วนแปรรูปขายในประเทศ ทำให้ตลาดทุเรียนยังมีความต้องการต่อเนื่อง”
พ่อค้าชาวจีนรายหนึ่ง ซึ่งเข้ามาทำสัญญาซื้อขายทุเรียนจากสหกรณ์การเกษตรเพื่อแปรรูปและส่งออก จ.ตราด มูลค่าถึง 200 ล้านบาท เปิดเผยว่า การมาทำสัญญาซื้อทุเรียนในตราดกับสหกรณ์แปรรูปและส่งออก ตราดมีทุเรียนสำหรับการส่งออกจำนวนมาก แต่ก็ต้องคัดคุณภาพที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมามีการซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลางแล้วได้ทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม พ่อค้ารายนี้ กล่าวว่า หากไม่ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพก็จะไปซื้อทุเรียนในเวียดนามด้วย เพราะทุเรียนที่เวียดนามมีคุณภาพและรสชาติดี มีการตัดทุเรียนขนาดแก่พอดี แต่อย่างไรก็ตามทุเรียนในเวียดนามมีปริมาณน้อย จึงต้องมาซื้อที่ตราดผ่านทางสหกรณ์การเกษตรฯ ที่ช่วยทำหน้าที่คัดคุณภาพได้ดีกว่า
พ่อค้าชาวจีน ย้ำว่า ชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้ของไทยโดยเฉพาะทุเรียนมาก รวมทั้งมังคุดและลำไย สำหรับเส้นทางการส่งออกของผลไม้ไทยสู่ประเทศจีนนั้น สามารถเดินทางได้ 2 ช่องทาง คือ เส้นทางบกจะขนส่งผ่านไปยังจุดผ่านแดนถาวรในหลายจุดทั้งมุกดาหารและนครพนม เพื่อเข้าไปยังเวียดนามตอนเหนือสู่ฮานอย และเข้าชายแดนจีนตอนใต้ทางสู่ซูโจว หนานหนิง และกว่างโจว และเข้าไปทางเมืองคุนหมิง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของผลไม้ไทย การเดินทางโดยรถยนต์จะใช้เวลา 3-4 วันเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาท/ตู้คอนเทนเนอร์
อีกเส้นทางจะลงเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เดินทางผ่านประเทศกัมพูชา เวียดนาม และเข้าจีนที่ท่าเรือกว่างโจว ใช้ระยะเวลาเดินทาง 5-7 วัน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8 หมื่นบาท/ตู้คอนเทนเนอร์ บริษัทที่ส่งออกรายใหญ่ที่นำเข้าผลไม้ไปจีน ประกอบด้วย บริษัท เอเวอร์กรีน บริษัท เมอร์ค บริษัท โอโอซีแอล และบริษัท ไทฮง ซึ่งเป็นรายใหญ่
"ล้งจีน-ค้าข้ามแดน"รัฐแก้ไม่ตก ศก.ฐานรากยับเยิน
ความนิยมผลไม้จากประเทศไทยของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด และลำไย สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท ส่งผลให้นักธุรกิจจีนที่เข้ามารวบรวมผลไม้ในประเทศไทยเพื่อส่งออก หรือ “ล้งจีน” เข้ามากว้านซื้อผลไม้ถึงสวนเกษตรกรไทย ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่าล้งจีนจะเข้ามาแย่งอาชีพล้งไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าล้งจีนที่เข้ามารับซื้อผลไม้จากสวนในประเทศไทย จะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ว่าสินค้าที่ล้งจีนซื้อไปจะต้องส่งออกไปตลาดต่างประเทศเท่านั้น แต่หลายกรณีจะพบว่าล้งจีนคัดผลไม้ที่ตกเกรดและนำมาขายในประเทศ ซึ่งถือว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ห้ามต่างชาติจะทำธุรกิจค้าปลีกในไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเท่านั้น
วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า ในที่ผ่านมากรมได้รับการร้องเรียนจากพ่อค้าผลไม้ไทยเพื่อการส่งออก ว่า ไม่สามารถซื้อผลไม้ไทยเพื่อส่งออกไปต่างประเทศได้มากนัก โดยเฉพาะทุเรียนที่กำลังออกผลผลิตสู่ตลาด เนื่องจากผู้รวบรวมสินค้าผลไม้หรือล้งจีนได้เข้าไปทำสัญญาซื้อขายทุเรียนแบบเหมาสวนจากเกษตรกรล่วงหน้า โดยให้ราคาที่ดีกว่าพร้อมทั้งให้เงินมัดจำเพื่อให้เกษตรกรนำไปเป็นค่าดูแลและบริหารจัดการต่างๆ ไว้ล่วงหน้า ต่างพ่อค้าไทยที่ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มากจึงไม่สามารถไปแข่งขันได้ โดยเฉพาะในปีนี้ผลผลิตทุเรียนเสียหายมากจากสถานการณ์ภัยแล้ง
“แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องล้งจีนนั้น กรมได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจสอบ กรณีล้งจีนมีการใช้นอมินีคนไทยในการทำธุรกิจอำพรางเข้ามาทำเป็นผู้รวบรวมสินค้าผลไม้จากไทยเพื่อส่งออกไปจีนหรือไม่ หรือลักลอบการนำสินค้าผลไม้ที่ตกเกรดส่วนที่เหลือจากการส่งออกนำกลับมาขายปลีกในไทย ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายประกอบกธุรกิจคนต่างด้าวและยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในท้องถิ่นด้วย” วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว
วิบูลย์ลักษณ์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้กรมได้ส่งบัญชีรายชื่อล้งจากไทยเพื่อส่งออกไปจีน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการคนจีนหรือร่วมทุนกับคนไทย 1,094 รายทั่วประเทศ แบ่งเป็น ผู้ค้าลำไย 473 ราย ทุเรียน 556 ราย และมังคุด 65 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี ตราด ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้น เส้นทางการเงินว่ามีพฤติกรรมอำพรางให้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) และมีพฤติกรรมทำธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะต่างชาติไม่สามารถทำธุรกิจขายปลีกผลไม้ในประเทศได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
“การส่งข้อมูลให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบโครงสร้างผู้ประกอบการล้งนั้น เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์รับซื้อผลไม้ในประเทศไทยของล้งต่างชาติ แม้ว่าในระยะสั้นเกษตรกรไทยได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ระยะยาวอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หากพ่อค้าผลไม้ไทยต้องเลิกกิจการไป จึงมอบหมายให้กรมหาแนวทางแก้ปัญหาโดยด่วน” วิบูลย์ลักษณ์ ระบุ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการทำธุรกิจล้งแบบบุคคลธรรมยังไม่มีการเสียภาษี ต่างจากนิติบุคคลไทยที่ต้องเสียภาษี ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้มีการเสียภาษีเท่ากัน รวมทั้งจะขอความร่วมมือให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยพ่อค้าไทย รวมถึงการเข้าไปตรวจสอบสัญญาระหว่างล้งจีนกับชาวสวนอย่างใกล้ชิด และร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีเครือข่ายในตลาดจีนเข้าไปเชื่อมโยงกับพ่อค้าคนไทยในการนำทุเรียนส่งออกไปจีน เป็นต้น
“สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรับซื้อผลไม้ของล้งจีนได้เปรียบล้งคนไทย เพราะมีต้นทุนทำธุรกิจต่ำกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีการส่งออกไปยังจีน เพราะบางรายเข้ามาแบบบุคคลธรรมดาแอบเข้ามาทำธุรกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีเงินได้ตามกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างล้งจีนและล้งไทย กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาแนวทางจัดการเรื่องนี้ภายในเดือน พ.ค.นี้” วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว
วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวว่า นอกจากปัญหาล้งจีนที่เข้ามารับซื้อผลไม้ในไทยแล้ว ล่าสุดกรมได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ ทั้งกรมวิชาการเกษตร องค์การอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมศุลกากร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหากรณีมีคนต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนและเวียดนามนำแอปเปิ้ล สาลี่ องุ่น ผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ เข้ามาขายในตลาดค้าส่งผัก ผลไม้ ในไทย เช่น ตลาดไท ตลาดไอยรา ย่านรังสิต ตลาด 4 มุมเมือง และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยเป็นอย่างมาก แม้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ก็ตาม
“การนำเข้าผักและผลไม้จากจีนจำนวนมากๆ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยและจีน ที่กำหนดให้สินค้าเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในไทย เพียงแต่เมื่อถึงด่านตรวจก่อนเข้าไทยต้องผ่านการตรวจสอบจาก 3 หน่วยงานหลัก คือ กรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตร ที่จะต้องตรวจสอบเรื่องมาตรฐานสุขอนามัย ด้วยการสุ่มตัวอย่างและ อย. จะตรวจสอบสารตกค้างและความปลอดภัยอาหาร โดยที่ผ่านมากระทรวงได้ขอความร่วมมือจากทั้ง 3 หน่วยงาน ให้ตรวจเข้มในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเพียงสินค้าหอมแดงและส้มเท่านั้น ที่ผู้นำเข้าจะต้องขึ้นทะเบียนและแจงรายละเอียดว่าสินค้านำเข้ามาและส่งไปขายให้ใคร หากเข้ามาทำธุรกิจไซโลหรือห้องเย็นต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน และจะต้องขอวีซ่าเข้ามาแบบถูกต้อง รวมทั้งเมื่อมีรายได้ต้องเสียภาษีด้วย” วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว
จึงเท่ากับว่าวันนี้ธุรกิจของผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่มาก หากรัฐบาลยังแก้ไม่ตก ก็มีหวังเศรษฐกิจฐานรากพังยับเพราะธุรกิจต่างชาติ