posttoday

โซเชียลมีเดีย สื่อไร้สายมหันตภัยวัยรุ่น

10 พฤษภาคม 2559

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย” ถือว่ามีอิทธิพลมากในชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ทั้งใช้เพื่อศึกษาข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวในสังคม แต่ในโลกของสื่อชนิดนี้ก็มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย” ถือว่ามีอิทธิพลมากในชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ทั้งใช้เพื่อศึกษาข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวในสังคม แต่ในโลกของสื่อชนิดนี้ก็มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ซึ่งบางครั้งถูกนำเสนอออกไปโดยไม่ผ่านการคัดกรอง ดังที่เห็นว่าเมื่อมีเหตุอะไรสื่อชนิดนี้จะแพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบตามมาอย่างที่เห็นในหน้าข่าว

จึงทำให้น่ากังวลว่าสังคมวัยรุ่นไทยปัจจุบันเมื่อใช้สื่อชนิดนี้แล้วจะสามารถแยกแยะได้หรือไม่ นับเป็นเรื่องน่าห่วงและสังคมควรให้ความสนใจหาทางป้องกัน มิฉะนั้นอาจเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต

ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมของวัยรุ่นไทยแสดงออกและพยายามเผยแพร่มากขึ้น มาจากการขยายตัวของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีมากและเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นหญิงก็มีความคึกคะนองมาก และใช้ความรุนแรงไม่ต่างจากวัยรุ่นชาย ซึ่งมองว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคม ที่ทำให้คนกล้าเปิดเผยการกระทำมากขึ้น

ภูเบศร์ ชี้ให้เห็นว่า กรอบทางวัฒนธรรมของสังคมไทยปัจจุบัน มีความหละหลวมมากขึ้นไม่เหมือนเมื่ออดีตที่กรอบตรงนี้จะคอยควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมอยู่ แต่เมื่อการแสดงออกสมัยนี้มีความเป็นอิสระ ทำให้ความรู้สึกอดกลั้นที่อยู่ภายในถูกเปิดเผยออกมากลายเป็นความรุนแรง และนำมาระบายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในสังคม ที่เยาวชนมักมีการแสดงความคิดเห็นอย่างสุดโต่ง สุดขั้วออกมามากขึ้น ประกอบกับรู้สึกว่ามีผู้สนับสนุนที่มาจากผู้ชม ยอดไลค์ เหตุผลนี้จึงยิ่งทำให้ผู้ที่แสดงออกทางสื่อประเภทนี้ยิ่งโพสต์ออกมามากขึ้น

ภูเบศร์ บอกอีกว่า การแก้ปัญหาในขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีหลักการใดมาติดตามพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียได้ทัน ไม่ว่าจะเอา กระทรวง กรม ไหนมาควบคุมก็ทำได้ไม่ทัน เพราะสื่อวันนี้มีมากกว่าองค์กรที่มาควบคุม แต่ส่วนตัวก็ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง เพราะขณะนี้สังคมกำลังเคลื่อนไปสู่ความมีเสรีภาพ

“แต่การลดปัญหา จะต้องทำให้คนในสังคมมีวิจารณญาณ มีความยั้งคิด และช่วยกันติดตามตรวจสอบ ถึงแม้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากแต่ก็พอสามารถแก้ไขได้” ภูเบศร์ ย้ำ

อีกมุมจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต ชี้ว่า วัยรุ่นมีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่เป็นความเสี่ยง ประกอบกับปัจจุบันรูปแบบในสังคมที่เปลี่ยนไป โซเชียลมีเดียเข้ามีบทบาทมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลมาจากสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมวัยรุ่นเปลี่ยนไป ทั้งการข่มขู่ในโลกออนไลน์ รวมถึงการใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้มาจากสภาพปัจจุบันที่เด็กใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวน้อยลง รวมกลุ่มกันมากขึ้น รับรู้สิ่งแวดล้อมนอกครอบครัวเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อวิธีคิด การใช้ชีวิต ภาวะทางอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจ จึงทำให้น่าเป็นห่วง

สำหรับการแก้ปัญหาการใช้สื่อของวัยรุ่นที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะว่า โรงเรียน ครอบครัว สังคมควรอธิบายให้เยาวชนเข้าใจถึงการใช้สื่อให้อย่างถูกต้องว่าอะไรดี และจะต้องทำให้รับรู้ถึงผลที่จะเกิด และภาครัฐควรหาพื้นที่เพื่อให้เยาวชนได้ออกมาทำกิจกรรมให้มากขึ้น ไม่ควรให้เยาวชนอยู่แต่ในสังคมโซเชียลมีเดียอย่างเดียว

“การแก้ปัญหาความรุนแรงในเยาวชน ถ้าแก้ไม่ได้ปัญหาก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันทำ เฝ้าระวัง ใส่ใจ และลงมาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง” พญ.พรรณพิมล กล่าว

เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.แมน เม่นแย้ม รองผู้กำกับ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) บอกว่า พฤติกรรมเด็กไทยปัจจุบันแนวโน้มใช้ความรุนแรง ก้าวร้าวมากขึ้น เพราะปัจจุบันพบการกระทำความผิดของกลุ่มเยาวชนจากเดิมมีเกณฑ์ถูกดำเนินคดีช่วงอายุ 16-18 ปี แต่ในปัจจุบันอยู่ช่วงอายุ 12 ปี โดยไปเกี่ยวข้องทั้งยาเสพติด ความรุนแรง และข่มขืน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง

“ปัจจัยหนึ่งมาจากสื่อออนไลน์ ที่ทำให้เยาวชนสามารถระบายออกทางอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย โดยขาดการวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และไม่มีผู้ใดตักเตือน จึงทำให้ปัจจุบันมักจะเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ของเยาวชนแสดงออกมามากขึ้นและพร้อมที่จะขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วเพื่อนำไปสู่การกระทำในลักษณะอื่นที่สุ่มเสี่ยง” พ.ต.ท.แมน ฉายภาพปัญหา

รอง ผกก.ดส. แนะนำว่า การแก้ปัญหา สถาบันครอบครัวต้องมาดูแลควบคุมพฤติกรรมบุตรหลานให้มากขึ้น ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยสื่อเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเด็กสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ก็อาจทำให้ยิ่งยากเกินกว่าจะควบคุม อีกทั้งถ้าหวังใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเดียวน่าจะไม่มีประโยชน์ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรเริ่มตั้งแต่ครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น