"มีชัย" ชี้ศาลถกมาตรา61 ไม่กระทบประชามติ
ประธานกรธ.เผยผู้ตรวจส่งศาลตีความมาตรา61ของพรบ.ประชามติ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ
ประธานกรธ.เผยผู้ตรวจส่งศาลตีความมาตรา61ของพรบ.ประชามติ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ
ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ว่า อย่ากังวล ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะต้องการเลื่อนการทำประชามติออกไปจากเดิมวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่นั้น ขณะนี้ กกต. ยังต้องจัดให้มีการทำประชามติภายใน 120 วันตามรัฐธรรม(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดไว้ ซึ่งวันที่ 7 ส.ค.ก็ก่อนกำหนดเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นถ้าหากจะมีการเลื่อนการทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557
“หากไม่มี มาตรา 61 วรรคสอง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม แต่กระบวนการก่อนทำประชามติ อาจเกิดปัญหาในเรื่องการบิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จได้ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายไปเอาผิดคนเหล่านั้น” นายมีชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จก่อนวันที่ 7 ส.ค. หรือไม่ นายมีชัย กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงรู้ว่าจะต้องใช้ภายในเท่าไร เราต้องวางใจศาล ใครจะไปกะเกณฑ์ก็ไม่ได้ หากศาลมีคำวินิจฉัยอย่างไรเราก็เอามาพิจารณาเหตุผลแล้วค่อยคิดว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้ตนไม่เห็นเหตุผลของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งเรื่องกรณี มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเขาพูดถึงทั้งหมดหรือเอาเฉพาะบางคำในวรรคสองที่ไม่ชัดเจน ซึ่งต้องรอดู หากเป็นคำว่า “หยาบคาย ก้าวร้าว หรือ บิดเบือน” หากแปลคำเหล่านี้ไม่ออกคงต้องเปิดพจนานุกรมกันแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้กฎหมายประชามติยังคงบังคับใช้เพราะยังไม่ถูกบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 61 วรรคสอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ก็จะไม่มีผลสำหรับผู้ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินก็จะพ้นผิด เพราะมาตราดังกล่าวนี้ใช้ไม่ได้แล้ว แต่เท่าที่ดูจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครถูกศาลลงโทษจากการทำผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง
นายมีชัย กล่าวถึงการลงพื้นที่เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในการอบรมเผยแพร่สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญแก่วิทยากรระดับอำเภอ (ครู ข.) ที่ จ.อ่างทอง เมื่อวันที่1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่พบปัญหา และคำถามแปลกๆ แต่ยอมรับว่ายากที่จะให้ ครู ข. อธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ละเอียด ดังนั้นเวลาที่ กรธ. หรือเจ้าหน้าที่ของ กรธ.ลงพื้นที่ทั่วประเทศ หากเห็น ครู ข. ติดขัดตรงไหนก็จะช่วยอธิบาย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ เป็นคำถามเกี่ยวกับวิธีการมากกว่า เช่น สงสัยว่าเรื่องไหนบ้างที่ควรนำไปพูด และจะพูดอย่างไร ซึ่งกรธ.ต้องย้ำว่าอย่าไปบอกให้ประชาชน “รับ”หรือ “ไม่รับ” ต้องให้ประชาชนคิดเอง