70ปีแห่งการครองราชย์ "พระราชา" ศรีสง่าแห่งแคว้น
70 ปี แห่งการครองราชย์ ทรงบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทย สุดที่จะคณานับ
โดย...สมาน สุดโต
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะสุโกศล (The Sukosol) กรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรม และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรีเล่าให้ที่ประชุมฟังในประเด็นต่างๆ ที่ชาวโลกชาวไทยถวายพระพรและสดุดี ตลอดเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์และเมื่องานฉลอง 60 ปีการครองราชสมบัติ 10 ปีที่แล้ว ที่พระราชามหากษัตริย์ทั่วโลก 25 ประเทศ ได้ถวายพระพร ส่วนในสายตาของนักข่าวเมื่อเสด็จยุโรป และสหรัฐอเมริกาเมื่อ 50 ปีที่แล้วก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เสนอข่าวด้วยความอัศจรรย์ใจในพระราชปรีชาญาณ และที่ประชาชนชาวไทยเทิดทูนไว้เหนือเกล้า เหนือกระหม่อมตลอดกาลเป็นนิจนิรันดร์
9 มิ.ย. 2489
ดร.วิษณุ ซึ่งเป็นนักเล่าเรื่องชั้นนำของไทย ได้เล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพฤฒสภาประชุมในเวลา 21 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระอนุชาขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระเชษฐาที่สวรรคตในช่วงเช้าวันที่ 9 มิ.ย. 2489
ดร.วิษณุ เล่าเรื่องแม่พลอยในนิยายอมตะสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ที่ประชุมฟัง เพื่อให้เห็นภาพเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเช้าวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ว่ามีผู้มาบอกแม่พลอยเรื่องพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต แม่พลอยที่อยู่มา 4 แผ่นดินได้ฟังก็เป็นลม พอได้สติได้ไปกราบพระฉายาลักษณ์ และหวนนึกถึงอดีต พร้อมทั้งนึกคิดว่าจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร อายุก็มาก คุณเปรม สามีก็ตายไปแล้ว อยู่คนเดียวจึงรู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน จากนั้นล้มตัวนอน หลับตา เป็นการหลับไม่ตื่น แม่พลอยสิ้นลมในวันที่ 9 มิ.ย. จึงเป็นนิยายสี่แผ่นดิน อันอมตะ
ส่วนราชาศัพท์เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในตอนแรก ยังไม่สามารถใช้คำว่า บรม นำหน้าได้ จนกระทั่งได้รับพระบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2493 จึงใช้ได้ โดยทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
70 ปี นานที่สุดในโลก
ดร.วิษณุ กล่าวว่า ไทยเราไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดครองราชย์ยาวนานมาก่อน ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ยาวนานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อดูพระมหากษัตริย์ทั่วโลก พระเจ้าอยู่หัวของเราทรงครองราชย์นานที่สุดในโลก นับถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 70 ปี ในขณะที่ควีนอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร ทรงครองราชย์นานเป็นที่ 2 ด้วยเวลา 64 ปี ส่วนอันดับที่ 3 ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์ ทรงเป็นพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ครองราชย์ 48 ปี
หากเทียบกับโบราณกาลมีเพียงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่ทรงครองราชย์นาน 72 ปี แต่เพราะเริ่มครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์นั้นตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
ดร.วิษณุ ว่า 70 ปี แห่งการครองราชย์ ทรงบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทย สุดที่จะคณานับ คำพูดที่ครอบคลุมพระราชกรณียกิจทั้งหมดนั้นมีรวมในคำถวายพระพรของพระเถระว่า สมเด็จพระบรมราชบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
คำถวายพระพรเมื่อฉลอง 60 ปี
ส่วนพระราชามหากษัตริย์ ที่ตรัสถวายพระราชสดุดี ที่ครองราชย์ยาวนาน ดร.วิษณุ ยกให้พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัลโบลเกียห์ ที่ตรัสในนามพระมหากษัตริย์ 25 ประเทศ ที่เสด็จมาร่วมฉลองการครองราชย์ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่อ่านเมื่อไรก็ประทับใจเมื่อนั้น ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพราะไพเราะ
สรุปเนื้อความว่า การที่ใต้ฝ่าพระบาททรงอยู่ในราชสมบัตินานที่สุดเป็นประวัติศาสตร์โลก จะเป็น Record ที่บันทึกตลอดกาล แต่พวกเราที่มาร่วมงาน มิใช่เพราะ Record เนื่องจากตัวเลขก็คือตัวเลข แต่ที่พวกเราสนใจคือ Substance หรือเนื้อหาสาระ ว่าทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอะไรตลอดเวลานั้น เมื่อพวกเราดูลงลึกก็พบทั้งความทุกข์ ความสุข ความสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ทรงฟันฝ่ามาได้ ด้วยเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ Dignity (พระบรมเดชานุภาพ) Wisdom (พระปรีชาญาณ) และCourage (ความกล้าหาญ)
ดร.วิษณุ กล่าวว่า พระราชดำรัสประโยคท้ายๆ มีความจับใจมาก ที่คนไทยให้พระราชสมัญญานามว่ามหาราช หรือ The Great นั้น แต่พระมหากษัตริย์ทั้ง 25 ประเทศ พร้อมใจถวายพระราชสมัญญานามว่า ทรงเป็นมิตรที่เราทั้งหลายให้ความเคารพอย่างสูงสุด The Most Respected Colleague
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พ.ค. 2493
พระราชกรณียกิจที่อยู่ในใจ
หากสรุปสำหรับคนไทยว่า 70 ปี ความเด่นอยู่ตรงไหน ดร.วิษณุ พูดจากใจว่า
1.พระราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Dignity โดย ดร.วิษณุ เล่าเหตุการณ์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จต่างประเทศว่า นักข่าวหนังสือพิมพ์ประเทศต่างๆ ไม่รู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน เจริญหรือไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสหรัฐอเมริกา และยุโรป หนังสือพิมพ์รายงานอย่างตื่นเต้นว่า พระเจ้าอยู่หัวของไทยตรัสภาษาอังกฤษได้
เมื่อเสด็จเยอรมัน ตรัสภาษาเยอรมัน เสด็จฝรั่งเศส ตรัสภาษาฝรั่งเศส ในที่ประชุมแถลงข่าว นักข่าวขอสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส พระองค์ทรงตรัสตอบทุกภาษาในเวลาเดียวกัน ทำเอานักข่าวทั้งมวลตะลึง และอัศจรรย์ไปตามๆ กัน พร้อมทั้งเล่าประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ได้เข้าเฝ้าพร้อมกับนายกรัฐมนตรีไทย ที่นำประธานาธิบดีประเทศหนึ่งเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานาธิบดีท่านนั้นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสกับผู้นำประเทศนั้น ด้วยภาษาเยอรมัน และฝรั่งเศส ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแปลให้นายกรัฐมนตรีไทยฟังด้วย นายกรัฐมนตรีไทยว่ามีประเด็นน่าสนใจ พระองค์ก็ทรงถ่ายทอดให้ประธานาธิบดีฟัง เสร็จพระองค์ตรัสกับนายกรัฐมนตรีไทยว่า "พาเขามาเฝ้า หรือให้ฉันเป็นล่าม"
2.ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่ไพศาลอย่างไม่น่าเชื่อ ดร.วิษณุว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ปัญหาให้ประชาชนทุกอย่างตั้งแต่เรื่องน้ำ เรื่องจราจร ตลอดถึงการศึกษา และสาธารณสุข จึงเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประทับโดยไม่ถือพระองค์ เสด็จถิ่นทุรกันดารพระเสโทไหลย้อย และเสด็จลุยในที่ดินโคลนจนฉลองพระบาทเต็มไปด้วยดินโคลน เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ประชาชนคนไทยคุ้นเคยยิ่ง ขนาดที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขชาวไทยขนาดนี้ ก็ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่เข้าใจและบิดเบือน ดร.วิษณุ จึงถามคนบิดเบือนด้วยเสียงดุๆ ว่าใจทำด้วยอะไร
3.ทรงเป็นต้นแบบคุณธรรม โดย ดร.วิษณุว่า เคยรับซองสีน้ำตาลใช้แล้วนับร้อยซองที่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังส่งมาว่าเป็นของพระราชทาน ทั้งนี้เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งเอกสารเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จะบรรจงใส่ซองสีน้ำตาลพร้อมทั้งพิมพ์หมายเลขออกหนังสือกำกับทุกซอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไม่ต้องพิมพ์หมายเลขออกหนังสือที่ซองใช้ดินสอเขียนก็ได้ พระองค์จะลบตัวเลขแล้วส่งซองกลับคืนให้ใช้ใหม่
อีกครั้งหนึ่งมีคณะรัฐมนตรีใหม่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่ติดวันเสาร์-อาทิตย์ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสผ่านราชเลขาธิการลงมาว่าจะเข้าถวายสัตย์วันไหน ดร.วิษณุกราบบังคมทูลผ่านราชเลขาธิการว่าวันจันทร์ แต่ราชเลขาธิการว่าถ้าพร้อมให้เข้าเฝ้าฯ ได้เลย จึงเชิญ ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์วันอาทิตย์
เมื่อเข้าเฝ้าฯ จึงตรัสกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า ในหลวงไม่มีวันหยุดราชการ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำพระราชดำรัสมาถ่ายทอดให้ข้าราชการต่างๆ ได้ฟังกัน
ครั้งหนึ่ง ดร.วิษณุ เข้าเฝ้าฯ พร้อม นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ใหม่สด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า หนักใจไหมเวลาทำงาน นายบรรหาร กราบบังคมทูลว่าหนักใจเพราะไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน
พระองค์จึงตรัสว่าไม่ต้องหนักใจ เพราะพระองค์ก็ไม่เคยเป็นในหลวงมาก่อน พระองค์มีพระเมตตาตรัสว่าเมื่อไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำเมืองสุพรรณให้เจริญได้อย่างไร เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ทุกจังหวัดให้เจริญเหมือนเมืองสุพรรณ พร้อมกันนั้น ทรงหยิบแผนที่แล้วทรงชี้ไปจุดหนึ่งตรัสถามนายบรรหารว่าอยู่ที่ไหน นายบรรหารกราบบังคมทูลว่า ไม่ทราบ พระองค์จึงเฉลยว่าอยู่หลังบ้านนายบรรหาร พร้อมทั้งทรงแนะนำให้ไปดูจะได้แก้ปัญหาการจราจรได้ส่วนหนึ่ง นายบรรหารสารภาพว่าไม่เคยไปตรงนั้น หลังจากนั้นจึงไปดูและสั่งแก้ไขตามพระราชดำริทุกประการ
4.ทรงเป็นรอยต่อให้โบราณราชประเพณี และทันสมัยอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ไม่เคยละทิ้งประเพณีเดิม พราหมณ์ ทำอะไรมาแต่ก่อนก็ให้ทำไป แต่พระองค์ให้นำพระสงฆ์ เข้าทำพิธีด้วย พราหมณ์ทั้งหลายจึงต้องรับศีลก่อนทำพิธี เมื่อพระสงฆ์เสร็จศาสนพิธีกลับวัด พราหมณ์ ก็ทำต่อจนจบ
กษัตริย์จิกมี แห่งภูฏาน เคยตรัสถึงความประทับใจ ที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวว่า ทรงเป็นต้นแบบแห่งพระมหากษัตริย์ ทรงสามารถนำโบราณมากลมกลืนกับโลกสมัยใหม่ได้
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงหนังสือธรรม และศาสนาเสมอ เมื่อมีใครอ้างว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ พระองค์ทรงระบุชื่อเลย ว่าเรื่องนี้ ท่านปยุตฺโต (พระพรหมคุณาภรณ์) เคยเขียนแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้เพราะพระองค์จะทรงเอ่ยฉายาพระสงฆ์ มากกว่าสมณศักดิ์ เพราะสมณศักดิ์เปลี่ยนบ่อย
สุดท้าย ดร.วิษณุ ประมวลพระราชกรณียกิจ 70 ปีแห่งการครองราชย์ที่นานที่สุดในโลก พอสรุปได้ใน 4 ประเด็น 1.เป็นพระราชาศรีสง่าแห่งแคว้น 2.ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน 3.ทรงเป็นต้นแบบคุณธรรม 4.ทรงเป็นรอยต่อโบราณกับโลกสมัยใหม่ ทันสมัยในยุคโลกาภิวัตน์
หมายเหตุภาพประกอบหลักด้านบนสุด : พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายตั้งแต่ต้นรัชกาล เมื่อประมาณปีพุทธศักราช 2489 จากหนังสือวชิราวุธานุสรณ์สาร ตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2549