posttoday

"แย่งชิงผลประโยชน์-เล่นพวกพ้อง-สองมาตรฐาน" ตีแผ่ด้านมืดวงการอุดมศึกษาไทย

24 พฤษภาคม 2559

ชำแหละโครงสร้างอำนาจในรั้วอุดมศึกษาของรัฐ ผ่านมุมมองของ "รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับด็อกเตอร์ 3 คน สร้างความสะเทือนใจให้แก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง

เบื้องหลังปมสังหารถูกพุ่งเป้าไปที่ความขัดแย้งในหลักสูตรพิเศษระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอันเต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล การกลั่นแกล้ง ดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่การเปิดโปงระบบการบริหารในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐครั้งใหญ่

ความขัดแย้งในรั้วอุดมศึกษา

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) วิเคราะห์ว่า การเสียชีวิตของด็อกเตอร์ทั้ง 3 คน ซึ่งสังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัว แต่ในฐานะผู้ทำงานช่วยเหลือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมานานกว่า 10 ปี เขาเชื่อว่า ต้นตอแท้จริงมาจากระบบการบริหารจัดการที่ขาดหลักธรรมาภิบาล

"ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวคงไปเคลียร์กันข้างนอก ไม่ก็ฟ้องร้องดำเนินคดี พูดง่ายๆไปเล่นกันเอง แต่ลักษณะที่เกิดขึ้นนี้ เกิดในมหาวิทยาลัย ในห้องสอบวิทยานิพนธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือเพื่อนร่วมงานในสาขาเดียวกัน มันจึงหนีไม่พ้นเรื่องของการบริหารจัดการในองค์กร"

ที่ผ่านมา ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มักเกิดจากความอิจฉาริษยา ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ เริ่มตั้งแต่กลั่นแกล้งกันด้วยการส่งอีเมล เขียนบัตรสนเท่ใส่ร้ายป้ายสี จ้างคนไปทำลายทรัพย์สินส่วนตัว ขูดรถ ทุบกระจก หนักเข้าก็ลงไม้ลงมือชกต่อย รุนแรงสุดถึงขั้นจ้างวานฆ่าก็เคยมีมาแล้ว เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย และไม่เคยเป็นข่าว

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งมาจากการแก่งแย่งชิงดี แย่งชิงอำนาจ หมายถึง อำนาจการบริหารจัดการและสั่งการ แย่งชิงผลประโยชน์ก็คือ เงิน ถ้าเป็นผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาลก็จะเกลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ให้ทุกคนพึงพอใจ ไม่รู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ถ้าผู้บริหารที่ขาดหลักธรรมาภิบาลก็จะรวมศูนย์อยู่ฝ่ายเดียว เล่นพรรคเล่นพวก พอเกิดปัญหา ก็นิ่งเฉย ปิดข่าว

วิธีที่ผู้บริหารนิยมปัดปัญหาไปให้พ้นตัวคือ ต้องทำเรื่องให้เงียบที่สุด สถาบันการศึกษาหลายแห่งเป็นหน่วยงานของรัฐ การปกครองในระบบราชการมักมีเรื่องวินัยเข้ามากดดัน โดยใช้วิธีลงโทษทางวินัยมาปิดปากไม่ให้พูด สุดท้ายเมื่อไม่มีใครกล้า ทุกอย่างจะเงียบไปเอง อาจารย์บางท่านร้องเรียนไปยังสภามหาวิทยาลัยแล้วก็เงียบ เลยไปร้องเรียนข้างนอกจนกลายเป็นข่าว ผู้บริหารก็เล่นงานด้วยข้อหาทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง"

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ เมื่อมีการร้องเรียนจากทั้งสองฝ่าย ผู้บริหารที่ขาดหลักธรรมาภิบาลมักเข้าข้างพวกเดียวกัน เช่น ฝ่ายแรกไปร้องเรียนกลับนิ่งเฉย ไม่เหลียวแล แต่พออีกฝ่ายที่เป็นพรรคพวกกันร้องเรียนบ้าง กลับรีบดำเนินการ ทั้งที่ควรกลั่นกรองข้อร้องเรียนอย่างเป็นธรรม บังคับใช้กฎอย่างเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

"ผู้บริหารที่มีธรรมาภิบาลจะแก้ปัญหาด้วยการเรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่้ย แต่ผู้บริหารที่ไม่มีธรรมาภิบาลจะโยนให้เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปยุ่ง สุดท้ายปล่อยปะละเลย ให้แก้ปัญหากันเอง เมื่อปัญหาสะสม ถูกกดดัน ถูกบีบให้จนตรอก หลายคนตัดสินใจลาออก ไม่ก็เลือกใช้วิธีศาลเตี้ย"

เปิดขุมทรัพย์"หลักสูตรพิเศษ"

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งจะมี "หลักสูตรพิเศษ" เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งค่าเล่าเรียนจะสูงกว่าหลักสูตรภาคปกติ ตรงนี้เองที่ผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง อันเป็นชนวนเหตุสร้างความขัดแย้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนอยากจะเข้าไปสอนหลักสูตรพิเศษมากกว่าหลักสูตรภาคปกติกันทั้งนั้น

"หลักสูตรภาคปกติแทบไม่มีใครเอา เพราะไม่มีเงินพิเศษ มีแต่เงินเดือนเพียวๆ ตำแหน่งประธานหลักสูตรภาคปกติก็แทบไม่มีใครอยากเป็น เพราะภาระงานเยอะ อาจารย์ส่วนใหญ่ต้องไปทำงานวิจัยเพื่อหาได้รายได้เพิ่ม แม้จะน่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นผลตอบแทนที่แลกมาด้วยความรู้ความสามารถตัวเอง แต่ยากและเหนื่อยกว่ามาก แตกต่างจากเป็นประธาน หรือกรรมการบริหารหลักสูตรภาคพิเศษ จะมีเงินค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือน 7,000-20,000 บาท เป็นค่าตำแหน่งที่นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ ค่าสอนด้วย

ชั่วโมงละ 800-2,500 บาท ค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 800-1,500 บาท บางครั้งจัดประชุมพอเป็นพิธีแค่ 10 นาที จบ แถมประชุมถี่ยิบ ไหนจะค่าสอบ ค่าอ่าน ค่าตรวจวิทยานิพนธ์ 5,000-10,000 บาท ถามว่าถ้าอยู่ภาคพิเศษ จะอยากกลับมาสอนภาคปกติไหม พูดง่ายๆคือลืมเงินเดือนประจำไปเลย

โดยปกติ กรรมการบริหารหลักสูตรพิเศษจะมีวาระแค่ 2 ปี แล้วหมุนเวียนกันไป ทีนี้ถ้าเป็นพวกเดียวกัน เช่น คนนึงเป็นประธาน แล้วพวกตัวเองเป็นกรรมการ อีก 2ปีข้างหน้าตัวเองก็สลับไปเป็นประธาน แล้วเอาพวกพ้องย้ายมาเป็นกรรมการ พูดง่ายๆสลับกันเองในหมู่พวกพ้อง อย่าลืมว่า อาจารย์ไม่ได้มีแค่ 6 คน แต่มีเป็น 20 คน แต่ดันวนกันอยู่แค่ 6 คน ก็เกิดความไม่เป็นธรรม ตรงนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรคิดให้หนัก ต้องเกลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้ที่จะมาดูแลหลักสูตรพิเศษต้องมาด้วยวิธีประชาธิปไตย ไม่ใช่เลือกแต่พวกพ้อง"

\"แย่งชิงผลประโยชน์-เล่นพวกพ้อง-สองมาตรฐาน\" ตีแผ่ด้านมืดวงการอุดมศึกษาไทย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

สาวไส้ระบบ"มาเฟีย"

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกจับตามองว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา นั่นคือ โครงสร้างการบริหาร

รศ.วีรชัย อธิบายว่า ตามหลักทั่วไป โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนโยบาย

"ฝ่ายบริหารก็คือ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ส่วนฝ่ายควบคุมนโยบายคือ สภามหาวิทยาลัย มีหน้าที่ออกกฎระเบียบ นโยบายต่างๆ ทุกนโยบายจะต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย ส่วนฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่บริหารตามนโยบาย ถ้าทั้งสองฝ่ายถ่วงดุลกันได้ก็ดี

ยกตัวอย่างกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่ง 15 คนถูกเลิกจ้างโดยคำสั่งของฝ่ายบริหาร แต่สภามหาวิทยาลัยกลับมติให้จ้างต่อ นี่คือการถ่วงดุลว่า แบบนี้ไม่เหมาะ ให้กลับไปทบทวน แต่ถ้าเมื่อไรสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารเป็นพวกเดียวกัน หรือที่เขาเรียกว่าสภาเกาหลัง คันตรงไหนก็เกาให้กัน ผลัดกันเกา ตรงนี้น่าเป็นห่วง การเล่นพรรคเล่นพวกถือว่าขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง ชี้ชะตาใครก็ได้ แต่งตั้งใครก็ได้ กุมอำนาจอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ต่างจากมาเฟีย"

ท้ายที่สุดเมื่อมหาวิทยาลัยถูกครอบงำด้วยบุคคลกลุ่มเดียว จึงสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ต่างตอบแทน

"ผลประโยชน์ในมหาวิทยาลัยนั้นมหาศาล บางมหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเป็นพันล้าน นอกจากนี้ยังมีงบรายได้ เช่น ค่าเทอม ค่าเช่าที่ บางมหาวิทยาลัยมีเงินรายได้ถึงหมื่นล้าน เงินเกือบหมื่นล้านนี่มันเท่ากับกรมๆหนึ่งเลย บางกรมได้งบประมาณ 500 ล้าน ไม่มีเงินรายได้ แต่ยังโกงกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่มหาวิทยาลัยมีทั้งงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ ผลประโยชน์มันมหาศาลจริงๆ ถ้าฝ่ายบริหารกับฝ่ายนโยบายไม่ใช่พวกเดียวกัน ก็จะถ่วงดุลกัน ตรวจสอบกัน แต่ถ้าเป็นพวกเดียวกันก็จะเกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน สมมติว่า บางคนมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แล้วมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็เอาบริษัทตัวเองมารับเหมาก่อสร้าง หรือผู้บริหารอย่างอธิการบดี รองอธิการบดีบางคนมีญาติพี่น้องเปิดร้านกาแฟ ก็ร้านตัวเองมาเปิดในมหาวิทยาลัย "

ถึงเวลาผ่าตัดใหญ่

ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร.ศ.วีรชัย เรียกร้องให้รัฐบาลใช้ม.44 ผ่าตัดใหญ่เรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยของรัฐ

“ยกตัวอย่างเช่น อธิการบดีต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี เพราะปัจจุบันอธิการบดีบางคนถึงกับมีรถพยาบาลมาสแตนด์บายรอใต้ตึก บางคนแทบจะถือไม้เท้า นั่งรถเข็น เสียบสายน้ำเกลือเสียบมาทำงาน อายุ 70-80 กว่าแต่ยังเป็นอธิการบดี สุขภาพไม่เอื้อแล้ว แต่เข้ามาได้เพราะพวกพ้อง มาเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง

การกำหนดอายุก็เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาเงยหน้าอ้าปากบ้าง ให้เขามีโอกาสเติบโตในสายงาน นี่จะช่วยลดความขัดแย้งได้เยอะ แต่สำหรับนายกสภามหาวิทยาลัยอาจยืดหยุ่นให้สูงอายุได้ เพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์สูง นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งต้องไม่เกิน 2 วาระ เมืองไทยหัวหมอ อยากจะเป็นมากกว่านั้นเพราะต้องการจะรักษาฐานผลประโยชน์ของตัวเอง

ที่สำคัญ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องไม่เพิกเฉย ไม่ใช่มีปัญหาอะไรก็โยนว่าเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ชี้ขาด ควรเกณฑ์กลาง เช่น สกอ.เคยออกกติกาเรื่องธรรมาภิบาล ระบุว่า คนที่มาจะดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นได้ไม่เกิน 3 มหาวิทยาลัย นี่ไม่ใช่กฎ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ แต่บางคนหัวหมอ แหกกฎ อ้างว่าเขาเชิญไปเป็น แย่กว่านั้นคือ คนในกระทรวงศึกษาธิการ หรือสกอ.ก็ดันไปเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยเสียเอง พอมีเรื่องร้องเรียนก็กลายเป็นจุดไต้ตำตอ จะลงโทษใครก็ไม่ได้ เพราะพวกพ้องกันทั้งนั้น"

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องปฏิรูปปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อรื้อระบบอันเน่าเฟะที่ฝังรากหยั่งลึกในวงการอุดมศึกษาไทยให้สิ้นซาก