'โรงแรมลอยน้ำ'สร้างสรรค์โอกาสที่สอง
หลังอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต ความกังวลและความกลัวต่อความผันผวนในตลาดทุน
โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์
หลังอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต ความกังวลและความกลัวต่อความผันผวนในตลาดทุนและความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานที่ทำอยู่ก็แพร่กระจายไปทั่วสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวอังกฤษแล้วยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อโรงแรมลอยน้ำ “กู้ดโฮเต็ล” กำลังจะล่องเรือมาสร้างโอกาสงานจากอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ผ่านทะเลเหนือเพื่อมาจอดที่ชายฝั่งกรุงลอนดอนในเดือน ก.ย.นี้
โรงแรมดังกล่าวสร้างอยู่บนแพขนาดใหญ่ขนาด 144 ห้อง และเป็นเหมือนกับโรงแรมทั่วไปที่มีการให้บริการที่พักหรูหราบนแม่น้ำเช่นสถานที่อื่นๆ พร้อมด้วยสวนดาดฟ้าที่ให้แขกผู้มีเกียรติได้ดื่มด่ำไปกับร้านอาหารและคาเฟ่ รวมถึงยังมีห้องนั่งเล่นที่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มระดับกรูเมต์ เช่นเดียวกับห้องประชุมและห้องทำงานร่วม
แต่ความพิเศษไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่เป็นโรงแรมระดับหรูหราอย่างเดียวเท่านั้น โรงแรมดังกล่าวยังมีโครงการฝึกฝนสำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาต่างๆ จนไม่สามารถหางานได้ เช่น ผู้ตกงานจากภาวะเศรษฐกิจ หญิงสาวที่พลาดตั้งครรภ์จนต้องออกจากงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งผู้มีประวัติอาชญากรรม
“พวกเขาเหล่านั้นล้วนต้องการโอกาสที่สอง” โจส เดอ กรูท ผู้อำนวยการดำเนินการ กู้ด โฮสพิทาลิตี กรุ๊ป กลุ่มไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งโรงแรมกู้ดโฮเต็ล กล่าว
ดังนั้น ในขณะที่อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม 1 ใน 3 ของพนักงานในโรงแรมดังกล่าวจึงเป็นผู้มี “เบื้องหลัง” โดยโครงการฝึกฝนในอัมสเตอร์ดัมก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก และสามารถตั้งโรงแรมถาวรด้วยการปรับปรุงโกดังเก่าเสียใหม่ แม้โรงแรมจะย้ายจากอัมสเตอร์ดัมมาอยู่ที่กรุงลอนดอนเป็นระยะเวลา 5 ปี
กู้ด โฮสพิทาลิตี กรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ด้วยน้ำพักน้ำแรงของมาเต็น เดรเซน ผู้ประกอบการชาวเนเธอร์แลนด์วัย 33 ปี โดยผู้ก่อตั้งคนดังกล่าวจบการศึกษาด้านกฎหมาย และทำงานในบริษัทน้ำมันและก๊าซ ก่อนผันตัวมาก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรขึ้นในกัวเตมาลา ที่ซึ่งเดรเซนได้รับรู้ถึงความยากจนที่แท้จริง และตระหนักได้ว่า การลงทุนทางการศึกษาจะสูญเปล่าไปทันที หากเด็กเหล่านั้นปราศจากงานทำหลังจบการศึกษา
เดรเซน ระบุว่า โรงแรมในกรุงลอนดอนและอัมสเตอร์ดัมเป็นเพียงโครงการเริ่มต้นเท่านั้น และตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดโรงแรมทั้งหมดอีก 8 แห่งทั่วโลก ภายในปี 2020 รวมถึงที่เมืองแอนติกัว ในกัวเตมาลา ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง ในเดือน ก.ค.นี้ด้วย
“คนในกิจการโรงแรมต่างหาว่าผมบ้า และพูดว่าไม่มีทางที่โรงแรมจะทำกำไรได้ในปีแรก หรือปีที่สอง หรือปีที่สาม พวกเราทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก เพราะฉะนั้นผมจึงค่อนข้างดีใจมาก” เดรเซน กล่าว
นอกจากการจ้างงานผู้ที่กำลังประสบปัญหาแล้ว กู้ด โฮเต็ล ในอัมสเตอร์ดัมยังใช้วัตถุดิบอุปกรณ์จากท้องถิ่นอีกด้วย เช่น เบียร์ หรือคุกกี้ที่อบโดยฝีมือของกิจการเพื่อสังคมอื่นๆ ซึ่งช่วยหารายได้และสวัสดิการให้แก่ผู้ขาดแคลน
ในขณะที่ผู้มีเบื้องหลังเหล่านั้น ก็ได้รับการกระตุ้นให้เข้าหาแขก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และเป็นการเผยแพร่ “มาตรฐาน” การใช้ชีวิตของพนักงานเหล่านั้นให้แก่แขกที่มาพัก เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแขก แม้โรงแรมอื่นๆ จะพยายามปิดบังเบื้องหลังของพนักงานก็ตาม
ผู้ประกอบการวัย 33 ปี ระบุว่า ต้องการให้รูปแบบโรงแรมกู้ดโฮเต็ล เป็นต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการในอนาคต
“หลายคนบอกกับคนอื่นว่า ‘ดีนะ ที่คุณสามารถทำความดีเพื่ออะไรได้ แต่ทำในเวลาว่างเถอะ หรือบริจาคเงินตอนที่คุณเกษียณก็ได้’ แต่นั่นก็ตกยุคไปแล้ว ผมคิดว่า คนหนุ่มสาวยุคของผมไม่จำเป็นต้องรอ พวกเราอยากทำสิ่งที่ดีเลย” เดรเซน กล่าว