posttoday

เรื่องที่ดูจะซับซ้อนของสิทธิบัตรSIRI

18 พฤษภาคม 2559

โดย...พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์

โดย...พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์

ไม่กี่วันมานี้ดูจะเป็นที่ฮือฮาเมื่อมีข่าวว่าคนไทยชนะคดี Apple ละเมิดสิทธิบัตร “SIRI” โดยมีรายละเอียดของข่าวว่า บริษัท Dynamic Advance ได้ทำการฟ้อง Apple ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งกลไกที่สำคัญหนึ่งในนั้น คือ โปรแกรมที่คิดโดยอาจารย์ของไทยที่ไปศึกษาระดับปริญญาเอกในสหรัฐ อาจารย์คนดังกล่าวคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง ซึ่งได้ไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่นครนิวยอร์ก โดยมี Professor Cheng Hsu เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในขณะนั้น และได้มีการจดสิทธิบัตร “SIRI” นี้ที่สหรัฐ โดยได้รับสิทธิบัตรเมื่อปี ค.ศ. 2007

สำหรับสิทธิบัตรที่เป็นที่มาของโปรแกรม “SIRI” นี้ เป็นระบบที่สามารถโต้ตอบกับผู้ถามได้โดยไม่ต้องพิมพ์เป็นตัวอักษรลงไป แต่ใช้เพียงคำพูดธรรมดาๆ โดยโปรแกรมสามารถใช้วิธีการที่ซับซ้อนค้นหาข้อมูลได้ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่าว่า “Natural Language Interface Using Constrained Intermediate Dictionary of Results” อย่างไรก็ตามต่อมาทาง RPI ได้ อนุญาต (License) ให้บริษัท Dynamic Advance ไปแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive license ) และเมื่อ Apple ได้นำโปรแกรมนี้ไปใช้ในโทรศัพท์มือถือ (iPhone) ในปี ค.ศ. 2012 และยังได้นำมาใช้ใน iDevice รุ่นใหม่ๆ อีกด้วย บริษัทจึงได้ดำเนินการฟ้อง Apple ข้อหาละเมิดสิทธิบัตรที่บริษัทเป็นเจ้าของ ซึ่งต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 2013 RPI ได้เข้าร่วมฟ้องด้วย และคดีนี้ดำเนินมาประมาณ 4 ปีแล้ว นับจากที่ Dynamic Advance เริ่มฟ้อง Apple คาดว่าจะมีการตัดสินประมาณกลางปีนี้ (ค.ศ. 2016 / พ.ศ. 2559) Apple จึงได้ขอเจรจายุติข้อพิพาท โดยจะยอมจ่ายค่าสิทธิบัตรให้บริษัท Dynamic Advance เป็นเงินจำนวนประมาณ 24.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจ่ายก่อน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัท Dynamic Advance จะต้องไม่ฟ้อง Apple เป็นเวลา 3 ปีที่ใช้โปรแกรมนี้อยู่ และหลังจากนั้นจะจ่ายอีกประมาณ 19.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ทราบว่า RPI ยังไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เรื่องก็คงต้องไปถึง อนุญาโตตุลาการ

ประเด็นที่ได้จากเรื่องนี้ คือถ้าเป็นข่าวในต่างประเทศจะพูดถึงบริษัทที่ได้ License สิทธิบัตรไป และมหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่ได้ประโยชน์จากการฟ้องร้องนี้เท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าการศึกษาทำปริญญาที่มหาวิทยาลัยนั้นเขาถือว่าได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ห้องทดลอง ซึ่งเป็นของมหาวิทยาลัย มีการลงทุนด้วยเงินของมหาวิทยาลัย ยิ่งถ้าเป็นการรับทุนไปเรียนแล้ว งานที่ผลิตออกมาต้องเป็นของมหาวิทยาลัย ในขณะที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการคุยกันว่า หากนิสิต หรือนักศึกษา ปริญญาโท หรือปริญญาเอก มีการผลิตผลงานโดยใช้ทุนของตนเอง (ไม่ได้รับทุน) ผลงานที่ผลิตได้ควรเป็นของผู้คิด นอกจากมหาวิทยาลัยจะได้กำหนดให้มีการเซ็นสัญญาไว้ก่อนว่าผลงานที่เกิดขึ้นต้องตกเป็นของมหาวิทยาลัย ซึ่งในกรณีนี้ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศหลายแห่งก็ใช้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสงสัยอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่ Apple แพ้คดีเช่นเดียวกันนี้ในจีน เป็นคดีที่จีนได้ตัดสินไปแล้ว เนื่องจาก Apple ได้ร้องต่อคณะกรรมการทบทวนสิทธิบัตร ภายใต้ The State
Intellectual Office เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า บริษัท Zhizhen Network Technology Co. Ltd. ละเมิดสิทธิบัตร “SIRI” ของ Apple ซึ่งกรรมการได้พิจารณาแล้วไม่รับคำร้อง Apple ได้ไปฟ้องต่อศาลชั้นต้นของจีน และเพิ่งถูกยกฟ้องไป ทั้งนี้เนื่องจาก Zhizhen ได้วิจัย และประดิษฐ์ “Voice Recognition Technology” Xiao iRobot ขึ้นมา และยื่นขอสิทธิบัตรตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 และได้รับสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 2006 แถม Zhizhen ยังได้ยื่นฟ้อง Apple ว่าละเมิดสิทธิบัตร “SIRI” ของตนในปี ค.ศ. 2012 ด้วย ขณะที่ Apple บอกว่า Apple คิด “SIRI” ได้ในปี ค.ศ. 2007 โดย SIRI Inc. ซึ่ง Apple ไปควบรวมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 และยืนยันว่าไม่ทราบว่า Zhizhen ได้ยื่นจดและได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ในจีน

ในสหรัฐและจีนนั้น สามารถจดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ได้ถ้าหากมีกลไกที่มีความซับซ้อน ซึ่งในกรณีของโปรแกรมที่มีการทำตามคำสั่งและโต้ตอบ เช่น มีการสั่งให้ทำงาน จดวันนัดหมาย เปิด-ปิดไฟ ค้นหา
คำศัพท์ ตำแหน่งที่อยู่ ฯลฯ โดยการใช้คำพูดอย่างธรรมดาๆ ต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อนค้นหาข้อมูล จึงจดสิทธิบัตรได้

กรณีของบริษัท Zhizhen ก็เป็นโปรแกรมที่เรียกว่า Speech-recognition มีการทำตามคำสั่งเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนของ “SIRI” ก็เพราะมีผลของการคิดค้นคล้ายคลึงกัน เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. ที่ใกล้เคียงกันคือ ช่วงปี ค.ศ. 2004-2007 อย่างไรก็ดีซอฟต์แวร์ที่เขียนอาจแตกต่างกัน วิธีการสั่งงานก็อาจต่างกันออกไป เพียงแต่ให้ผลคล้ายคลึงกัน ก็เลยเรียกว่า “SIRI” เหมือนกัน แต่ก็อีกนั่นแหละ เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เมื่อ Apple เพิ่งแพ้คดีในจีนก็หันมาประนีประนอมกับบริษัท Dynamic Advance ในสหรัฐ และถึงแม้จะประกาศที่จะสู้คดีต่อไปในจีน ก็แสดงท่าทีที่พร้อมจะเจรจากับ Zhizhen ด้วย ก็คงต้องดูต่อไป ว่าจีนจะตามมาฟ้องบริษัท Dynamic Advance  ในสหรัฐต่อไปในอนาคตหรือไม่