posttoday

"ไม่สูบบุหรี่-ดับเครื่องยนต์-งดมือถือ" ถึงเวลาเลิกมักง่ายในปั๊มน้ำมัน

31 พฤษภาคม 2559

กรมธุรกิจพลังงาน ประกาศถึงเวลาจัดระเบียบความปลอดภัยในปั๊มน้ำมัน หยุดเติมให้พวกมักง่าย

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ตกเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วประเทศ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้วูบวาบขึ้นที่หัวจ่ายน้ำมัน หลังจากพนักงานหนุ่มรายหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างเติมน้ำมันให้ลูกค้า 

อุบัติเหตุครั้งนั้นนำไปสู่การประกาศให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งเข้มงวดในการเติมน้ำมันแก่ผู้รับบริการ หากพบว่าผู้รับบริการไม่ดับเครื่องยนต์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามสถานีให้บริการเด็ดขาด

วันนี้ลองมาทำความเข้าใจกับภัยใกล้ตัวในปั๊มน้ำมัน

ฝ่าฝืนกฎเหล็กในปั๊มน้ำมัน โทษถึงคุก

กฎกระทรวงของกรมธุรกิจพลังงาน พ.ศ. 2552 ในหมวดป้องกันเกี่ยวกับการห้ามก่อประกายไฟในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดว่า สถานีทุกแห่งต้องมีป้ายแจ้งเตือนให้ดับเครื่องยนต์ ปิดโทรศัพท์มือถือ และห้ามสูบบุหรี่ในขณะรับบริการ แต่กรณีโทรศัพท์มือถือได้มีการอนุโลมว่า ไม่ต้องถึงขั้นปิดเครื่อง แค่ห้ามไม่ให้โทรออกหรือรับสายขณะใช้บริการอยู่ หากฝ่าฝืนสถานีบริการจะมีโทษปรับ 1 แสน หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ

วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งต้องเข้มงวดในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ผู้รับบริการ หากพบว่าผู้รับบริการไม่ดับเครื่องยนต์ หรือยังใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามให้บริการเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้รับบริการและสถานีบริการ

สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา จะมีการบังคับใช้ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติและการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะกำหนดให้ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันและเชื้อเพลิงทุกประเภทที่ได้รับใบอนุญาต ต้องส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมด้านการให้บริการด้วยความปลอดภัยภายใน 2 ปี นับจากวันที่มีผลบังคับใช้ หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะไม่ต่ออายุใบอนุญาต

“สิ่งที่กรมยังเป็นห่วงอยู่คือ การฝึกอบรมพนักงานผู้ปฏิบัติการที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เบื้องต้นอาจต้องเปิดหลักสูตรภาษานานาชาติเพื่ออบรมพนักงานกลุ่มนี้”

ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท 3.84 หมื่นแห่ง แบ่งเป็นสถานีบริการน้ำมัน 1 หมื่นแห่ง สถานีบริการปิโตรเลียมเหลว 1,988 แห่ง สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 488 แห่ง ถังน้ำมัน (รถขนส่งน้ำมัน) 9,465 ถัง ถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (รถขนส่งก๊าซแอลพีจี) 1,988 ถัง ถังก๊าซธรรมชาติ (รถขนส่งก๊าซเอ็นจีวี) 1,356 ถัง และกิจการ อื่นๆ เช่น คลัง สถานที่เก็บน้ำมัน ร้านค้าจำหน่ายก๊าซแอลพีจี 1.34 หมื่นแห่ง และมีผู้ปฏิบัติงานกว่า 1 แสนคน

\"ไม่สูบบุหรี่-ดับเครื่องยนต์-งดมือถือ\" ถึงเวลาเลิกมักง่ายในปั๊มน้ำมัน

งดใช้โทรศัพท์มือถือช่วยลดความเสี่ยง

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายไขความกระจ่างว่า โทรศัพท์และสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้ทำให้เกิดไฟไหม้ แต่สัญญาณของมันเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสถิตมากขึ้น จนกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตราย

“ไฟฟ้าสถิตนั้นมีอยู่รอบตัวเราและถูกเหนี่ยวนำผ่านอากาศ โทรศัพท์มือถือไม่ได้ทำให้เกิดไฟไหม้ แต่สัญญาณโทรศัพท์นั้นเพิ่มโอกาสเหนี่ยวนำให้ตัวเรามีไฟฟ้าสถิตเพิ่มมากขึ้น เมื่อถูกสะสมอยู่ในตัวเราหรือตัวรถมากเข้า มันจะถูกถ่ายเทไปยังวัตถุตรงกันข้าม หากเป็นแขนของเพื่อน การสปาร์กกันไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นหัวจ่ายน้ำมัน การถ่ายเทในเสี้ยววินาทีผ่านจุดวาบไฟของน้ำมันหรือไอน้ำมันที่เป็นตัวไวไฟอยู่แล้ว จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้”

ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีรายนี้ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ปั๊มน้ำมันในต่างประเทศที่อากาศหนาวเย็นนั้นเกิดเพลิงไหม้จากไฟฟ้าสถิตง่ายกว่าเมืองไทย เป็นเพราะการถ่ายเทเหนี่ยวนำปะจุไฟฟ้านั้นทำได้ดีในสภาพอากาศชื้น ทำให้ร่างกายได้รับการสะสมมากขึ้นตามมานั่นเอง โดยสรุปการใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นการเหนี่ยวนำให้พลังงานศักย์ไฟฟ้ามาสะสมกับตัวเรามากขึ้น ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานในรูปแบบไฟฟ้าสถิต  เมื่อถูกสะสมสูงมากจนถึงจุดที่มันต้องถ่ายเท ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ฉะนั้นกฎหมายจึงประกาศไว้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง"

\"ไม่สูบบุหรี่-ดับเครื่องยนต์-งดมือถือ\" ถึงเวลาเลิกมักง่ายในปั๊มน้ำมัน

ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องดับเครื่องขณะเติมน้ำมัน

การดับเครื่องรถยนต์ขณะเติมน้ำมัน เป็นที่ทราบกันดีว่าเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายหลายๆด้าน เนื่องจากรถยนต์มีความร้อนสูง ทั้งจากเครื่องยนต์ ท่อไอเสียหรือไอระเหยโดยรอบ ทั้งยังไม่มีใครทราบว่า อุปกรณ์ภายในรถของแต่ละคนนั้นสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามคำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ การดับเครื่องยนต์อย่างกะทันหันก่อนเติมน้ำมันนั้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ผศ.ณัฐสิทธิ์ พัฒนะอิ่ม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ไขข้อข้องใจว่า การหยุดรถกะทันหันหลังจากทำความเร็วสูงของรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเทอร์โบ จะทำให้อายุการใช้งานของเครื่องยนต์นั้นสั้นลง

“น้ำมันจะถูกหล่อเลี้ยงอยู่ที่แกนของเทอร์โบ หากเราขับรถมาด้วยความเร็ว แล้วดับเครื่องทันที น้ำมันจะหยุดไหล แกนเทอร์โบที่ร้อนจัดจะเผาน้ำมันที่ติดอยู่จนเป็นคาร์บอน เกิดเป็นคราบเหนียวๆ เกาะติดอยู่กับแกน เมื่อถึงเวลาสตาร์ทเครื่องอีกครั้ง คาร์บอนตรงนี้จะไปทำให้แกนสึกหรอ อายุการใช้งานของแกนเทอร์โบเลยสั้นลง”

คำแนะนำคือ เมื่อขับรถมาด้วยความเร็ว ก่อนเติมน้ำมัน ให้จอดทิ้งไว้สัก 5-10 นาที เพื่อให้ความร้อนของรถยนต์ถูกระบาย หรือติดตั้งอุปกรณ์เสริมคอยทำหน้าที่หน่วงเวลา เพื่อให้เครื่องดับเองโดยอัตโนมัติหลังถอดกุญแจไปแล้ว 5-10 นาที

“โดยปกติทุกคนเติมน้ำมันเพียงวันละครั้ง โอกาสขับรถด้วยความเร็วสูงนั้นก็มีน้อยมาก โดยเฉพาะใน กทม. ทำให้โอกาสเกิดปัญหาลักษณะข้างต้นนั้นมีน้อยคัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวเครื่องกลทิ้งท้าย

\"ไม่สูบบุหรี่-ดับเครื่องยนต์-งดมือถือ\" ถึงเวลาเลิกมักง่ายในปั๊มน้ำมัน

วอนลูกค้าปฏิบัติตามกฎ เสียงสะท้อนจากเด็กปั๊ม

คงเคยเห็นกันแล้วว่า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศติดป้ายห้ามอย่างชัดเจนไว้ว่า "ห้ามสูบบุหรี่ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ก่อประกายไฟ และไม่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้"

วรวุฒิ ประเสิรฐศักดิ์ ผู้จัดการเขตส่วนปฎิบัติการน้ำมัน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด อธิบายว่า ตามกฎระเบียบของสถานีให้บริการเชื้อเพลิง เมื่อรถยนต์เข้ามาที่ปั๊ม พนักงานจะนำป้ายระบุสิ่งที่ต้องปฎิบัติวางไว้หน้ากระโปรงรถยนต์ ก่อนจะดำเนินการเติมน้ำมันให้ อย่างไรก็ตามพบว่าลูกค้ามากกว่า 50 % ไม่ปฎิบัติตามกฎครบทุกข้อ โดยเฉพาะการดับเครื่องรถยนต์และหยุดใช้โทรศัพท์มือถือ

“เด็กปั๊มทุกคนผ่านการอบรมและรับทราบกฎระเบียบกันดี ถึงเวลาปฎิบัติหน้าที่จริงก็จะหยิบป้ายข้อห้ามมาวางหน้ารถเลย แต่ต้องยอมรับว่าหลายครั้งเวลาเจอรถยนต์หรู ผู้ใหญ่หน้าตาท่าทางดุดันไม่ปฎิบัติตามกฎ พอแนะนำ บางคนก็นิ่ง คิดว่า คุณมีหน้าที่เติมก็เติมไปสิ ฉันจะเล่นโทรศัพท์ หลายคนก็อ้างสารพัด ไม่ดับเครื่องเพราะอากาศร้อนบ้าง คุยธุระสำคัญ มีลูกเล็กนอนหลับอยู่ข้างหลังบ้าง”

วรวุฒิมองว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐควรลงพื้นที่สุ่มตรวจตามสถานีให้บริการเชื้อเพลิง หากพบว่าเมื่อพนักงานได้ขอความร่วมมือกับลูกค้าแล้วยังถูกปฎิเสธ ก็จัดการเข้าพูดคุยทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับทุกคน ย้ำเตือนว่ามีโทษทางกฎหมายจริง ไม่ใช่แค่คำพูดหรือตัวอักษรในกระดาษเท่านั้น

ธัญชนก พนักงานปั๊มน้ำมันย่านบางคูวัด ปทุมธานี เล่าว่า เจอลูกค้าไม่ดับเครื่องและนั่งเล่นโทรศัพท์ระหว่างรอเติมน้ำมันเป็นประจำ

“ใครไม่ดับเครื่องหรือใช้โทรศัพท์ เราก็ได้แค่แนะนำ ขอความร่วมมือ บางคนก็ทำตาม บางคนไม่สนใจ ส่วนพวกสูบบุหรี่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะทุกคนรู้ว่า บุหรี่มันมีไฟชัดเจน ใครเผลอยืนสูบ เราก็จะไล่ให้ออกไปสูบนอกปั๊มทันที”

พนักงานสาวรายนี้เห็นว่า ถึงเวลาที่ลูกค้าจะปฎิบัติตามกฎระเบียบอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องรอให้พนักงานคอยตักเตือน

“เราเห็นคลิปวิดีโอตัวอย่างที่เกิดขึ้น เพราะความประมาทและไม่ปฎิบัติตามกฎ  ก็กังวัลนะ เพราะไม่รู้ว่ารถยนต์แต่ละคันที่ไม่ดับเครื่องจะมีสภาพสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน เกิดมีประกายไฟไปติดกับสายไฟแล้วไฟไหม้ คงได้สูญเสียกันหนักแน่”

การเติมเชื้อเพลิงเป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการต้องช่วยกันลดความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคงไม่คุ้มกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น